สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งดูแลจังหวัดในเขตภาคใต้ตอนล่างจำนวน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส พืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญในพื้นที่ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว และไม้ผล ซึ่งมีเกษตรกรในแต่ละจังหวัดมีการเพาะปลูกกันมาก และพบว่าข้าวเป็นพืชที่กำลังประสบปัญหาเรื่องราคาที่ตกต่ำ มีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในส่วนของการใช้ปุ๋ยในนาข้าวของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรปล่อยนาให้เป็นที่รกร้างมากขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องลดต้นทุนด้านการใช้ปุ๋ยและส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง เป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวได้
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายสมชาย พรุเพชรแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มวิชาการส่งเสริมการเกษตร จัดทำแปลงทดสอบสาธิตการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมด้านดินและปุ๋ยในการลดต้นทุนการผลิต ปี 2561 ในพื้นที่นาข้าวของ นายทวี วรรณดี ที่ตั้งแปลง หมู่ที่ 9 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา จำนวน 8 ไร่ 3 แปลง พันธุ์ข้าว กข 43 อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 90-95 วัน เป็นนาหว่านน้ำตม ใช้เมล็ดพันธุ์ไร่ละ 9 กิโลกรัม เพื่อทำการศึกษาการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ เปรียบเทียบกับวีธีการใช้ปุ๋ยของเกษตรกร ในการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ผ่านกรรมวิธีในการเปรียบเทียบ ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน พื้นที่ 2 ไร่ ต้นทุนปุ๋ย 248.20 บาทต่อไร่ ครั้งที่ 1 ปุ๋ยเคมีสูตร 18 – 46 – 0 จำนวน 7 กิโลกรัมต่อไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 0 – 0 – 60 จำนวน 7 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่ 2 ปุ๋ยเคมีสูตร 46 – 0 – 0 จำนวน 5 กิโลกรัมต่อไร่ กรรมวิธีที่ 2 การใช้ปุ๋ยเคมีลดลงร้อยละ 25 จากค่าวิเคราะห์ดิน + ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ พื้นที่ 2 ไร่ (ใช้ปุ๋ยพีจีพีอาร์ผสมเมล็ดพันธุ์ข้าว และผสมกับปุ๋ยเคมีในครั้งแรก รวม 1 กิโลกรัมต่อไร่) ต้นทุนปุ๋ย 226.15 บาทต่อไร่ ครั้งที่ 1 ปุ๋ยเคมีสูตร 18 – 46 – 0 จำนวน 5.25 กิโลกรัมต่อไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 0– 0 – 60 จำนวน 5.25 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่ 2 ปุ๋ยเคมีสูตร 46 – 0 – 0 จำนวน 3.75 กิโลกรัมต่อไร่ กรรมวิธีที่ 3 การใช้ปุ๋ยตามวิธีของเกษตรกร (Control) พื้นที่ 4 ไร่ ต้นทุนปุ๋ย 1,400.00 บาทต่อไร่ ครั้งที่ 1 ปุ๋ยเคมีสูตร 16 – 20 – 0 จำนวน 50 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่ 2 ปุ๋ยเคมีสูตร 16 – 20 – 0 จำนวน 50 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ ในการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 จะใส่ตอนข้าวอายุ 15 วัน และครั้งที่ 2 ตอนข้าวอายุ 50 วัน
“จากผลการทดลองปรากฏว่า อัตราการเจริญเติบโตของต้นข้าวในทั้ง 3 กรรมวิธีไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนักในการแตกกอ และความสูง แต่ผลการใช้ปุ๋ยเคมีลดลงร้อยละ 25 จากค่าวิเคราะห์ดิน + ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ มีปริมาณผลผลิตข้าวที่ความชื้น 15% สูงที่สุด คือ 435.51 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาคือการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน 431.07 กิโลกรัมต่อไร่ และตามวิธีของเกษตรกร 428.71 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ดังนั้นผลจากการทดสอบสาธิตในพื้นที่สามารถสรุปได้ว่าการการใช้ปุ๋ยเคมีลดลงร้อยละ 25 จากค่าวิเคราะห์ดิน + ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ และการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ประมาณไร่ละ 1,150 บาท และสามารถเพิ่มผลผลิตขึ้นได้เล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยอมรับผลการทดลองและจะเร่งรัดการปรับใช้ในพื้นที่ตัวเองในฤดูการผลิตต่อไป ทั้งนี้ นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร คนที่ 1 พร้อมด้วย นางสาวชัญญา ทิพานุกะ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร และคณะ ได้เดินทางมาติดตามผลการดำเนินงานการจัดทำแปลงทดสอบในพื้นที่พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะให้มีการขยายผล และประชาสัมพันธ์ไปยังพื้นที่ข้างเคียง และจังหวัดอื่นๆ ให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวางต่อไป” นายสุพิท กล่าวทิ้งท้าย