ข่าว ธ.ก.ส. เกษตรก้าวไกล—เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ทีมข่าว “เกษตรก้าวไกล” ได้เดินทางมาที่ฟาร์มอินทร์แปลง ของน้องเบส-ปฏิวัติ อินทร์แปลง วันนั้นเราได้เดินทางมากับทีมงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สาขาสุราษฎร์ธานี นำโดยคุณนิวัฒน์ นิยมญาติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ เมื่อไปถึงนั้นเราได้พบกับคุณอุไรวรรณ อินทร์แปลง คุณแม่ของน้องเบส (น้องเบสกำลังไปส่งน้ำนม) กำลังดูแลโคนมที่เลี้ยง พร้อมๆกับน้องๆนักศึกษาจากสถาบันแห่งหนึ่งที่มาฝึกงาน ทำให้รู้ว่าแม่คือหัวเรือหลักของครอบครัว และน้องเบสคือกำลังสำคัญที่เข้ามาแทนที่…
“พ่อของผมประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เมื่อปี 2548 ขณะนั้นผมเรียนอยู่ ม.2 ตอนนั้นพ่อและแม่ของผมมีอาชีพรับจ้างทั่วไป เงินเดือนรวมกันไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท ที่บ้านมีวัวพื้นเมืองอยู่ 2 ตัว และมีแม่โคนมลูกติดที่คุณตาให้ผมมาเลี้ยงอยู่ 1 ตัว ตอนนั้นจำได้ว่า ลูกวัวอายุเจ็ดเดือนแต่ยังดูดนมแม่อยู่ แม่วัวตัวนั้นชื่อช้างครับ!!
หลังจากที่ผมกลับจากโรงเรียนทุกวันผมต้องมีหน้าที่ตัดหญ้าให้วัว และทำความสะอาดคอก แม่ก็ต้องทำงานรับจ้างต่อไป เพื่อหาเงินส่งผมเรียนและใช้จ่ายทั่วไป วันแล้ววันเล่า ผมจึงเริ่มมีความคิดกับวัวที่ผมเลี้ยงอยู่ทุกวันว่าผมเลี้ยงวัวเหนื่อยทุกวัน แต่ผมไม่ได้เงินทุกวัน ถ้าเลี้ยงวัวเนื้อแบบนี้อีกนานถึงจะได้เงิน แต่ผมมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน อีกอย่างแม่เป็นแรงงานผู้หญิง ค่าแรงจึงถูกมาก ผมจึงบอกเล่นๆ กับแม่ว่า “ลองรีดนมวัวขายดูมั้ย? เรามีเจ้าช้าง ลูกมันดูดนมอยู่ น่าจะยังมีนมให้ลองรีดดูนะแม่” แต่คำตอบจากแม่ ผมตอบกลับมาว่า “เราทำไม่ได้หรอก”….
ผมจึงคุยกับคุณตาซึ่งฟาร์มของคุณตาอยู่ต่างอำเภอ คุณตาทำฟาร์มขาดทุนจนต้องปิดตัวลงเมื่อปี 2543 คุณตาท่าน สนับสนุนผมมาก คุณตาชอบเล่าถึงตอนที่ท่านทำฟาร์มว่าเป็นยังไง คุณตาจึงขนอุปกรณ์ เช่น เครื่องรีดนม ถังใส่นมที่เก่าคร่ำครึ เพราะ ไม่ได้ใช้งานมานานหลายปีมาให้ผม…
ผมมีโอกาสเขียนจดหมายถึง ดร.สุรีย์วรรณ พันธ์นรา หัวหน้างานสัตวบาล โรงโคนมโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เล่าถึงฟาร์มของผมและขอโคจากท่าน 1 ตัว หายไปหลายเดือน ผมก็คิดว่าท่านคงไม่ได้รับจดหมาย ผมจึงถอดใจ แต่ทว่าวันหนึ่งแม่รับโทรศัพท์จากสหกรณ์และส่งให้ผมคุยกับผู้จัดการ “น้องขอวัวคุณเหว่าไปใช่ไหม” ผมตอบว่า “ครับ” ปลายสายก็กล่าวต่อว่า “คุณเหว่าจะลงมาชุมพร เพื่อมอบวัวให้น้องนะ” พี่ผู้จัดการพูด ตอนนั้นผมตื้นตันใจมากทั้งๆ ที่ผมถอดใจไปแล้วกับจดหมายฉบับนั้น
และแล้ววันที่ 31 มีนาคม 2549 รถจากสหกรณ์โคนมจังหวัดชุมพร จำกัด รถของ ดร.สุรีย์วรรณ พันธ์นรา และรถบรรทุกวัวก็วิ่งขึ้นมาที่ฟาร์มของผม ผมดีใจมากๆ แบบบอกไม่ถูก และผมยังเชื่ออีกว่านี่เป็นเพราะพระบารมีของในหลวงทำให้ผมและแม่มีโอกาสประกอบอาชีพที่เรียกว่า “อาชีพพระราชทาน” นี่คือสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมและแม่เป็นอย่างมาก
