เรื่อง : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล ภาพ : จตุพล ยอดวงศ์พะเนา
“ลำไยปลูกอย่างไร จึงจะทำให้มีรายได้ดี?”
“ทำลำไยนอกฤดู” คือคำตอบ ภายใต้น้ำเสียงที่หนักแน่น ของ “ดำรงค์ จินะกาศ” ประธานแปลงใหญ่ลำไยนอกฤดู และในฐานะประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอแม่ทา ซึ่งตั้งอยู่บ้านท้องฝาย หมู่ที่ 1 ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน โทร. 08-17247327
ด้วยปัจจุบันศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอแม่ทา คือ แหล่งเรียนรู้การผลิตลำไยนอกฤดูแบบครบวงจรที่มีศักยภาพในการช่วยพัฒนาการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวสวนลำไยให้เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ตามเป้าหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้รับการสนับสนุนความรู้ด้านวิชาการ จากกรมส่งเสริมการเกษตร ผ่านทางสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูนและสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทา
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศพก. อำเภอแม่ทาแห่งนี้ มีเกษตรกรที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
“เพราะ ลำไย คือ ลำพูน” คำกล่าวที่บ่งบอกถึงความเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดลำพูน
“ลำไยนั้นถูกนำมาปลูกครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน วันนี้จึงถือเป็นไม้ผลที่ช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้เกษตรกรในจังหวัดลำพูนเป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมานั้นเกษตรกรที่ปลูกลำไยต้องประสบปัญหาว่า ในช่วงที่ลำไยที่ออกตามฤดูปกติ จะมีเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องประสบปัญหาด้านราคา เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและทำให้มีรายได้ที่ดีขึ้น จึงมีการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตลำไยนอกฤดูเข้ามาปรับใช้ โดยกำหนดให้ผลผลิตออกมาในช่วงที่ตลาดต้องการเช่นเทศกาลต่าง ๆ” นายดำรงค์ กล่าว
แต่การที่จะประสบความสำเร็จในการทำลำไยนอกฤดูได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีองค์ความรู้ในการจัดการต้นลำไย ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆที่จำเป็นและต้องรู้นั้น เกษตรกรและผู้สนใจ สามารถมาเรียนรู้ได้ที่ศพก. อำเภอแม่ทาแห่งนี้ ได้ตลอดเวลา
นายดำรงค์ กล่าวว่า เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจในองค์ความรู้ ทาง ศพก. อำเภอแม่ทา จึงได้แบ่งความรู้ต่าง ๆ ออกเป็น 6 ฐานเรียนรู้ ตั้งอยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นลำไยพันธุ์อีดอ ในมุมต่าง ๆ บนพื้นที่ 26 ไร่ของ ศพก. อำเภอแม่ทา โดยจุดเริ่มต้นเริ่มจาก….
ฐานเรียนรู้ที่ 1 การให้น้ำอย่างรู้ค่า
ด้วย น้ำ มีความสำคัญต่อการผลิตลำไยเป็นอย่างมาก เพราะแม้เกษตรกรจะมีความพร้อมในการให้การให้ปุ๋ย การให้ฮอร์โมน แต่ถ้าไม่มีน้ำและความชื้นสัมพันธ์ทุกอย่างก็สูญเปล่า สำหรับวิธีการให้น้ำที่ดีที่สุด การให้น้ำแบบสปริงเกอร์
วิธีการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ นายดำรงค์กล่าวว่า เม็ดน้ำจากสปริงเกอร์จะมีลักษณะเหมือนน้ำฝน โดยน้ำส่วนมากจะตกลงดินอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าพื้นที่นั้นจะสูง ต่ำ ไม่สม่ำเสมอ หรือลาดเอียง แต่เม็ดน้ำจะกระจายและซึมลงดินได้อย่างสม่ำเสมอ รากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก อีกทั้งจะมีน้ำบางส่วนระเหยกลายเป็นไอน้ำ ให้ความชื้นสัมพัทธ์แก่ กิ่ง ใบ ดอก ผล ช่วยทำให้ลำไยเจริญเติบโตได้ดี และให้ผลลำไยมีสีสวย
