เรื่อง : ลุงพร สอนอาชีพ
เกษตรและอาหาร คือเรื่องเดียวกัน…สัปดาห์ก่อนผมได้มีโอกาสไปร่วมเป็นกรรมการตัดสินประกวดสำรับอาหารพื้นถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา หรือว่าประกวดอาหารพื้นบ้านปักษ์ใต้นั่นเอง เจ้าภาพผู้จัดก็คือวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งได้จัดขึ้นที่วิทยาลัยนั่นแหละ (วิทยาลัยอยู่ทะเลน้อย พัทลุง)
ผู้เข้าร่วมแข่งขันมีด้วยกัน 12 ทีม แต่พอถึงเวลาแข่งขันมากันเพียง 7 ทีม แต่ละทีมก็เป็นชาวบ้านที่อยู่ในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งมีน้องๆจากสถาบันการศึกษามาร่วมแข่งขันด้วย
การแข่งขันครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านอาหารการกิน (วัตถุประสงค์การจัด https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/2052385568413474/) และผู้ชนะเลิศจะได้ครองถ้วยรางวัลประทาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ โดยมี ดร. อุกฤษฎ์ มูสิกพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย บริการวิชาการ และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
ก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้นมีการสาธิตการทำอาหารจากเชฟไวภพ แซ่ปึง (Executive Chef) เชฟจากรายการยกโขยง 6โมงเช้า และที่ปรึกษาด้านอาหารในประเทศไทยและต่างประเทศ เมนูที่สาธิตคือแกงขี้เหล็กใส่ปลาดุกร้าทอด และอีกเมนูเป็นยำข้างสังข์หยดทอด เป็นที่ถูกอกถูกใจมาก
บรรยากาศการแข่งขันเป็นไปด้วยความคึกคักและสนุกสนาน แต่ละทีมโชว์ฝีมือกันอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ การจัดสำรับอาหารอย่างลงตัว การใช้วัตถุดิบพื้นถิ่น และการปรุงเมนูที่เป็นรสชาติพื้นถิ่นจริงๆ รวมทั้งลีลาการปรุงที่เป็นทีมเวิร์ก และการจัดตกแต่งอาหารที่สวยงาม
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้แต่ละทีมนำเสนออาหารที่ทำ ซึ่งก็ปรากฏว่าแต่ละทีมเสนอได้ดี ชนิดที่ว่าไม่ได้อร่อยหรือสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเข้าใจในเมนูที่ทำเป็นอีกด้วย
อย่างเช่น น้ำชุบหยำ หรือภาษากลางเรียกว่า “น้ำพริกโจร” มีที่มาว่าเวลาไปทำไร่ทำนาไกลๆจะนำอุปกรณ์อะไรไปมากไม่ได้ เช่น ครกตำน้ำพริก เพราะมันหนัก นำไปได้แต่ของเบาๆที่จำเป็น เช่น กะปิที่ย่างไฟแล้ว รวมทั้งหอมกระเทียม มะนาว และพริกขี้หนูบางทีก็ไปเด็ดเอาที่ไร่นา รวมทั้งผักเหนาะก็เช่นกัน
เวลาทำน้ำพริกนั้นก็นำเครื่องปรุงทั้งหมดมาใส่รวมกันและใช้มือขยำให้เข้ากัน…อาจสงสัยว่าทำไมชื่อว่า “น้ำพริกโจร” ตรงนี้ผู้เข้าแข่งขันก็บอกเล่าว่า เป็นน้ำพริกที่ต้องทำไม่ให้มีเสียงดัง ไม่ให้มีควันไฟ และจะต้องทำแบบเร่งรีบ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ก็จะตรงกับพวกโจรขโมยที่หลบเข้ามาอยู่ในกระท่อมกลางป่า เวลาจะทำอาหารการกินจะต้องไม่ให้มีเสียงดัง ไม่ให้มีควันไฟ และจะต้องทำอย่างเร่งรีบ ขืนทำดัง ๆควันคลุ้ง และชักช้า มีหวังถูกจับได้แน่นอน…ซึ่งเมนูน้ำพริกโจรนี้ก็มีบางทีมที่ส่งเข้าประกวดในประเภทเครื่องจิ้ม แต่ที่นำมาเล่าเสียยืดยาว เพราะคิดว่าเป็นสำรับพื้นถิ่นที่คนรุ่นหลังอาจจะไม่รู้ความหมายแล้ว
มาถึงผลการตัดสิน ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือทีมบัวแดง จากร้านข้าวแกงพื้นบ้านชุมชนทะเลน้อย ประกอบด้วย นางสุจินต์ ชูบัว นางปัญญา อาสนะ นางชะอ้อน ทองนวล นางสมคิด ดำสง นางอำไพ รักรอด รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมดอกขจร จาก มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งจังหวัดตรัง ประกอบด้วย นายราเชนทร์ หลีแจ้ นายสันติชัย สุดชี นางสาวกาญจนาภรณ์ สุขเต๊ะ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมสี่สหาย จาก โรงเรียนปัญญาวุธ ประกอบด้วย นางช่อผกา ทองสง นางวริยา สงเนียม นางสาวบุญญา รัตนพงศ์ นางสาวกมลรัตน์ บุญเรืองขาว
ส่วนคณะกรรมการตัดสิน ประกอบด้วย เชฟจำนงค์ นิรังสรรค์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมเชฟประเทศไทย กรรมการตัดสินระดับโลก รับรองโดยสมาคมเชฟโลก (WACS) เป็นประธานการจัดการการแข่งขัน ส่วนกรรมการอีก 2 ท่าน คือเชฟอนุสรณ์ จันทมุณี (Executive Chef ) เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร และผู้ชำนาญการอาวุโสด้านอาหารและการบริหารจัดการครัว และนายพรศักดิ์ พงศาปาน หรือ “ลุงพร สอนอาชีพ” อดีตนายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย และบรรณาธิการผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เกษตรก้าวไกล
หลังจบกการแข่งขันและมอบถ้วยรางวัลแล้ว อาจารย์เทพรัตน์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมแข่งขันและบอกว่าจะจัดการประกวดให้ดียิ่งขึ้น โดยหวังว่าผลการแข่งขันครั้งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าแข่งขันเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพ และในฐานะที่วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชนจะพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ภูมิปัญญาชุมชนเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ในตอนท้าย ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ยังได้หารือร่วมกับคณะกรรมการและคณะผู้จัดประกวดว่า อาจจะมีการประกวดทำน้ำพริกหยำ หรือ “น้ำพริกโจร” ขึ้นมาเป็นการเฉพาะก็เป็นได้ เพราะถือเป็นปัญญาพื้นถิ่นที่หาที่อื่นไม่ได้