นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางยุทธศาสตร์การดำเนินงานในปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ตามวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้ คือ “ภายในปี ๒๕๖๔ สหกรณ์และเกษตรกรมีระบบบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้” โดยยังคงขับเคลื่อนงานตามภารกิจหลักในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นต่อสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร เกษตรกร และประชาชน ได้นำระบบบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการสู่ความสำเร็จ มีระบบบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีที่โปร่งใสและเข้มแข็ง โดยมีภารกิจหนึ่งที่สำคัญ คือ การตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เป็นมาตรฐานสากล และกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเหตุที่เป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์ที่ปัจจุบันมีอยู่ ๑๒.๗ ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบันกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นผู้สอบบัญชีในสหกรณ์ภาคการเกษตรทั้งหมด สำหรับสหกรณ์นอกภาคการเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและมีผลการจัดชั้นคุณภาพสหกรณ์ในระดับดีขึ้นไป สามารถใช้ผู้สอบบัญชีภาคเอกชนดำเนินการแทนได้ โดยกรมฯ จะเป็นผู้กำกับหรือผู้ควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี พิจารณาจากการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ว่าถูกต้องตามกฎระเบียบและข้อบังคับของสหกรณ์หรือไม่ การจัดการภายในของสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินการในรอบปีมีการดำเนินการลงบัญชีและงบการเงินถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งการดำเนินธุรกิจเหล่านั้นมีผลประกอบการสุทธิเป็นอย่างไร ทำแล้วเกิดความคุ้มค่าหรือไม่ เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการตรวจสอบบัญชีอย่างโปร่งใส ตามมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี สามารถใช้ประโยชน์จากผลการตรวจสอบบัญชีและข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีไปปรับปรุงการบริหารจัดการและอำนวยประโยชน์แก่มวลสมาชิกโดยรวม
ทั้งนี้ ในปัจจุบันสหกรณ์มีการดำเนินธุรกิจและการทำธุรกรรมทางการเงินขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีความซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการบริหารจัดการสหกรณ์มากขึ้น ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้พัฒนางานระบบบัญชีและกลไกที่จะส่งเสริมระบบบัญชีให้มีความทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และเท่าทันกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และสร้างความเข้มแข็งให้บุคลากรจะเข้าไปปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบมาตรฐานการบัญชีสหกรณ์อย่างรู้เท่าทัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่สมาชิกในการทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงินกับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยกรมฯ ได้ผลักดันการวางระบบบัญชีสหกรณ์ โดยใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (FAS) และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สารสนเทศทางการเงินการบัญชีในการบริหารจัดการของสหกรณ์ อาทิ ระบบ Smart Monitor เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสหกรณ์ โดยติดตามความเคลื่อนไหวข้อมูลสหกรณ์จากระบบข้อมูล เพื่อการเตือนภัยทางการเงินสหกรณ์ ระบบ Smart Manage เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจของผู้บริหารสหกรณ์ในการบริหารจัดการสหกรณ์ และระบบ Smart Member เพื่อให้สมาชิกสามารถตรวจสอบข้อมูลฐานะทางการเงินและธุรกรรมของตนเองผ่านระบบสอบถามข้อมูลสมาชิกเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสหกรณ์ให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นต้น
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากงานสอบบัญชีซึ่งเป็นภารกิจหลักแล้ว กรมฯ ยังได้ขับเคลื่อนงานสอนบัญชีควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชี และเกษตรกรมีการใช้ข้อมูลทางบัญชีเพื่อพัฒนาอาชีพ โดยส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพให้กับเกษตรกรในโครงการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำบัญชีได้ ใช้ข้อมูลเป็น รู้ถึงความเป็นไปของตนเอง รู้สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ รู้เวลาที่เหมาะสม เกิดการปรับตัวสู่อนาคต เลือกทำในสิ่งที่ตนเองถนัดและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่มากที่สุด โดยนำข้อมูลทางบัญชีไปวางแผนในการดำเนินชีวิต การลงทุน การผลิตได้อย่างสมดุลตามกำลังของตนเองและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการทำบัญชีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ใช้บัญชีเป็นคู่มือในการดำเนินชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชีจะส่งผลให้เกิดช่องทางในการออมและเพิ่มรายได้ เป็นการสร้างวินัยให้ตนเองและครอบครัว นำไปสู่ความสุขที่เกิดจากความพอเพียงในชีวิต