วันแล้ววันเล่า.. ฟาร์มแสนสุขของผมก็ยังคงดำเนินต่อไป เติบโตอย่างช้าๆ พร้อมกับความศรัทธาในอาชีพและประสบการณ์ที่มากขึ้น แน่นอนว่าผมเอาอาชีพเลี้ยงโคนมที่บ้านผม เป็นผลงานส่วนหนึ่งของการประเมินนักเรียนรางวัลพระราชทาน ปีการศึกษา 2549 ซึ่งผมเข้ารับรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อตอนผมอยู่ ม.3 ด้วย
จนกระทั่งผมจบชั้น ม.6 และกำลังจะสมัครเรียนต่อ แม่ผมประสบอุบัติเหตุรถล้มกระดูกขาด้านซ้ายแตกต้องนอนพักรักษาตัวถึง 3 เดือน จนทำให้ผมไม่ได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยปิดเหมือนเพื่อนๆ คนอื่นๆ ผมจึงตัดสินใจลงเรียนที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมๆ กับเดินหน้าดูแลฟาร์มเต็มตัว มันสร้างความน้อยใจให้ผมมาก ทั้งเพื่อน ทั้งครูบางท่านต่างไม่เข้าใจในปัญหาของผม “จะเลี้ยงวัวจริงๆหรือ” หรือ “ว่าไงเด็กเลี้ยงวัว” คำพูดเหล่านี้มันวนเวียนและกระทบจิตใจผมเป็นอย่างมาก ชีวิตวัยรุ่นของผมไม่มีแล้ว ผมต้องทำงานแล้ว
ผมตั้งมั่นอยู่อย่างหนึ่งว่าผมต้องทำให้คนพวกนี้รู้ว่า อย่ามาดูถูกผม อย่ามาดูถูกอาชีพเลี้ยงวัวนม ฟาร์มโคนมจึงกลายเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตผมที่วันหนึ่งฟาร์มของผมจะต้องเป็นฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ที่ครบวงจรที่สุดสร้างความมั่นคงทางอาชีพและทางรายได้ให้กับผม…
มาถึงวันนี้….ผมว่าผมตัดสินใจถูกแล้วที่จะเดินหน้าทำฟาร์มเต็มตัว ผมมีรายได้มากพอที่จะใช้จ่ายสำหรับผม อยากได้อะไรก็ได้ อยากกินอะไรก็ได้กิน ผมมีนมคุณภาพดีที่สุดดื่มทุกวัน ผมไม่ต้องไปรับจ้างให้คนอื่นรวย เหมือนที่เพื่อนๆ ผมที่เคยว่าผมไว้กำลังจะเป็นในอนาคคอันใกล้นี้ ที่สำคัญคือผมมีความสุขกับฟาร์มของผมมาก ผมได้อยู่กับแม่ ผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ผมรักสุดหัวใจ วันนี้ผมคิดว่าเราต้องอย่าไปสนใจมองคนข้างๆ ทางที่จะทำให้เราไขว้เขวในเป้าหมายของเรา ความสุขมันอยู่ที่วิธีคิด ความขี้เกียจกำจัดด้วยการสร้างแรงบันดาลใจที่อยากจะทำ
วันนี้ผมเดินหน้าไปพร้อมๆกับฝูงวัวของผม ฟาร์มโคนมเล็กๆ ที่มากด้วยคุณภาพและโนฮาวน์ที่ผมสร้างขึ้นจากความชอบและแรงบันดาลใจของผม มันเป็นสิ่งที่ผมจะสร้างได้ไม่รู้จบไปตลอดชีวิตของผม มันมีค่ามากกว่าเงินค่านมที่ผมได้นั้นคือ “ความสุข” ผมทำงานบนพื้นฐานที่ว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้” ฝันที่สร้างได้ไม่รู้จบของผม ความสุขและสนุกมาพร้อมกับเงินที่ยิ่งทำมากได้มากผมเดินหน้าแบบเชื่องช้าแต่มั่นคงไปพร้อมๆกับวัวทุกตัวในฟาร์มของผม…”
หมายเหตุ : บทความข้างต้นนี้ พร้อมภาพบางส่วน คัดมาจาก “ประวัติฟาร์ม” ที่เล่าผ่านเว็บไซต์ของฟาร์มอินทร์แปลง https://www.farminpleang.com/th/history ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
(ข้อมูลเพิ่มเติม/เกษตรก้าวไกล Live ผู้หญิงแกร่ง-ผู้ให้กำเนิดฟาร์มอินทร์แปลง https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/2049327105385987/)