เจาะใจ ธีรภัทร อุ่นใจ “ทุเรียนต้นคู่” ผลผลิตเพิ่ม 30%...จริงหรือ?
เจาะใจ ธีรภัทร อุ่นใจ “ทุเรียนต้นคู่” ผลผลิตเพิ่ม 30%...จริงหรือ?

ข่าว ทุเรียนต้นคู่ /เกษตรก้าวไกล—ปี 2561 ทุเรียนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ ข่าวว่ามีการเพิ่มพื้นที่ปลูกกันทั่วประเทศ แต่จังหวัดที่เป็นแชมป์ปลูกเยอะที่สุดก็ยังเป็นจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูกจำนวน 203,170 ไร่ (ข้อมูลปี 2559-สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ) และที่จังหวัดแห่งนี้ละที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มาประกาศให้เป็นมหานครแห่งผลไม้เมืองร้อน ซึ่งแน่นอนว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะมีเกษตรกรเก่งๆที่จัดการเกษตรได้ดีหลายคน หนึ่งในนั้นก็ต้องยกให้ “ธีรภัทร อุ่นใจ” เกษตรกรนอกถิ่นจากเชียงให้แต่มาได้ดิบได้ดีในถิ่นทุเรียน…เจ้าของรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2561 สาขาอาชีพทำสวน เรียกว่าสดๆร้อนๆ ถูกที่ถูกทางกับที่ทุเรียนกำลังบูมสุดๆ เพราะว่าคุณธีรภัทร มีชื่อเสียงโด่งดังกับทุเรียนต้นคู่ ความสนใจทั้งหลายทั้งมวลจึงพุ่งไปที่สวนทุเรียนของเขา …“เกษตรก้าวไกล” ได้พบกันแบบโชคช่วย เมื่อ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้มาลงพื้นที่จันทบุรีเพื่อจัดกิจกรรมกระชับสัมพันธ์ครูบัญชีอาสา และคุณธีรภัทร ได้มาต้อนรับ พร้อมโชว์ตัวและเปิดใจในงานดังกล่าวด้วย เพราะสืบสาวราวเรื่องเบื้องหลังความสำเร็จอยู่ที่การทำบัญชีฟาร์ม…

คุณธีรภัทร อุ่นใจ
คุณธีรภัทร อุ่นใจ

“ผมมายืนอยู่ตรงนี้ได้ เกิดได้ ก็เพราะการทำบัญชีฟาร์ม” คุณธีรภัทร กล่าวเปิดใจต่อหน้า คุณโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รวมทั้งเกษตรกรในเครือข่ายครูทองใส สมศรี ครูบัญชีอาสาที่วันนี้นำสมาชิกมาร่วมงานประมาณ 100 คน

คุณธีรภัทร เปิดใจต่อว่า “เมื่อปี 2537 มีหนี้สิน 2,400,000 บาท จึงช่วยกันคิดวางแผนดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ตั้งเป้าหมายใช้หนี้สินให้หมด ประกอบกับเงาะและทุเรียนชะนี ขายไม่ได้ราคา จึงตัดสินใจปลูกทุเรียนหมอนทองที่ราคาดีกว่า พร้อมกับจดบัญชีอย่างละเอียดเพื่อตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นจนสามารถปลดหนี้ได้ในเวลาต่อมา และได้รับรางวัลครูบัญชีดีเด่น รวมทั้งเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม เมื่อปี 2555”

สวนทุเรียน คุณธีรภัทร อุ่นใจ
สวนทุเรียน คุณธีรภัทร อุ่นใจ

สวนทุเรียนของคุณธีรภัทร ตั้งอยู่ที่ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง จุดเริ่มต้นความสำเร็จในการปลูกทุเรียนมาจากความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน ใช้หลักการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูก โดยการวางผังปลูก ที่คำนึงถึงทิศทางแสงแดด ทิศทางลม ความลาดชัน พื้นที่ลุ่มต่ำ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เช่น การใช้เครื่องตัดหญ้าแบบนั่งตัดแทนการใช้สารกำจัดวัชพืช การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรครากเน่าโรคเน่า โดยราดทางดินและฉีดพ่นทุก 3 เดือน การปลูกทุเรียนตามแนวลาดเอียง ขุดร่องเพื่อระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า

ทุเรียนต้นคู่
ทุเรียนต้นคู่

จุดเด่นของสวน คือการปลูกทุเรียนต้นคู่ คือ ปลูก 2 ต้น ต่อหลุม โดยได้ปลูกทุเรียนต้นคู่และเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ประมาณ 2-3 ปี ในพื้นที่ประมาณ 22 ไร่

เกี่ยวกับที่มาของทุเรียนต้นคู่ มาจากแนวคิด “ปลูกเผื่อตาย” เนื่องจากทุเรียนอ่อนแอต่อโรค และสิ่งสำคัญเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนมีลมแรงและไม้กันลมไม่สามารถต้านทานแรงลมได้เพียงพอ อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง แรงลมมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผลที่ได้มานอกจากลดความเสียหายจากแรงลมแล้ว ปริมาณผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 30 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกับการปลูกแบบต้นเดียว ซึ่งต้นทุนจะสูงขึ้นจากค่าต้นพันธุ์ทุเรียนเป็นหลัก

การจัดการแปลงปลูกสวยงาม
การจัดการแปลงปลูกสวยงาม

ในเรื่องของการปลูกทุเรียนต้นคู่หลายคนอาจกังวลว่าจะทำให้ต้นทุเรียนแย่งอาหารกันหรือไม่และส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตหรือไม่ เรื่องนี้คุณธีรภัทรบอกว่า ไม่มีผลแต่อย่างใด ระบบรากในการดูดหาอาหารรากใครรากมัน จากที่ได้ผลผลิตมาแล้วระยะหนึ่งลูกสมบูรณ์ต้นไม่โทรม

กำลังออกลูกออกผล
กำลังออกลูกออกผล

ในการปลูกทุเรียนต้นคู่ จะมีหลักการปฏิบัติและการจัดการ ดังนี้

  1. การเตรียมดินหรือหลุมปลูก เป็นการปลูกทุเรียนแบบยกโคก โดยการยกโคกหลุมปลูกให้สูงจากพื้นดินปกติ ประมาณ 1.20 เซนติเมตร ความกว้างของหลุมปลูก ประมาณ 4-6 เมตร ซึ่งสวนทุเรียนยุคใหม่จะต้องปลูกทุเรียนแบบยกโคกเพื่อลดปัญหาการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน และเอื้อต่อการจัดการออกดอกติดผลและดูแลรักษา
  2. การปลูก ใช้ระยะปลูก 12×12 เมตร ใน 1 หลุม ปลูก 2 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 1 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ทุเรียนประมาณ 32 ต้น (16ต้น คูณ 2=32 ต้น) (กรณีปลูกต้นเดี่ยว 1 ไร่ ได้ 20-25 ต้น) การวางแนวปลูกให้วางแนวทิศตะวันออกและตะวันตก (ตามตะวัน)
  3. การดูแลรักษา มีหลักการจัดการ ดังนี้

หลังเก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ให้แสงแดดส่องถึงใต้ต้นทุเรียน และตัดกิ่งที่ห้อยชี้ลงดินทิ้งในรอบฤดูกาลให้ทุเรียนแตกใบอ่อนอย่างน้อย 2-3 ชุด พร้อมให้อาหารทางใบเสริมเพื่อสะสมอาหารใบอ่อนชุดที่ 3 ระยะเพสลาด ใช้สารแพคโคลบิวทราโซล 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกระตุ้นการออกดอกให้สม่ำเสมอ อัตรา 1,000 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร

การให้น้ำ เน้นให้ถูกต้องตามระยะการพัฒนาของทุเรียน ข้อควรระวังระยะแทงตาดอก ควรให้น้ำภายในทรงพุ่ม ถ้าให้รอบปลายทรงพุ่ม ดอกจะเปลี่ยนเป็นใบอ่อนแทน ระยะดอกบานควรให้น้ำน้อยลง เพื่อป้องกันการแตกใบอ่อน