ทั้งนี้มีข้อแนะนำจากเจ้าของสวนลำไยแห่งนี้ว่า ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ต้นลำไยเจริญเติบโตได้ดี
สำหรับการให้น้ำแก่ต้นลำไย กรณีลำไยในฤดู นั้น ฐานเรียนรู้ที่ 1 นี้ มีข้อแนะนำ ดังนี้
- เดือนมกราคม เป็นระยะแทงช่อดอก เทคนิคการให้น้ำ เมื่อเห็นเป็นช่อดอกแล้วควรมีการให้น้ำเล็กน้อย และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ
- เดือนกุมภาพันธ์ เป็นระยะดอกบาน เทคนิคการให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
- เดือนมีนาคม – เมษายน เป็นระยะติดผลขนาดเล็ก เทคนิคการให้น้ำ ระยะนี้ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าขาดน้ำจะทำให้ผลแคระแกร็นและร่วง
- เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม เป็นระยะที่ผลกำลังเจริญเติบโต เทคนิคการให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
- เดือนสิงหาคม เป็นระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เทคนิคการให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการแตกใบอ่อนได้เร็วขึ้น
- เดือนพฤศจิกายน เป็นระยะใบแก่ เทคนิคการให้น้ำ หลังจากหมดฝนแล้วงดการให้น้ำเพื่อให้ต้นพักตัวเร็วขึ้น
- เดือนธันวาคม เป็นระยะใบแก่ เทคนิคการให้น้ำ งดการให้น้ำเพื่อให้ต้นลำไยมีการสร้างตาดอก
ส่วน กรณีการให้น้ำแก่ต้นลำไยนอกฤดู นั้น ฐานเรียนรู้ที่ 1 มีข้อแนะนำ ดังนี้
- เดือนมิถุนายน เป็นระยะช่วงราดสาร เทคนิคการให้น้ำ รดน้ำบริเวณรากหรือบริเวณที่หว่านสารให้น้ำซึมลึกประมาณ 2 นิ้ว ห่างกัน 3-7 วัน
- เดือนกรกฎาคม เป็นระยะช่วงออกดอก เทคนิคการให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
- เดือนสิงหาคม เป็นระยะช่วงผสมเกสร เทคนิคการให้น้ำ ให้น้ำประมาณ 250 – 350 ลิตรต่อต้น ขึ้นอยู่กับขนาดต้น โดยให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
- เดือนกันยายน – ธันวาคม เป็นระยะช่วงการติดผลและการพัฒนาผล เทคนิคการให้น้ำ ให้น้ำประมาณ 250 – 350 ลิตรต่อต้น ขึ้นอยู่กับขนาดต้น โดยให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
- เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ เป็นระยะก่อนการเก็บเกี่ยว เทคนิคการให้น้ำ ให้น้ำประมาณ 250 – 350 ลิตรต่อต้น ขึ้นอยู่กับขนาดต้น โดยให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือตามความเหมาะสม
ฐานเรียนรู้ที่ 2 การทำปุ๋ยหมักใต้ต้นลำไยจากใบลำไย
ด้วยวงจรการประกอบอาชีพเกษตรนั้น ปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรต้องประสบคือ ภาวะราคาผลผลิตต่ำ ซึ่งหนทางที่เกษตรกรสามารถทำได้เพื่อช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ การลดต้นทุนการผลิต ซึ่งนายดำรงค์บอกว่า การทำปุ๋ยหมักใต้ต้นลำไยจากใบลำไย นับเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่สามารถในเรื่องการลดต้นทุนการผลิตได้
