นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือจัดซื้อผักปลอดภัยระหว่าง ซีพีเอฟ และเกษตรกร ในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผักและผลไม้นครปฐม ภายใต้“โครงการตลาดนำการผลิต ผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค”สร้างรายได้ยั่งยืนแก่เกษตรกร
จากแนวนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการเชื่อมโยงภาคเอกชน ซึ่งมีความต้องการใช้พืชผลทางการเกษตรที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสำเร็จรูป กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักอย่างปลอดภัยตามหลักการ GAP (Good Agriculture Practice) เข้าด้วยกัน อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนของเกษตรกรและการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ากระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” เป็นแนวทางให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาด โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการทำงานร่วมกัน นับเป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่เพื่อให้ปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าเกษตรเกิดความสมดุลกัน โดยกระทรวงฯทำหน้าที่สนับสนุนให้เกษตรกรเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ บริษัทเอกชน สหกรณ์การเกษตร หรือผู้ค้า เป็นต้น
ล่าสุด กระทรวงเกษตรฯ สามารถเชื่อมโยงตลาดขนาดใหญ่ระดับโลกผ่านบริษัทชั้นนำของไทย กับเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัย ใน “โครงการตลาดนำการผลิต ผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค” ซึ่งเป็นการลงนามความร่วมมือสั่งซื้อพืชผักของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผู้ผลิตอาหารปลอดภัยไปจำหน่ายยังทั่วทุกมุมโลกและเกษตรกรในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผักและผลไม้นครปฐม ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกขึ้นหนึ่งของกระทรวงฯ
ด้านนายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ ระบุว่าบริษัทยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายรัฐที่มุ่งสร้างรายได้และอาชีพอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกร โครงการตลาดนำการผลิต ผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ถือเป็นโครงการที่ดีที่จะก่อประโยชน์ให้ทุกฝ่าย โดยในส่วนของการจัดซื้อวัตถุดิบ บริษัทเองจะได้รับผักจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ด้วยระบบ QR CODE รับรู้แหล่งปลูกที่ชัดเจนและเป็นผักที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย GAP ภายใต้การคัดบรรจุและตัดแต่งตามมาตรฐานคุณภาพ GMP และที่สำคัญคือการได้ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรไทยให้มีรายได้และอาชีพอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 3 เสาหลักความยั่งยืนที่บริษัทดำเนินการอยู่ อันได้แก่ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่
ทั้งนี้ บริษัทได้ให้การสนับสนุนความรู้ด้านการปลูกผักปลอดภัยและสนับสนุนเงินในการปรับปรุง พื้นที่โรงตัดแต่ง และโรงคัดบรรจุ ทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่าและเงินยืมลงทุน โดยจะเริ่มต้นที่พืชผักประเภทใบกะเพรา ใบโหระพา และพริกขี้หนูพันธุ์จินดา เขียว-แดง ซึ่งเชื่อว่าเกษตรกรจะสามารถปรับปรุงการผลิตและเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ตามที่บริษัทต้องการใช้ได้อย่างเพียงพอในเร็วๆนี้
นายสุธรรม จันทร์อ่อน ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผักและผลไม้นครปฐม ซึ่งเป็นผู้แทนกลุ่มเกษตรกรในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้กล่าวว่า โครงการนี้ช่วยสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรมีกำลังใจที่จะผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาเคยผลิตแล้วหาตลาดไม่ได้ต้องไปขายในตลาดเดียวกับผักทั่วไป แต่พอซีพีเอฟเข้ามารองรับก็มีปริมาณความต้องการที่ชัดเจน เกษตรกรเชื่อมั่นว่าเราไม่โดดเดี่ยว มีทั้งส่วนราชการและเอกชน เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการผลิตด้วยดี จากที่มีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตซีพีเอฟก็เข้ามาช่วยสนับสนุนปรับปรุงการผลิต เช่น โรงบรรจุผัก ทำให้สามารถขับเคลื่อนโครงการได้ดีขึ้น ตลอดจนช่วยคลี่คลายปัญหาแรงงานภาคเกษตรไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เพราะการมีรายได้ที่ทัดเทียมอย่างมั่นคง ก็ช่วยให้แรงงานไหลกลับเข้ามาภาคเกษตร ลดปัญหาสังคมต่างๆลงได้อีก
ความร่วมมือกันของทั้งสองฝ่ายคู่ธุรกิจภายใต้แนวทางการตลาดนำการผลิตที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนี้ถือได้ว่าเป็นการต่อยอด นโยบายการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน GAP ในแปลงใหญ่และการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคเรื่องสินค้าคุณภาพปลอดภัย ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ผลลัพธ์ที่ได้ยังทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศซึ่งจะสร้างความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก