เรื่อง : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล ภาพ : จตุพล เกษตรก้าวไกล
ข่าว เกษตรก้าวไกล/กรมส่งเสริมการเกษตร—ข่าวการเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงตำบลปันแต่ ที่เริ่มต้นขึ้นจากสามีภรรยาคู่หนึ่ง ถูกแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว มีคนมาศึกษาดูงานกันไม่ขาดสาย…และจากจุดเล็กๆก็ถูกยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง และชันโรงตำบลปันแต (ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 102 หมู่ 11 ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โทร. 091 8038881 และ 0811662462
ผู้ก่อตั้งคือ คุณวีระพล ห้วนแจ่ม และคุณวีรยา สมณะ สองสีมีภรรยาที่มีประสบการณ์โชกโชนเกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งโพรง และชันโรง ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 50 คน
ทั้งนี้ คุณวีระพล ห้วนแจ่ม ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรง เป็นคนตำบลปันแตมาตั้งแต่กำเนิด มีชีวิตอยู่กับผึ้ง ชอบขึ้นรังผึ้งแบบมือเปล่าตั้งแต่เด็กๆ และพอโตขึ้นเคยเป็นผู้ช่วยนักวิจัยคือ ดร.สมนึก บุญเกิด คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงผึ้งของประเทศไทย
ส่วน คุณวีรยา สมณะ เธอเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่มีความคุ้นเคยกับอาชีพเลี้ยงผึ้งตั้งแต่เด็กๆ แถมพอโตขึ้นก็เรียนจบปริญญาโท ภาควิชากีฏวิทยา ด้านผึ้งโพรงไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ด้วยการริเริ่มและนำพาของบุคคลทั้ง 2 คน ที่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเพื่อนสมาชิก จนทำให้ทุกคนในกลุ่มแห่งนี้มีฝีมือการเลี้ยงในระดับแถวหน้า สร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพออกสู่ท้องตลาด นำมาซึ่งอาชีพและรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนให้แก่สมาชิก จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ
โดยล่าสุดสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดชุมชนและโครงการดีเด่นระดับประเทศ ภายใต้โครงการ 9101 ตามรอย เท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ประจำปี 2560 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งยังได้รับความสนใจมีเพื่อนเกษตรกร เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
“นอกจากเพื่อนๆเกษตรกรจากจังหวัดต่างๆ แล้ว ยังมี คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร มาดูของจริงถึงที่มาแล้ว รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมศรีลังกา Mr.Daya Gamage ก็มา“ คุณวีรยา กล่าวอย่างภาคภูมิใจ (อ่านเพิ่มเติม https://goo.gl/yJhRnk)