ด้วยเป็นวิธีที่มีประโยชน์มากมาย ไม่ว่า การลดต้นทุนการผลิตลำไยลงได้ 40-50 เปอร์เซ็นต์ โดยทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีจากเดิมที่ใช้ 6 กก.ต่อต้นต่อปี ลดเหลือ 3 กิโลกรัม และเนื่องจากมีวัสดุคลุมดินทำให้ประหยัดการใช้น้ำจากเดิมในฤดูแล้งต้องให้น้ำ 3 วันต่อหนึ่งครั้ง ขยายออกเป็น 7 วันต่อหนึ่งครั้ง โดยสภาพพื้นดินมีความชุ่มชื้นเพียงพอทำให้การใช้สารโปแตสเซียมคลอเรตมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการออกดอกของลำไยดีขึ้น เนื่องจากบริเวณทรงพุ่มลำไยจะเกิดรากฝอยและรากขนอ่อนใกล้ผิวดินทำให้ดูดซับสารซึ่งละลายน้ำฉีดพ่นลงผิวดินในทรงพุ่มลำไยได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยทำให้เกิดไส้เดือนช่วยในการพรวนดิน ทำให้โครงสร้างดินดีขึ้น อีกด้วย
หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยแล้ว ทางสวนของนายดำรงค์จะทำการตัดแต่งกิ่งลำไยให้โปร่ง โดยกิ่งที่ได้จากการตัดแต่งจะนำมาวางเรียงรอบต้นตามขนาดความกว้างของทรงพุ่มลำไย ส่วนใบจะใช้วิธีการกวาดมากองทับด้านบน คลุมรอบโคนต้น ให้ทำแบบนี้หลายๆชั้น จากนั้นโรยด้วยปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7 หรือ 46-0-0 + ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตราส่วน 1:1 รอบทรงพุ่ม ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อต้น
ขั้นตอนต่อมาให้ใช้สาร พด. ของกรมพัฒนาที่ดิน มาผสมน้ำ 200 ลิตร รดหรือฉีดพ่นให้ชุ่ม หลังจากนี้ให้รดน้ำให้ชุ่มทุก 5-7 วัน
“ระหว่างการหมักเป็นปุ๋ย ความร้อนที่เกิดจาการหมักจะไม่มีผลกระทบต่อระบบรากและลำต้นลำไยแต่อย่างใด เพราะในกองกิ่งและใบใบลำไย จะค่อนข้างโปร่งมีการระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี” นายดำรงค์กล่าว
วิธีการนี้จะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน กิ่งและใบลำไยจะย่อยสลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างดี
ฐานเรียนรู้ที่ 3 การเตรียมต้นก่อนราดสารโพแทสเซียมคลอเรต
สำหรับฐานเรียนรู้นี้ นายดำรงค์ บอกว่า ผู้สนใจจะได้เรียนรู้ถึงการเตรียมต้นก่อนราดสารโพแทสเซียมคลอเรต เพื่อผลิตลำไยนอกฤดู โดยเริ่มจาก…
- หนึ่ง การเตรียมต้นหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะทำการตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง เพื่อควบคุมทรงพุ่ม
- สอง ใช้ใบลำไยที่ได้จากการตัดแต่งกิ่ง มาคลุมใต้โคนต้น จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 หรือ 46-0-0 + ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตราส่วน 1:1 โดยใส่รอบทรงพุ่มต้นละ 1 กิโลกรัม
- สาม รดน้ำให้ชุ่ม ทุกๆ 5-7 วัน ลำไยจะเริ่มแทงยอดอ่อนครั้งที่ 1 ใน 21 วัน
- สี่ พ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 46-0-0 หรือ 15-0-0 + -30–20-10 อย่างละ 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตรฉีดพ่น
- ห้า เมื่อใบแก่จัดที่อายุ 45-60 วัน เริ่มปฏิบัติตาม ข้อ 2-4 ใหม่ ให้ลำไยแตกใบอ่อน อย่างน้อย 3 ครั้ง
ฐานเรียนรู้ที่ 4 เทคนิคการราดสารโพแทสเซียมคลอเรต
เทคนิคการราดสารโพแทสเซียมคลอเรตนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน โดยนายดำรงอธิบายว่า
- หนึ่ง การเตรียมต้นลำไยก่อนราดสาร 1 เดือน ในส่วนนี้จะมีขั้นตอนที่ดำเนินการ คือ ในวันที่ 1 และ 10 จะต้องพ่นปุ๋ยทางใบ สูตร10-52-10 หรือ 10-52-10 + 0-52-34 อย่างละ 500 กรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร พร้อมกันนี้ในวันที่ 10 ให้ใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 8-24-24 จำนวน 1 กิโลกรัม ต่อต้นด้วย
