โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย เป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรได้รับการเรียนรู้ สามารถปรับตัวอยู่กับบริบทของสังคม เศรษฐกิจ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน จนสามารถพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจ เกิดแนวทางการพัฒนาในรูปแบบของโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชนอย่างแท้จริง นำไปสู่ความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ทั้งนี้ นายชาตรี บุนนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ในการดำเนินโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยโดยการฝึกอบรมและพัฒนาเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง และหน่วยงานในสังกัดภาคตะวันออกได้ร่วมกันแปลงนโยบายมาสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามบทบาทหน้าที่และภารกิจของแต่ละหน่วยงาน
“สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง มีหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ในระดับพื้นที่ ประกอบด้วยศูนย์ปฏิบัติการ 5 ศูนย์ฯ และสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 9 จังหวัดของภาคตะวันออก ซึ่งมีหน้าที่ขับเคลื่อนงานโดยการอบรมให้ความรู้ในหลักสูตรหรือวิชาที่มีความถนัด/เชี่ยวชาญ เน้นพัฒนาให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มกัน โดยการเรียนรู้ฐานวิธีคิด หลักการสำคัญของการรวมกลุ่ม การสร้างความเข้มแข็ง การเริ่มต้นการประกอบธุรกิจขนาดเล็ก การจัดแผนธุรกิจ การเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าผลผลิต”
นายชาตรี กล่าวต่อไปว่า ได้มีการดำเนินการพัฒนาและสนับสนุนในหลายมิติ ทั้งด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต ด้านการบริหารจัดการผลผลิต และการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตร โดยเกษตรกรได้รับความรู้จากการอบรม การรวมกลุ่ม การคิดวิเคราะห์ การนำเสนอ ซึ่งถือว่าเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่เกษตรกร สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในพื้นที่การเกษตรของตนเอง สร้างโอกาสในการต่อยอดความสำเร็จของโครงการต่างๆ กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถแข่งขันในเชิงธุรกิจการตลาดยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้
“นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนงบประมาณโครงการ ภายใต้กรอบโครงการ 9 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิตพืช/พันธุ์พืช ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงบำรุงดิน ด้านการจัดการศัตรูพืช ด้านฟาร์มชุมชน ด้านการผลิตอาหารและการแปรรูปผลผลิต ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง ด้านการผลิตแมลงเศรษฐกิจ และด้านการเกษตรด้านอื่นๆ “
“สำหรับในส่วนของจังหวัดระยองมีจำนวนชุมชนที่เข้าร่วมทั้งหมด 72 ชุมชน และขณะนี้ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 70 ชุมชน ใน 8 ด้านกรอบโครงการ ซึ่งโครงการด้านการผลิตอาหารและแปรรูปผลผลิต และด้านผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงบำรุงดิน เป็นกรอบโครงการที่ได้รับการเสนอขอรับงบประมาณในลำดับต้นๆ ดังเช่นในพื้นที่อำเภอวังจันทร์ ประกอบด้วย 4 ชุมชน 14 กลุ่มย่อยเสนอขอรับงบประมาณใน 14 โครงการ แบ่งเป็นโครงการด้านผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงบำรุงดิน จำนวน 7 โครงการ โครงการด้านการผลิตอาหารและแปรรูปผลผลิตจำนวน 5 โครงการ โครงการด้านฟาร์มชุมชนและโครงการด้านการจัดการศัตรูพืช จำนวนด้านละ 1 โครงการ” นายชาตรีกล่าว
สำหรับการดำเนินงานโครงการทั้ง 14 โครงการ นายชาตรีได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ได้เน้นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าของผลผลิต ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างโครงการที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ได้แก่ โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์หมักชีวภาพของกลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพบ้านตะเคียนทอง โครงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านหนองเขิน และโครงการแปรรูปผลผลิตเกษตรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่ตำบลวังจันทร์
สำหรับโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์หมักชีวภาพของกลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพบ้านตะเคียนทอง เป็นโครงการที่เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในชุมชนวังจันทร์ ตำบลวังจันทร์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยนายเจริญ เสน่ห์ ประธานกลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพบ้านตะเคียนทอง กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอวังจันทร์มีการปลูกผลไม้และไม้ยืนต้น เป็นจำนวนมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงรักษา ทำให้สภาพดินเกิดการเสื่อมโทรม