“ที่ผ่านมานั้นเราได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรมส่งเสริมการเกษตร จากสำนักงานเกษตรอำเภอควนขนุนเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาจนสามารถทำให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง และชันโรงตำบลปันแต เติบโตได้อย่างเข้มแข็งอย่างเช่นในทุกวันนี้ “ คุณวีรยา กล่าวย้ำ
“กิจกรรมของเรา คือการเลี้ยงผึ้งโพรงและการเลี้ยงชันโรง ซึ่งเป็นแมลงที่สามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดีในวันนี้ ตั้งแต่การจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์การเลี้ยง ไปจนถึงผลผลิต แต่ตอนนี้บอกได้เลยว่า ปริมาณน้ำผึ้งโพรง และชันโรง ที่ผลิตได้ยังไม่พอต่อความต้องการ“ คุณวีระพล กล่าวเสริม
แล้วการเลี้ยงผึ้งต้องทำอย่างไร…
คุณวีระพล ได้ให้ข้อแนะนำ โดยเริ่มต้นที่การเลี้ยงผึ้งโพรงไทยเป็นอันดับแรก ได้กล่าวว่า การเลี้ยงผึ้งโพรงไทยที่ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง และชันโรงตำบลปันแต ได้ดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็นการเลี้ยงที่เรียกว่า แบบนวัตกรรมใหม่ นำเทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิต ทำให้ได้น้ำผึ้งมากกว่าแบบเดิมถึง 3 เท่า
สำหรับผึ้งโพรงนั้น มีชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น อาทิ มิ้นโต, ผึ้งโก๋น, พรวด และยี่รวน ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Apis cerana indica Fabricius
คุณวีระพล บอกว่า ผึ้งโพรงเป็นผึ้งพื้นเมืองของประเทศไทย โดยธรรมชาติจะทำรังในที่มืด มีหลายรวง ประมาณ 5 – 11 รวง ชอบอาศัยอยู่ตามโพรงไม้ โพรงดิน เพดานหลังคา ในห้องน้ำ หรือฝาบ้านอุปนิสัยไม่ดุร้าย
ในรังผึ้ง 1 รังจะประกอบด้วย ผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้ และผึ้งงาน ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น ผึ้งนางพญา ที่ภายในรังจะมีผึ้งนางพญา 1 ตัว ทำหน้าที่คอยควบคุมรัง และวางไข่ ส่วนผึ้งงานมีหน้าที่หาอาหาร ทำความสะอาด ป้องกันรัง เป็นต้น
ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง และชันโรงตำบลปันแต จึงเห็นความสำคัญของผึ้งโพรงโดยนำผึ้งชนิดนี้ตัดใส่คอนลงรังเลี้ยงผึ้งที่มีมาตรฐาน สามารถมีการจัดการภายในรัง
“ข้อดีของรังเลี้ยงที่มีการจัดการ คือ ง่ายต่อการจัดการ และสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ 10-12 ครั้งต่อปี หรือมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลการบานของดอกไม้ แตกต่างไปจากแบบเดิมๆซึ่งใน 1 ปีสามารถเก็บน้ำผึ้งได้เพียงละ 1 -2 ครั้ง เท่านั้น” คุณวีระพลกล่าว
ส่วนวิธีการเลี้ยง เริ่มจาก นำรังผึ้งโพรงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น ตามตู้เสื้อผ้า หัวเตียงนอน ในห้องน้ำ ในหลังคาบ้าน และที่อื่นๆ ที่สามารถหาได้ง่าย
จากนั้นตัดรวงผึ้งที่มีตัวอ่อนให้ติดน้ำผึ้งสัก 1 เซนติเมตร นำมาใส่คอนที่ขึงลวดสแตนท์เลส จากนั้นกรีดรวงที่มีตัวอ่อนลกประมาณ 1 เซนติเมตรให้ลวดสแตนท์เลสเข้าไปอยู่ในรวงตัวอ่อน จากนั้นใช้เชือกกล้วยมัดรวงผึ้งติดกับรวงผึ้ง แล้วนำไปใส่ในรัง เป็นจำนวน 5 แผ่น
เมื่อนำแผ่นคอนไม้ที่มีรวงผึ้งตัวอ่อนใส่ในรังเรียบร้อยแล้วให้ทำการโกย หรือเคาะตัวเต็มวัย ใส่ในรังให้หมด และในกลุ่มนั้นต้องมีนางพญาติดไปด้วยจึงจะประสบความสำเร็จในการย้ายลงรังเลี้ยง
หลังจากย้ายลงรังเลี้ยงแล้วประมาณ 10-15 วัน สามารถเก็บน้ำผึ้งเพื่อนำมาบริโภคได้เลย ในการเก็บน้ำผึ้งครั้งต่อไปก็ประมาณ 15 วัน หรือ เดือนละ1ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแหล่งอาหาร ที่มีอยู่บริเวณนั้น
ในส่วนของทำเลที่ตั้งรังเลี้ยง คุณวีระพลแนะนำว่า ที่ตั้งผึ้งต้องอยู่ในร่มเย็น ไม่มีลมโกรก และต้องมีน้ำสะอาดและอาหารในธรรมชาติเพียงพอ ไม่ควรตั้งใกล้ที่มีแสงไฟ เพราะกลางคืนผึ้งจะไปเล่นไฟ นอกจากนี้ต้องมีลานบินให้ผึ้ง ด้านหน้ารังไม่ควรมีสิ่งกีดขวาง ผึ้งจะได้บนเข้าออกได้สะดวก และที่สำคัญต้องไม่ตั้งในบริเวณที่มีการใช้ยาฆ่าแมลง สารกำจัดศัตรูพืช
“การจัดการในรังผึ้งนั้น ส่งที่ต้องทำคือ หนึ่งการตรวจเช็ครัง ซึ่งควรทำในช่วงเช้าหรือเย็นที่มีอากาศแจ่มใสท้องป้าโปร่งไม่อบอ้าวหรือร้อนเกินไป ผึ้งจะอารมณ์ดี ซึ่งระยะเวลาการตรวจเช็ครังจะตรวจทุก 7 – 10 วัน ซึ่งจะดูรวมด้วยว่า มีศัตรูผึ้ง เช่น มด เข้ามาหรือไม่“
“สำหรับการเก็บน้ำผึ้งนั้น จะเริ่มจาการสำรวจในรังว่ามีน้ำผึ้งปดฝารวงหรือยัง ถ้ามีแสดงว่าน้ำผึ้งบ่มสุกแล้ว จากนั้นเขย่าตัวผึ้งออก ใช้แปรงปัดเบาๆให้ตัวผึ้งออกจากรวงให้หมด นำรวงที่มีน้ำผึ้งทั้งหมดใส่ในรังเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปสลัดน้ำผึ้ง แล้วทำการปาดฝารวงผึ้ง โดยใช้มีดบางและคมเปิดฝาให้น้ำผึ้งสามารถไหลออกมาจากหลอดได้ แล้วนำแผ่นรวงผึ้งใส่ในถังสลัด หมุนเหวี่ยงถังเพื่อเอาน้ำผึ้งออกเพื่อนำน้ำผึ้งที่ได้จะนำไปจำหน่ายต่อไป” คุณวีรพลกล่าว
ส่วนการเลี้ยงชันโรง คุณวีระพลกล่าวถึงการเรียกชื่อว่า ชันโรง เช่นกันเป็นแมลงที่มีชื่อเรียกกันตามภาษาท้องถิ่นในหลายชื่อ อาทิ อุง,ขี้ตังนี,ขี้สูด,แมงตุงติ้ง
“ชันโรงเป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน(stingless bee) ซึ่งจัดอยู่ในอันดับ Hymenoptera วงศ์ Apidae วงศ์ย่อย Meliponinae ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 6 สกุลได้แก่Trigona,Dityluring,Lestrimelita,Melliponull, Melipona และ Hypotrigona พบได้ทั่วไป 2 สกุล คือ Trigona และ Melipona W
ทั้งนี้ มีการศึกษาข้อมูลทางวิชาการ พบว่า ชันโรงใน genus Melipona มีขนาดใหญ่กว่า ประชากรในรังมี 500-4,000 ตัวต่อรัง ส่วน Trigona มี ประชากร 300-8,000 ตัวต่อรัง บางชนิดพบมากถึง 80,000 ตัวต่อรัง
“จากการศึกษาของอาจารย์สมนึก บุญเกิด และธนานิ เมื่อปี 2544 พบว่า ชันโรงเป็นแมลงที่ชอบเก็บเกสรมากกว่า น้ำหวานจึงทําให้เกิดการถ่ายละอองเกสรในดอกไม้ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงในการตอมดอกไม้ อย่างสม่ำเสมอ จึงจัดเป็นแมลงเกสรประจําถิ่นหากิน ชันโรงไม่ค่อยมีนิสัยเลือกชอบ มักเก็บเล็ก ผสมน้อย ไม่รังเกียจดอกไม้ที่ผึ้งชนิดอื่นลงตอมแล้ว ชันโรงจึงเป็นแมลงผสมเกสรที่คอยช่วยแก้ไขปัญหาการ ผสมเกสรของแมลงชนิดอื่นได้”
นอกจากการผสมเกสรที่เป็นบทบาทสําคัญของ ชันโรงแล้ว ยังมีพรอพอลิส ( propolis ) ที่ได้จากการที่ชันโรงเก็บมา สะสมในรัง และใช้เป็นส่วนผสมของโครงสร้างรัง ซึ่งเป็น พฤติกรรมที่เด่นชัดมีการเก็บยางไม้เป็นปริมาณมาก แตกต่างกับผึ้งพันธุ์ที่มีพฤติกรรมการเก็บยางไม้ใน ปริมาณที่น้อยมาก
โดยคุณวีระพลชี้ว่า พรอพอลิสใช้ทําประโยชน์ในด้าน การแพทย์เป็นยารักษาโรคทางผิวหนัง โรคในช่องปาก หรือโรคมะเร็งได้ใช้ในด้านการผลิตเครื่องสําอาง เช่น ครีมทาผิว หรือแชมพูขจัดรังแค และสามารถนําไปใช้ใน การเกษตรเป็นสารยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรค พืช โรคแมลงได้
ในส่วนวิธีการเลี้ยงโดยสรุป เริ่มจาก นำกลุ่มไข่ของชันโรงที่มีระยะการเจริญเติบโต 3 ระยะ คือ ไข่อ่อน ไข่กลาง ไข่แก่ ตัวอ่อน ตัวเต็มวัย และนางพญา ให้ครบวงจรชีวิต มาใส่ในกล่องที่ใช้เลี้ยงชันโรงโดยเฉพาะ
ส่วนอาหารของชันโรงที่ใส่ในรัง ควรนำฝาน้ำดื่มที่มีลักษณะแบนไม่ลึกมากใส่ในรังแล้วเทน้ำผึ้งของผึ้งให้เป็นอาหารประมาณ 7 วัน จนตัวอ่อนแข็งแรงแล้วให้หยุดใส่ ไม่ควรใส่อาหารเดิมของชันโรงเพราะจะทำให้เกิดปัญหา เรื่อง มด หนอนแมลงวัน ด้วง และเชื้อราลงในกล่องเลี้ยง เมื่อเลี้ยงครบตามระยะเวลาที่กำหนดจะสามารถเก็บผลผลิตจากชันโรงเลี้ยงที่เลี้ยงได้
“การเลี้ยงทั้งผึ้งโพรงและชันโรงนั้นทำได้ง่ายมาก ถือเป็นอาชีพการเลี้ยงที่ไม่ต้องเสียเงินค่าอาหาร เลี้ยงตรงส่วนไหนของบริเวณบ้านก็ได้ จะมีการลงทุนเฉพาะในเรื่องของรังเลี้ยงและสายพันธุ์เท่านั้น ซึ่งลงทุนไม่สูงมาก หลังจากเลี้ยงตามระยะเวลาที่กำหนดก็จะได้กินน้ำหวานที่มีประโยชน์มาบริโภคและจำหน่ายได้”
“แต่ที่สำคัญสำหรับผู้สนใจที่ต้องการเริ่มเลี้ยงคือ ต้องมาศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจก่อนว่า ทั้งผึ้งโพรงและชันโรงนั้นมีนิสัยอย่างไร เลี้ยงอย่างไรจึงรอด จึงให้ผลผลิตที่ดี ซึ่งที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง และชันโรงตำบลปันแต พร้อมเปิดรับทุกคนที่สนใจ มาได้เลยครับ เราพร้อมให้ข้อมูลกับทุกท่าน” คุณวีระพล กล่าวในที่สุด