จากนั้นในวันที่ 11 และ 20 พ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 10-52-10 หรือ 10-52-10 + 0-52-34 + น้ำตาลทางด่วนอย่างละ 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร
- สอง เทคนิคการราดสาร ที่นายดำรงค์ บอกว่าที่ปฏิบัติประกอบด้วย “สูตรราดบนดิน” โดยก่อนทำการราดสารนั้นต้องมีการทำความสะอาดรอบโคนต้นบริเวณที่ต้องการราดสารให้กว้างประมาณ 1 เมตร จากนั้นราดสารโพแทสเซียมคลอเรต จำนวน 6-8 กิโลกรัม โซเดียมคลอเรต จำนวน 1-2 กิโลกรัม และปุ๋ยสูตร 0-52-34 จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร พ่นรอบทรงพุ่มที่ต้นที่ โดยต้นลำไยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 6 – 8 เมตร จะพ่นได้ 6-8 ต้น
จากนั้น เป็น “สูตรพ่นทางใบ” ใช้โซเดียม จำนวน 500 กรัม ไทโอยูเรีย จำนวน 1 กิโลกรัม น้ำตาลทางด่วน จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่น 2 ครั้ง หลังราดสาร 3- 5 วัน โดยพ่นห่างกัน 7 วัน
ทั้งนี้มีเคล็ดลับว่า หลังราดสารต้องดูแลโคนต้นให้มีความชื้นอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งต้องมีการควบคุมโรคและแมลงอย่าให้ระบาด แต่หากพบว่ามีแมลงระบาดให้ฉีดพ่นด้วยสารกำจัดศัตรูพืช
หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการดูแลต้นลำไยหลังราดสาร ช่วง 21 – 45 วัน ช่วงนี้ลำไยจะแตกช่อดอก หรือที่เรียกว่า เป็นดอกสะเรียบ ต้องควบคุมอย่าให้โรคแมลงระบาด และหากพบกรณีแตกใบอ่อนมากกว่าหรือแรงกว่าช่อดอก คือมีลักษณะดูเหมือนจะเป็นใบ เมื่อหลัง 30 วัน ให้พ่นเก็บใบอ่อน โดยมีสูตรแนะนำที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ 2 สูตร
- สูตรแรก คือ โพแทสเซียมคลอเรต จำนวน 200 กรัม + ปุ๋ยสูตร 0-52-34 จำนวน 300 กรัม
- สูตรสอง คือ ปุ๋ยสูตร 10-52-17 จำนวน 1 กิโลกรัม + อาหารเสริมประเภทอะมิโน จำนวน 200 ซีซี.
เมื่อตัดสินใจเลือกสูตรใดสูตรหนึ่งได้แล้ว ให้ผสมน้ำจำนวน 200 ลิตร แล้วทำการฉีดพ่น 2 ครั้ง โดยห่างกัน 5 วัน
นอกจากนี้ เมื่อเห็นช่อดอกยาวประมาณ 10 เซ็นติเมตรขึ้นไป ให้พ่นด้วยฮอร์โมน+ปุ๋ยสูตร 13-0-36 ( ปุ๋ยเกล็ด ) จำนวน 1 กิโลกรัมผสมน้ำ 200 ลิตร พ่นจำนวน 2-3 ครั้ง จนถึงระยะช่อบาน
ฐานเรียนรู้ที่ 5 การดูแลลำไย หลังติดผลผลิต
เกษตรกรเจ้าของศพก. อำเภอแม่ทา ให้ข้อแนะนำว่า การดูแลลำไยหลังติดผลผลิตนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงที่สำคัญ คือ
- หนึ่ง ช่วงติดผลเล็ก การดูแลเกษตรกรต้องมีการพ่นด้วยสาหร่ายสกัดหรือฮอร์โมนธาตุอาหารรอง 2 ครั้ง จากนั้นอีก 2 สัปดาห์ พ่นด้วยปุ๋ยสูตร30-10-10 + ธาตุอาหารรอง จำนวน 500 กรัม + สาหร่ายสกัด จำนวน 200 ซีซี. ผสมน้ำ 200 ลิตรฉีดพ่น ลำดับต่อมาให้ใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 25-7-7 หรือ 15-0-0 + 15-15-15 ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อต้น
- สอง ช่วงผลโตปานกลาง หรือ ในช่วงเมล็ดในดำ การดูแลนั้น มีข้อแนะนำว่า ให้พ่นด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 20-20-20 จำนวน 500 กรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่น จากนั้นใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 15-15-15 จำนวน 1 กิโลกรัมต่อต้น
- สาม ช่วงผลโต หรือ ช่วงระยะก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 45 วัน แนะนำว่า ให้พ่นด้วยปุ๋ยสูตร 13-0-46 จำนวน 500 กรัม + ธาตุอาหารรอง + สาหร่ายสกัด จำนวน 20 ซีซี. ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นทุก 10 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยทางดินสูตร 8-24-24 หรือ 15-0-0 + 0-0-60 ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อต้น
