นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า โครงการประกวดออกแบบชุดเครื่องแต่งกาย สิ่งทอผ้าไหมเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “ผ้าไหมไทยในมุมมองและสไตล์ของคนรุ่นใหม่ : Creative ready to wear” เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การใช้ผ้าไหมไทยแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยผ้าไหมที่นำมาออกแบบตัดเย็บจะใช้ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานเป็นวัตถุดิบหลัก ผ่านการคิดและออกแบบจากเยาวชน จากสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และแฟชั่นที่เข้าร่วมโครงการ โดยปีนี้มีมีสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการประกวดดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 15 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม และมหาวิทยาลัยศิลปากร
โดยมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการได้จัดทำแบบร่างภาพประกอบแรงบันดาลใจ (Mood Board) และนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุง สำหรับวันนี้เป็นการทำผลงานต้นแบบมานำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อตัดสินผลงานในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งผลงานทุกชิ้นจะนำไปจัดแสดงนิทรรศการในงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 13 ประจำปี 2561 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในงานในวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม 2561 ซึ่งในปีสถาบันการศึกษาที่ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เนื่องจากสามารถสร้างสรรค์ผลงานชุดแต่งกายที่ตอบโจทย์ได้อย่างครอบคลุม ผ่านมุมมองความคิดสร้างสรรค์ และการนำไปต่อยอดการผลิตเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้
ด้าน คุณอารยา อินทรา ผู้เชี่ยวชาญ Fashion Stylist หนึ่งในคณะกรรมตัดสิน กล่าวว่า สำหรับสถาบันการศึกษาที่ได้รับรางวัลที่ 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นั้นสามารถสร้างสรรค์ผลงานชุดแต่งกายที่เรียบง่ายมีความลงตัวครบทุกองค์ประกอบ ซึ่งชุดที่ตัดเย็บเข้ามาประกวดจะเป็นแนวลำลองเป็นชุดวอร์มและเสื้อเจ๊กเก็ต ที่เลือกใช้สีผ้าที่มีความลงตัว โดดเด่น มีการตัดเย็บที่ไม่ซับซ้อน การออกแบบที่สวมใส่ได้จริง โดยมีต้นทุนการผลิตที่สามรถทำตลาดได้จริง โดยรวมสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งสองคำถามหลักคือ ในด้านครีเอทีฟ และ ready to wear และที่สำคัญเทคนิคที่ใช้นับเป็นการสร้างสรรค์ผลงานของผ้าไหมตรานกยูงให้มีความแปลกและใหม่ ดูทันสมัยเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างดีเยี่ยม เช่น การทำสม๊อคบนผ้า การตีนวม การตัดต่อผ้าให้เกิดมิติของชุด การปัก การเดินเส้นโดยใช้ไส้ไก่เพื่อให้เกิดดีเทล สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นความลงตัวที่ตอบโจทย์แนวคิดการจัดงาน “ผ้าไหมไทยในมุมมองและสไตล์ของคนรุ่นใหม่ : Creative ready to wear”ได้อย่างลงตัวจริงๆ