“จากการตรวจวิเคราะห์ดินทำให้ทราบว่าดินมีสภาพเป็นกรด ขาดอินทรียวัตถุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงในขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เกษตรกรจึงมีความต้องการผลิตปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการเกษตร โดยมองว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถลดต้นทุนการผลิตลงจากการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มผลผลิตต่อไร่โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่ไปกับปุ๋ยเคมี ส่งผลให้ดินมีสภาพที่ดีขึ้น มีความสมบูรณ์ ผลผลิตมีคุณภาพ พืชผลทางการเกษตรทนทานต่อโรคและแมลงมากขึ้น”
นอกจากจะผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกในกลุ่มแล้ว โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์หมักชีวภาพของกลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพบ้านตะเคียนทอง ยังผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรในชุมชนวังจันทร์และชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเกิดเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกลุ่มจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว
ขณะที่ โครงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านหนองเขิน เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สร้างความพึ่งพอใจให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างมาก ด้วยเป็นโครงการที่ช่วยช่องทางทั้งด้านการผลิตและการตลาดให้กับทางกลุ่มฯ
นางกัญชลิกา เตมีประเสริฐกิจ หรือเจ๊นกหวีด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านหนองเขิน กล่าวว่า โครงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเกิดจากการต่อยอดกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านหนองเขิน ชุมชนพลงตาเอี่ยม 2 ตำบลพลงตาเอี่ยม อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งประกอบด้วย หมู่ที่ 4, 5,7 เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมเช่น ยางพารา สวนผลไม้ เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตจะออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาตกต่ำ ประกอบกับเกษตรกรไม่มีรายได้ทั้งปี จึงมีการรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นการเพิ่มการมูลค่าของผลผลิตและสร้างรายได้เสริมจากการทำการเกษตร
“เนื่องด้วยในกลุ่มสมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงหมูจึงเกิดแนวคิดแปรรูปเนื้อสัตว์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีความหลากหลายมากขึ้น โดยกิจกรรมประกอบด้วย แหนมหมู หมูฉีก หมูแผ่น และลูกชิ้นหมู ถือได้ว่าเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของชุมชน อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกและกลุ่มมีกองทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดำเนินการอื่นๆ อันจะก่อเกิดรายได้เพื่อความยั่งยืนของกลุ่มต่อไป”นางกัญชลิกา กล่าว
ที่น่าสนใจไม่น้อยคือ โครงการแปรรูปผลผลิตเกษตรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่ตำบลวังจันทร์ โดยนางสาวอภัสนัน ชุมจิตร เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่ตำบลวังจันทร์ ได้ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากในพื้นที่ตำบลวังจันทร์ มีการปลูกไม้ผลมากมายหลายชนิด เช่น มังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่จึงรวมตัวกัน ดำเนินการแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าผลผลิต แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ โดยการขายผ่านตลาดออนไลน์ สร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร เกิดเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
โดยสินค้าที่กำลังดำเนินการผลิตเพื่อจำหน่ายในขณะนี้คือ ขนุนทอดกรอบ และขนุนทอดกรอบปรุงรส ซึ่งจากที่เริ่มวางตลาดพบว่า ลูกค้าให้ความสนใจและมีการสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินงานของโครงการต่างกดังกล่าว ทำให้เห็นชัดว่า สามารถทำให้ เกิดการพัฒนาของชุมชนอย่างแท้จริง มีการบริหารจัดการตามความต้องการของชุมชน มุ่งพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรในทุกมิติ ตอบโจทย์ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองได้ในทุกๆ สถานการณ์ เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในในระดับฐานรากของระบบเกษตรกรรม สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในภาคการเกษตรต่อไป