แต่เทคนิคที่เป็นเคล็ดลับสำคัญอีกประการที่จะช่วยให้ได้ผลผลิตที่สวยตรงกับความต้องการของตลาด คือ การทำให้ลำไยผิวสวย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ส่งผลทำให้ผิวลำไยไม่สวยนั้นมาจากการเข้าทำลายของโรคแมลง ซึ่งต้องมีการนำสารเคมีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา แต่การใช้เทคนิคทำผิวสวยลำไยด้วยการฉีดพ่นด้วยสารเคมีนั้น นายดำรงแนะนำว่า จะทำเฉพาะเมื่อพบว่ามีโรคหรือแมลงระบาดเท่านั้น โดยจะใช้ คาร์เบนดาซิน จำนวน 200 ซีซี. และ ออติว่า จำนวน 50 ซีซี. ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่น
ฐานเรียนรู้ที่ 6 วิธีการตัดแต่งช่อผล
ฐานการเรียนรู้ที่ 6 นี้จะเป็นการแนะนำเทคนิคที่ช่วยทำให้ผลลำไยมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยนายดำรงค์กล่าวว่า การตัดแต่งช่อผล จะเป็นการตัดแต่งช่อผลที่ติดลูกมากไป โดยตัดแต่งให้เหลือเพียงช่อละ 60 – 70 ผล โดยในการตัดแต่งช่อนั้นจะใช้กรรไกร ที่มีลักษณะคล้ายกรรไกรตัดแต่งกิ่งในกรณีที่มือเอถึง แต่ถ้าเอื้อมไม่ถึง จะใช้กรรไกรตัดแต่งแบบด้ามยาวเข้ามาช่วย
สำหรับหลักเกณฑ์ในการตัดแต่งช่อผลนั้น นายดำรงแนะนำว่า จะเลือกตัดช่อแขนงและช่อขนาดเล็กทิ้ง เหลือเฉพาะช่อก้านโตที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยหลักเกณฑ์ในการตัดนั้นจะมีด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้
- หนึ่ง ตัดช่อทิ้ง 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือไว้ 70 เปอร์เซ็นต์
- สอง ตัดช่อทิ้ง 40 เปอร์เซ็นต์ เหลือไว้ 60 เปอร์เซ็นต์
- สาม ตัดช่อทิ้ง 50 เปอร์เซ็นต์ เหลือไว้ 50 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ นายดำรงค์ได้อธิบายถึงข้อดีข้อเสียของการตัดแต่งช่อผลวา ในส่วนของข้อดีนั้น ประกอบด้วย ทำให้ผลได้ขนาดใกล้เคียงกัน เช่น A – AA และ AAA อีกทั้งได้ลำไยที่มีสีผิวสวยงาม ช่อสวย ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมกันนี้ยังทำให้การเก็บเกี่ยวและการคัดเกรดได้ง่าย รวดเร็ว รวมถึงทำให้ราคาผลผลิตต่อต้นสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการพ่นปุ๋ย ฮอร์โมนและยา เป็นต้น
แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน คือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายจาการตัดแต่งช่อ และเป็นวิธีการที่ต้องฝึกฝนด้วยตนเอง และสุดท้ายคือ ทำให้เกษตรกรเกิดข้อกังวลใจว่า อาจจะเป็นการทำให้ได้ผลผลิตลดลง
องค์ความรู้ต่างๆเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ที่เรียบเรียงจากประสบการณ์ในการทำลำไยนอกฤดูของ ดำรงค์ จินะกาศ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอแม่ทา ที่ www.kasetkaoklai.com ได้รวบรวมมา เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่เกษตรกรและผู้สนใจ นำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต แต่หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเดินทางไปเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความรู้ได้ถึงที่ศพก.อำเภอแม่ทา เกษตรกรผู้เป็นประธานศูนย์ฯยินดีให้การต้อนรับ…
ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะ เกษตร คือ ประเทศไทย ครับผม…