การบำรุงต้น/ดอก/ผล ใส่ปุ๋ย ประมาณเดือนครึ่ง/ครั้ง โดยใส่ควบคู่และสลับกันไป ระหว่างปุ๋ยทางดิน ทางใบ และธาตุอาหารเสริมให้เพียงพอ

การจัดการวัชพืชในสวนทุเรียน ทุเรียนอ่อนแอต่อสารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะมีระบบรากตื้น จึงเน้นปล่อยให้หญ้าคลุมแปลงทุเรียน โดยเน้นที่ : หน้าแล้งปล่อยให้หญ้ารก หน้าฝนให้หญ้าเตียน

ใช้รถตัดหญ้า
ใช้รถตัดหญ้า
  1. ผลตอบแทนและรายได้ ต้นทุน เฉลี่ย 10-11 บาท ต่อกิโลกรัม หรือ 18,000-20,000 บาท ต่อไร่ (ไม่รวมค่ายกโคก และค่ากิ่งพันธุ์) ผลผลิต เฉลี่ย 1,800-2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ รายได้ ประมาณ 63,000-67,500 บาท ต่อไร่ (ราคาขาย เฉลี่ย 45 บาท ต่อกิโลกรัม/เป็นราคาเมื่อปี 2560)

การจัดการสวนทุเรียนให้ประสบความสำเร็จมีหลักคิด 3 ประการ คือ

  1. ต้องมีความตั้งใจ ใส่ใจอย่างจริงจัง
  2. ต้องจดบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพ ดูว่าขาดทุนกำไรอยู่ตรงไหน มีรายจ่ายในเรื่องอะไรบ้าง หลังขายผลผลิตแล้วเราจะต้องมาดูต้นทุน ต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง จะต้องใช้บัญชีเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ
  3. ปัจจัยที่สำคัญจะต้องคำนึงถึง นอกจากต้นทุนแล้ว จะต้ององค์ความรู้ในการจัดการ เพราะทุเรียนอ่อนแอต่อโรค สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ ปัจจัยหลักคือแหล่งน้ำจำเป็นมาก ทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการน้ำ ถ้าไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติก็ต้องขุดสระประจำสวน หน้าแล้งต้องดูเรื่องน้ำ ส่วนหน้าฝนจะต้องดูเรื่องโรค

(เคล็ดลับความการจัดการสวนทุเรียนให้ประสบความสำเร็จ/รายละเอียดเพิ่มเติมดูในคลิปที่นำมาประกอบบทความนี้)

ศึกษาดูงาน
ศึกษาดูงาน

ปัจจุบันคุณธีรภัทร ได้มีการขยายผลความสำเร็จไปสู่เพื่อนร่วมอาชีพ เช่น เป็นวิทยากรด้านการจัดการศัตรูพืชชุมชน เป็นวิทยากรด้านบัญชีครัวเรือน เป็นวิทยากรเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิทยากรเรื่อง การผลิตไม้ผลคุณภาพ เป็นวิทยากรเรื่อง กองทุนหมู่บ้าน เป็นวิทยากรเรื่อง การผลิตเชื้อไตรโครเดอร์มาเพื่อควบคุมโรคพืช และแน่นอนว่าที่สวนคุณธีรภัทร เป็นแหล่งศึกษาดูงานการผลิตทุเรียนคุณภาพให้แก่คณะนักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจอีกด้วย

ผลผลิตของสวน คุณธีรภัทร อุ่นใจ
ผลผลิตของสวน คุณธีรภัทร อุ่นใจ

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธีรภัทร อุ่นใจ “บ้านสวนอุ่นใจ” เลขที่ 3/6 หมู่ที่ 8 ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี โทร. (039) 468-422 หรือ (098) 068-1971 ยินดีแบ่งปันความรู้เพื่อพัฒนาอาชีพการเกษตรให้ยั่งยืน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated