กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป จัดสัมมนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป : ความท้าทายและโอกาสในการส่งออก (EU Organic Market : Export opportunities and challenges) โดยมี นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ และ Mr.Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นประธานเปิดการสัมมนา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการเปิดงานว่า สหภาพยุโรป ได้มีการประกาศกฎระเบียบ 2018/848 ว่าด้วยการผลิตและการติดฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎระเบียบ 834/2007 เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตภายในสหภาพยุโรป หรือนำเข้าจากประเทศที่มิใช่สมาชิกสหภาพยุโรป (หรือเรียกว่า ประเทศที่ ๓) ดังนั้น ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ค้า หน่วยรับรอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของประเทศไทยนั้น จะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบฉบับใหม่ ในการปรับตัว เช่น ปรับปรุงระบบการผลิต ระบบการตรวจสอบและรับรอง เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องตามกฎระเบียบฉบับใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงจัดสัมมนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป : ความท้าทายและโอกาสในการส่งออก (EU Organic Market : Export opportunities and challenges) ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทยและสหภาพยุโรป และกฎระเบียบของอียูเรื่องการผลิตเกษตรอินทรีย์และการติดฉลากสินค้าอินทรีย์ฉบับใหม่ และเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบอียูฉบับใหม่ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสินค้าและสร้างโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยไปอียู
ด้าน นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า กฎระเบียบฉบับใหม่นี้ กำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงความเท่าเทียมทางการค้าระหว่างประเทศผู้ส่งออก และสหภาพยุโรป โดยเน้นประเทศที่อยู่ในทะเบียนรายชื่อประเทศที่ ๓ เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้นก่อน ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าว จึงได้ร่วมกันเตรียมความพร้อม และดำเนินการสมัครขอขึ้นทะเบียนรายชื่อประเทศที่ ๓ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะมีการหารือกับผู้แทน ด้านการพัฒนาชนบทและการเกษตร (Directorate-General for Agriculture and Rural Development : DG-AGRI) เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนต่อไป
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า การขึ้นทะเบียนรายชื่อประเทศที่ ๓ นั้น ประเทศผู้ส่งออก เช่น ประเทศไทย ต้องได้รับการประเมินมาตรฐาน มกษ.เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และระบบการตรวจสอบรับรองของประเทศไทย ว่าเทียบเท่าและยอมรับได้ตามกฎระเบียบสหภาพยุโรปด้านเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเมื่อประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อประเทศที่ ๓ แล้ว เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย จะต้องดำเนินการตามมาตรฐาน มกษ. เกษตรอินทรีย์ หากได้รับการรับรองมาตรฐาน มกษ.แล้ว จะสามารถใช้ใบรับรองมาตรฐาน มกษ. เกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งออกไปสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรป จะยอมรับใบรับรองดังกล่าว ซึ่งเป็นการลดความซ้ำซ้อน และความยุ่งยากในการปฏิบัติตามมาตรฐานหลายฉบับ ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรฐาน มกษ. เกษตรอินทรีย์ ฉบับเดียวนี้ สามารถใช้ในการรับรองเพื่อการส่งออกสหภาพยุโรปได้…