มกอช.หนุนนโยบายเกษตรอินทรีย์ชาติ ปูพรมพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเร่งขยายผลทั่วประเทศ พร้อมวางเป้าดันเมนูอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ล่าสุด มกอช.ได้นำร่องดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( จังหวัดสตูล จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี) โดยได้จัดสัมมนา เชิงปฏิบัติการ “แนวทางการดำเนินงานเกษตรอินทรีย์ 5 จังหวัดขึ้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร รับทราบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ที่ยึดการบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Base) เป็นหลัก
นางสาวเสริมสุข กล่าวด้วยว่า การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 ประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1 ล้านไร่และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า3 หมื่นราย ซึ่งปัจจุบันมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูปมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2561มีมูลค่าสูงถึง 1,300 ล้านบาท
สำหรับแนวทางในการดำเนินการ ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ ขยายผลครอบคลุมทั้ง 13 กลุ่มจังหวัด 56 จังหวัดโดยยึดการบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Base) เป็นหลัก ตลอดจนเป็นการสร้างการรับรู้แนวทางการพัฒนาและจัดทำกรอบการรับรองแบบ PGS โดยวางเป้าหมายดำเนินการใน 7 พื้นที่หลักได้แก่ พื้นที่ใกล้โรงเรียน พื้นที่ใกล้โรงแรมพื้นที่ใกล้โรงพยาบาล พื้นที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) พื้นที่ส.ป.ก. พื้นที่ดำเนินการโดยเอกชน/กลุ่มเกษตรกรและพื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่เกษตรกรมีความพร้อมและสมัครใจทำเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งเน้นให้มีการบูรณาการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในระดับพื้นที่
นางสาวเสริมสุข กล่าวต่อว่า การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ก็เป็นนโยบายหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯได้ให้ความสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการเกษตรของไทย สอดคล้องกับแนวโน้มการบริโภคหรือความต้องการอาหารของพลโลกได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านอาหาร ประกอบกับเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 โดยมีสาระสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม 2) พัฒนาการผลิต 3) พัฒนาการตลาดและการรับรองมาตรฐาน และ 4) การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์และให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกัน