นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ในปี 2561 พบว่ามีปริมาณผลผลิตรวมทั้งสิ้น 545,165 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 95.73 (ปี 2560 ผลผลิต 278,522 ตัน) ซึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคม ยกเว้นลองกองออกมากในช่วงเดือนกันยายน พื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญของผลไม้ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส ซึ่งขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคใต้แล้วโดยได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว 119,794.60 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21.97 ของผลผลิตทั้งหมดของผลไม้ภาคใต้ (ที่มา : ข้อมูล warroom ณ วันที่ 2 ส.ค. 61)
สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้มีแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2561 โดยส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับชาวสวนลองกองปรับปรุงคุณภาพด้วยการตัดแต่งช่อดอก ช่อผล ห่อผล และคัดเกรดคุณภาพในการขายผลผลิตโดยใช้กลไกศูนย์คัดแยกผลไม้ในพื้นที่ดำเนินการในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองในภาคใต้ให้มากขึ้น ส่งผลให้ขณะนี้ลองกองมีราคาเฉลี่ย 30 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการ “รณรงค์ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการคุณภาพผลผลิตลองกองชายแดนใต้ ปี 2561 ภายใต้มติคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตลองกอง โดยผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) รวมไปถึงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร (ไม้ผล) และศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนที่มีศักยภาพ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการคุณภาพผลผลิตลองกองชายแดนใต้ โดยศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงด้วย มีระยะเวลาดำเนินการในเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2561 โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเงิน จำนวน 1,825,500 บาท ซึ่งจะกำหนดจัดงาน ส่งเสริมบริโภคผลไม้ปลอดภัย คุณภาพดีข้ามถิ่นเหนือ-ใต้ ปี 2561 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อกระจายผลผลิตผลไม้คุณภาพดี ปลอดภัยจากสารพิษ มีรสชาติอร่อย จากแหล่งผลิตในจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ ไปยังผู้บริโภคจังหวัดทั้งในภาคใต้และในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เป็นการยกระดับการบริโภคผลไม้ไทย และกระตุ้นการบริโภคผลไม้ตามแนวคิด “บริโภคผลไม้ทุกวันสุขภาพดีทั่วไทย เพื่อสุขภาพของประชาชนชาวไทยที่ดีขึ้น” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือในการจัดงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ได้กำหนดแนวทางสำคัญ (Theme) ในการจัดงานคือ “อร่อยล้ำผลไม้ปลอดภัย คุณภาพดีข้ามถิ่นเหนือ-ใต้” (Fruit trading north-south exchange)