เรื่อง/ภาพ : อรรถสิทธิ์ ทองร่วง สนง.เกษตรจังหวัดกระบี่
พบคุณตาวัย 77 ปี นักอนุรักษ์การจักสานตะกร้าและชะลอมจากทางปาล์มน้ำมัน มีรายได้จุนเจือครอบครัว เดือนละ กว่า 7,500 บาท มีลูกค้าทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด สั่งซื้อเพื่อนำบรรจุสิ่งของ และเพื่อการจำหน่าย…ตลอดจนเป็นจิตอาสาด้านวิทยากร
ณ บ้านเลขที่ 35/3 หมู่ 1 ตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ มี นายสามารถ วรรณะพรหม คุณตาวัย 77 ปี เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ในฐานะเป็นนักอนุรักษ์ การจักสานตะกร้าและชะลอม จากทางปาล์มน้ำมัน เพื่อใช้บรรจุสิ่งของ แทนถุงพลาสติก ลดภาวะ มลพิษ และภาวะโลกร้อน ทำให้มีรายได้ จุนเจือครอบครัว เดือนละไม่ต่ำกว่า 7,500 บาท
คุณตาสามารถ บอกว่าตนมีความถนัด ในการจักสานตะกร้าและชะลอม มายาวนาน กว่า 15 ปี หลังจากย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดระนอง มาอยู่ในที่อยู่ปัจจุบัน ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้เห็นทางปาล์มน้ำมันในสวนใกล้ๆ บ้านซึ่งเป็นของชาวบ้าน หรือเอกชน ซึ่งมีจำนวนมาก ซึ่งทางเจ้าของสวน จะมีการตัดแต่งทางปาล์ม ของต้นปาล์มน้ำมัน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ทางปาล์มที่ถูกตัด จะถูกนำมากองไว้ ใกล้โคนต้น ตนจึง ได้ความคิด ในการ เอาแกนกลางของทางปาล์มน้ำมันที่ตัด สดๆ มาจักสาน เป็นตะกร้าและชะลอม โดยการผ่าเอาแกนกลาง ของทางปาล์มน้ำมัน ออกเป็นแผ่นบางๆ ตามความยาวที่ต้องการและนำมาเข้าขั้นตอน การนำแกนกลางมาผ่าด้วยเครื่องมือ ที่จัดทำขึ้นเอง แบบบ้านๆ ทำการผ่าออกเป็นขนาดเล็กใหญ่ ตามความต้องการ ที่จะทำตะกร้าหรือชะลอม จากนั้นก็นำมาจักสาน ชะลอม ด้วยรูปตามแบบ ที่จัดเตรียมไว้ และการสานตะกร้า จะเพิ่มการใช้หวาย ทำเป็นหูหิ้วเพื่อความแข็งแรง
การทำจักสานตะกร้า จะใช้เวลา 20 นาที ต่อ 1 ใบ ส่วนชะลอม ขนาดใหญ่ใช้เวลา 10 นาที ขนาดเล็ก ใช้เวลา 5 นาที ส่วนการจำหน่ายในราคาขายส่ง ตะกร้าใบละ 70 บาท ชะลอมขนาดใหญ่ ใบละ 15 บาท ชะลอมลูกเล็ก ใบละ 4 บาท
คุณตาสามารถ ยังกล่าวอีกว่า มีรายได้ จากการจำหน่ายโดยมีลูกค้า ทั้งในชุมชน ในอำเภอ และจังหวัดกระบี่ ตลอดจนจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี และใกล้เคียงที่สั่งซื้อ เพื่อนำไปบรรจุ สิ่งของเช่นไข่เค็ม ผลไม้และอื่นๆ และเพื่อการนำไปวางจำหน่าย โดยทางตนจะมีรายได้ เดือนละไม่ต่ำกว่า 7,500 บาท และมีรายได้เพิ่มจาก การขายกล้วยหอม มะนาวและพืชผักกินได้ ที่ปลูกไว้ ในพื้นที่ รอบบ้าน เดือนละ ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท โดยมีภรรยา ในวัยไล่เลี่ยกัน เป็นคู่คิด และช่วยกันทำมาหากิน
นอกจากนี้ ตนจะใช้เวลาว่าง ไปเป็นวิทยากร ให้กับชุมชนกับหน่วยงานราชการ แก่กลุ่มผู้สนใจและสถานศึกษา เพื่อสืบสาน การจักสาน ตามวิถีชีวิตชุมชน และให้ได้เล็งเห็น คุณค่า จากเศษวัสดุในธรรมชาติ มาใช้ทำประโยชน์ ทำเป็นชิ้นงาน ใช้บรรจุสิ่งของ แทนถุงพลาสติก ช่วยลดมลพิษ และภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านนายชัยยุทธ ศิลป์พยุทธ อยู่บ้านเลขที่ 5/1 หมู่ 6 ตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ได้ร่วมกับภรรยา จัดตั้งกลุ่มแม่บ้านจักสาน หมู่ที่ 6 ตำบลอ่าวลึกน้อย ก็ได้ให้คุณตาสามารถ มาเป็นวิทยากร ด้านการจักสานตะกร้า และชะลอม เพื่อเป็นรายได้ของกลุ่มแม่บ้าน ที่เพิ่งจัดตั้งกลุ่ม ได้ประมาณ 1 เดือนเศษ มีสมาชิก 10-15 คน ขณะที่ยังไม่มีชิ้นงาน ออกมาเพื่อการจำหน่ายของกลุ่ม ก็จะรับสินค้ามาจากคุณตาสามารถ เพื่อนำมาวางจำหน่าย ในงานต่างๆ ของชุมชนอำเภอและจังหวัดกระบี่ เพื่อสร้างรายได้แก่กลุ่ม และแก่ครอบครัว คุณตาสามารถอีกทางหนึ่งด้วย.