เกษตรไทยมีเฮ มกอช.เตรียมยกร่าง “มาตรฐานฟาร์มสาหร่ายทะเล” หวังยกระดับคุณภาพสาหร่ายไทยได้มาตรฐานพร้อมดันเป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญ วางเป้าส่งออกจีน ญี่ปุ่น เยอรมันและฮ่องกง เผยล่าสุดส่งออกประมาณปีละ 20 – 200 ตันมูลค่า 10 ล้านบาท ชี้สรรพคุณให้พลังงานต่ํา อุดมไปด้วยธาตุอาหาร มีใยอาหารสูง ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ปัจจุบันสาหร่ายทะเลมีแนวโน้มได้รับความนิยมในการบริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เนื่องจากให้พลังงานต่ําและอุดมไปด้วยธาตุอาหารสําคัญต่างๆที่จําเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามิน โปรตีน และแร่ธาตุต่างๆ มีใยอาหารสูง ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด

สาหร่ายทะเล ไทย
สาหร่ายทะเล ไทย

ในขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสาหร่ายทะเลได้หลายชนิด เช่น สาหร่ายผมนางสาหร่ายพวงองุ่นและสาหร่ายเม็ดพริก มีปริมาณการส่งออกสาหร่ายทะเลประมาณปีละ 20-200 ตัน โดยน้ำหนักแห้งคิดเป็นมูลค่า 4-10 ล้านบาทเศษ สาหร่ายทะเลแห้งส่วนใหญ่ที่ส่งออก คือ สาหร่ายผมนาง (Gracilaria spp.) ซึ่งจะนําไปแปรรูป (สกัด) เป็นวุ้นและส่งกลับมาจําหน่ายในประเทศไทย ประมาณปีละ 200-300 ตัน คิดเป็นมูลค่า 50-100 ล้านบาท สาหร่ายทะเลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังได้จากการเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติซึ่งปัจจุบันมีจำนวนและปริมาณลดลงมากการเพาะเลี้ยงโดยทำเป็นระบบฟาร์มเลี้ยงสาหร่ายทะเล จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการวางแผนขยายการเพาะเลี้ยงโดยทําเป็นระบบฟาร์มเลี้ยงสาหร่ายทะเล

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎระเบียบ ข้อบังคับหรือการควบคุมกระบวนการผลิตสาหร่ายทะเลเพื่อให้ได้สาหร่ายทะเลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัญหาด้านคุณภาพที่สามารถเกิดกับสาหร่ายทะเลได้แก่ คุณภาพและความสะอาดที่ไม่สม่ำเสมอ ปริมาณโลหะหนักและวิธีการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพเพื่อคงคุณภาพสาหร่ายให้นานขึ้น

สาหร่ายพวงองุ่น
สาหร่ายพวงองุ่น

จากปัญหาและแนวโน้มความต้องการของตลาดดังกล่าว มกอช ได้ร่วมกับกรมประมงเตรียมจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มสาหร่ายทะเล พร้อมแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานฯ เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสาหร่าย สามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักสุขอนามัยและความปลอดภัยอาหา และให้เกษตรกรผลิตสาหร่ายทะเลที่มีคุณภาพเป็นไปตามความต้องการของตลาดและสอดคล้องตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 เป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ

มกอช.สอบช่องจีน-ญี่ปุ่นฮิตเปิบสาหร่ายไทย เร่งยกร่างมาตรฐานฟาร์มสาหร่ายทะเลรองรับตลาดส่งออก

รวมทั้ง ได้เปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต นักวิชาการ และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกฝ่าย เพื่อหารือในเรื่องของ ขอบข่าย คำนิยาม และข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย 1. การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2. สถานที่ตั้งฟาร์ม 3. การจัดการทั่วไป 4. ปัจจัยการผลิต  5. สุขอนามัยภายในฟาร์ม 6.การเก็บเกี่ยวรวบรวม และการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวก่อนจำหน่าย 7. ความรับผิดชอบต่อสังคม 8. ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 9. การบันทึกข้อมูล เพื่อนำมาประกอบการปรับปรุงร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มสาหร่ายทะเล และแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานฯ ให้มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ อยู่ในแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร พิจารณาความเห็นชอบและประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป อีกทั้งให้เกษตรกร ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวในเรื่องคุณภาพ มาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสนับสนุนการนํามาตรฐานไปประยุกต์ใช้และยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรในอนาคต

 

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated