กฤษฎา เดทไลน์ 3 เดือน เร่งแผนรายสัปดาห์ สร้างอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง หลังล่าช้า 30% จี้กรมชลฯตั้งคณะติดตามปัญหา เรียกผู้บริหาร 4 บริษัท ยืนยันให้แล้วเสร็จภายในสัญญา ย้ำหากช้าอาจเปลี่ยนผู้รับเหมา
นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ลงมาตรวจติดตามโครงการอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง ไปลงเขื่อนแม่งัด และเขื่อนแม่กวงฯเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำจากพื้นที่เมืองเชียงใหม่ ลำพูน มีการขยายขึ้น รวมถึงการปัญหาอุทกภัยจากน้ำส่วนเกินลำน้ำแม่แตง ไปกักเก็บใน 2 เขื่อนซึ่งเป็นการขยายผลในพระราชดำริ ร.9 เพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โครงการขุดอุโมงค์ส่งน้ำมีความล่าช้ากว่าแผนจากที่กรมชลประทาน ได้จ้างผู้รับเหมาขุดอุโมงค์ 4 สัญญา ระยะทางกว่า 47 กม. วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เริ่ม ปี2558 และสิ้นสุด ปี 2564 เมื่อมาตรวจทำให้ทราบว่าในระยะเวลามาถึงช่วงนี้ผู้รับเหมาจะต้องทำโครงการให้ได้ 50-53% แต่พบว่าขณะนี้ภาพรวมโครงการเพิ่งทำได้ 23% ซึ่งได้รับการชี้แจงถึงความล่าช้าในช่วงเริ่มต้นโครงการที่มีปัญหาศึกษาภาพแวดล้อม รวมถึงการขอใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติ
นายกฤษฏา กล่าวว่าได้สั่งการให้ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ตั้งคณะทำงานติดตามปัญหาความล่าช้า และให้เรียกผู้บริหารของ 4 บริษัท มาคุยเพื่อทำแผนเร่งรัดการทำงานภายใน 3 เดือน โดยแผนนี้ต้องหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขเพื่อให้โครงการสำเร็จ ซึ่งต้องมีนายช่างของกรมชลฯควบคุมงาน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของบริษัทฝ่ายเดียว
“ตั้งคณะทำงานติดตามประเมิน พร้อมมีแนวทางถ้าไม่ทันระยะเวลาจ้างงาน จะมีมาตรการเร่งรัดอย่างไร เช่นเพิ่มเวลาทำงานอีกเท่าตัว รวมถึงดูสาเหตุว่าสาเหตุที่ไม่ทันจากปัญหาในด้านเทคนิกหรือบริหาร ผมพร้อมประสานงานข้ามกระทรวง แก้ปัญหาได้ทันที ซึ่งในแผนการทำงานนี้จะกระตุ้นเตือนผู้รับจ้าง เร่งผลักดันงานตามระยะเวลาในสัญญาหรือหากขยายเวลาจะต้องจำเป็นเท่านั้น อีกประการถ้าโครงการสำเร็จ เป็นโครงการแรกผันน้ำรอดอุโมงค์ใต้ดิน ภูเขา ผืนป่า เป็นโครงการขนาดใหญ่ตัวอย่างในพื้นที่อื่นที่รัฐทำได้โดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ผมห่วงกังวลทำอย่างไร ให้โครงการสำเร็จได้ใน ปี 2564 จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำสองจังหวัด ไม่เกิดความขัดแย้งพื้นที่เกษตรแย่งน้ำเมื่อถึงหน้าแล้ง ซึ่งผมตั้งใจให้เสร็จได้เร็ว ทั้งนี้ในส่วนเขตอุทยาน กำลังเร่งรัด รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ และผ่านคณะกรรมการทรัพยากรฯ ขณะนี้สามารถเดินหน้าได้ โดยไม่ต้องเข้า ครม.ดังนั้นปัญหาการส่งมอบพื้นที่ช้า อาจเกี่ยวข้องแต่ประเด็นที่สองอาจเกิดจากความขัดข้องทางเทคนิกบางประการ ส่วนกรณีจะเปลี่ยนบริษัท หรือไม่ ต้องดูสาเหตุส่งงานช้า ผมตั้งคณะทำงานคอยติดตามภาพรวม เพื่อให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย อย่าคิดว่ามาคาดโทษ มาครั้งนี้ลงมาดูความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามสัญญา โดยกรมชลฯต้องมีแผนงานรายสัปดาห์ ผมเสนอความเห็นว่าหากยังช้ามีการเตือนบริษัท กี่ครั้งครั้ง ระดับไฟเหลือไฟแดง และไปคุยผู้บริหารบริษัท ทำไมก่อนหน้ามาประมูลงานอ้างว่าทำได้มีเทคนิกก้าวหน้าต่างๆ ช่วงสามเดือนนี้คุยกับผู้รับจ้าง ให้มายืนยันทำได้ตามสัญญา และอีกสามเดือน ผมจะมาดูด้วยตนเองมาทำให้โครงการสำเร็จ” นายกฤษฏา กล่าว