วันนี้ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่มาแรงมาก เป็นกระแสความแรงที่ได้รับแรงหนุนจากผู้บริโภคคนจีน โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เครืออาลีบาบาได้มาลงนามซื้อทุเรียนจากประเทศไทย และเปิดซื้อขายในโลกออนไลน์จนเป็นที่ฮือฮา 80,000 ลูก ใน 1 นาที และมีแนวโน้มว่าจะสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง เพราะว่าทุเรียนไทยกลายเป็นผลไม้ยอดนิยมของคนจีน ตลาดยังเปิดกว้างและขยายได้อีก
ท่ามกลางความคึกคักของตลาดส่งออกนี่เอง ทำให้คนไทย เกษตรกรไทยหันมามองพืชทุเรียนกันตาเป็นมัน เพราะในขณะที่ผลไม้ชนิดอื่นๆราคาตกต่ำ จะมีก็แต่ทุเรียนที่ราคาพุ่งพรวด ทำให้เกษตรกรหลายรายพลิกพื้นที่มาปลูกทุเรียนกันเป็นว่าเล่น ที่เคยปลูกยางพารา ปลูกมันสำปะหลัง ฯลฯ ก็มาปลูกทุเรียน จนนักวิชาการและผู้มีประสบการณ์ทั้งหลายต้องออกมาให้ความคิดเห็นกันเป็นระยะๆ ถึงโอกาสความเป็นไปได้ โดยในเฉพาะในเรื่องสภาพพื้นที่ว่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่
ทีมข่าว “เกษตรก้าวไกล” และ “เกษตรโว้ยVOICE” จึงต้องออกเดินทางไปหาข้อมูลในพื้นที่จริง ได้พบกับ ดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล เจ้าของสวนเพชรนครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 130 ไร่ (2-3 แปลง รวมกัน) ได้ปลูกไม้ผลหลายชนิด เช่น ทุเรียน เงาะ ลำไย มะม่วง ฯลฯ ที่โดดเด่นและมากที่สุดก็คือ ทุเรียน ซึ่งมีทั้งที่ปลูกมาตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และที่ปลูกขึ้นมาใหม่ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทอง 90% รวมทั้งหมดประมาณ 1,000 ต้น
“ตอนนี้ผลผลิตทุเรียนราคาแพง เป็นไม้ผลที่ปลูกแล้วให้ผลตอบแทนสูงสุด เนื่องจากเป็นที่นิยมบริโภคในประเทศและต่างประเทศ ตลาดยังมีความต้องการอีกมาก ในขณะที่ผลไม้หลายชนิดราคาตกต่ำมาก บางชนิดให้ผลผลิตน้อยเพราะได้รับผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน จึงเกิดกระแสการตื่นตัว เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนกันทั่วประเทศ มีการขยายพื้นที่ปลูกในแหล่งที่เคยปลูกเดิมและกระจายออกไปในพื้นที่ใหม่ๆที่ไม่เคยมีการปลูก…ทำให้ต้นพันธุ์ทุเรียนมีราคาแพงมาก ปีที่แล้วต้นพันธุ์ราคา 150 บาท ก็ขยับขึ้นมาเป็น 250 บาท…มันไม่ใช่ว่าจะปลูกได้เหมือนมะม่วง ลำไย ฯลฯ ที่ว่าปลูกที่ไหนก็ได้”
“จึงอยากให้ข้อคิดมายังพี่น้องเกษตรกรที่สนใจจะปลูกทุเรียน ควรศึกษาข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับความต้องการของพืชทุเรียน แล้วทบทวนว่าพื้นที่ของตนเองมีความเหมาะสมเพียงใด โดยเฉพาะทุเรียนนอกถิ่น(ถิ่นใหม่) สภาพภูมิอากาศเหมาะสมกันหรือไม่ เช่น ถิ่นเดิมของทุเรียนคือ จันทบุรี ระยอง และภาคใต้ มีสภาพอากาศความชื้นสูง ฝนตกชุก ถ้าเป็นภาคอื่นที่แห้งแล้ง มีสภาพดินที่แตกต่างกัน อากาศต่างกัน มันจะปลูกได้ผลดีหรือไม่…” ดร.วีรวุฒิ เจ้าของสวนทุเรียนเพชรนครไทย ให้ความเห็น ในฐานะที่เป็นนักนักวิชาการและผู้มีประสบการณ์ตรง
ตลอดระยะเวลาที่ปลูกทุเรียนนอกถิ่น(ถิ่นใหม่) ดร.วีรวุฒิ กล่าวว่าได้จัดเก็บข้อมูลมาโดยตลอด พบว่าการที่จะปลูกทุเรียนถิ่นใหม่ให้ได้ผลดีนั้น มีข้อควรคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ในเบื้องต้น 7 ประการ ดังนี้
1.พื้นดินที่จะปลูกควรเป็นดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี หน้าดินลึกอย่างน้อย 75 ซม. ถ้าเป็นดินดานให้ทำการปรับสภาพดิน โดยการขุดหลุมให้ลึกและกว้างพอสมควร เพื่อไม่ให้รากขด
2.ต้องการความชื้นสัมพัทธ์สูง 75-80% มีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1500 มม. ต่อปี และมีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดปี
3.ในฤดูแล้งต้องให้น้ำอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะระยะออกดอกและติดผล เช่น การติดระบบสปริงเกอร์ 3 จุดต่อต้น
4.ไม่ชอบอากาศหนาวจัดและใบจะร่วงง่ายเมื่อลมพัดแรง ควรปลูกต้นไม้บังลม เช่น ปลูกสะตอ รอบๆสวน หรือไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ
5.ทุเรียนต้องการความชื้นสูง “ขาดน้ำไม่ได้ แต่ก็ไม่ชอบน้ำขัง” ทำให้เป็นโรครากเน่า หากปลูกบนพื้นที่ราบควรยกร่องหรือปลูกบนโคก
6.ปลูกนอกถิ่น(ถิ่นใหม่) ควรปลูกด้วยต้นกล้าขนาดความสูงอย่างน้อย 60 ซม. และควรพรางแสง หรือปลูกกล้วยเป็นไม้พี่เลี้ยง และเมื่อทุเรียนอายุทุเรียน 1 ปี ให้ตัดต้นที่ปลูกด้านตะวันออกทิ้ง ส่วนต้นทิศตะวันตกจะตัดเมื่อต้นทุเรียนอายุ 2 ปี
7.ปลูกนอกถิ่น(ถิ่นใหม่)ควรติดตั้งระบบน้ำหยดให้พร้อมก่อนปลูก และหลังจากที่ต้นทุเรียนมีอายุ 3-4 ปี ให้เปลี่ยนเป็นระบบสปริงเกอร์เพื่อให้น้ำพอเพียง
“ปีนี้ต้นกล้าทุเรียนแพงมาก คนทำกล้าขายรวย แต่ถ้าไม่เตรียมศึกษาการปลูกให้พร้อม ทุเรียนที่นำไปปลูกมีโอกาสตายมากกว่า 50%” ดร.วีรวุฒิ พูดย้ำปิดท้าย แต่ถ้าใครปลูกได้รอดก็ถือว่าโชคดีและยินดีด้วย