กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดตามความคืบหน้าผลปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่เริ่มได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติภารกิจ
วันที่ 4 ตุลาคม 2561 เวลา 13.30 น. ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง โดยมีนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงนครราชสีมา กองบิน 1 อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วงในพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานเริ่มได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง อีกทั้งได้รับแจ้งจากเกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวงที่มีการร้องขอฝนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว รวมถึงมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้มอบแนวทางการดำเนินงานเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ โดยกำชับ ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด และทำฝนเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักบินฝนหลวง และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในทุกภารกิจด้วยความตั้งใจอย่างเต็มความสามารถ
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม – 2 ตุลาคม 2561 ได้ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 202 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 95.24 ขึ้นปฏิบัติงานจำนวน 3,816 เที่ยวบิน (5,613:50 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 3,211.43 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 1,809 นัด พลุแคลเซียมคลอไรด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 74 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด
สำหรับปฏิบัติการเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำต่างๆ ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดทำแผนการคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน/อ่างเก็บน้ำจากการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงระหว่างวันที่ 20 กันยายน – 31 ตุลาคม 2561 เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำและเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ จำนวน 15 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ่างเก็บน้ำแม่มอก อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำปลายมาศ เขื่อนลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน โดยมีเป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำทั้งสิ้น 150 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ จากการปฏิบัติการเพื่อเติมน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 20 กันยายน – 2 ตุลาคม 2561 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน/อ่างเก็บน้ำต่างๆ แล้ว รวมทั้งสิ้น 57.571 ล้าน ลบ.ม. ดังนี้
ตารางสรุปปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนฯ/อ่างฯ จำนวน 15 เขื่อนฯ/อ่างฯ ระหว่างวันที่ 20 กันยายน – 2 ตุลาคม 2561
ภาค | เขื่อนฯ/อ่างเก็บน้ำ | ข้อมูลระหว่างวันที่ 20 ก.ย. – 2 ต.ค. 2561 |
||
ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน/อ่างฯ (ล้าน ลบ.ม.) |
จำนวนวันปฏิบัติการ (วัน) | |||
เหนือ | เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ | 2.700 | 6 | |
อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง | 1.420 | 8 | ||
กลาง | อ่างห้วยน้ำลาด จ.นครสวรรค์ | 0.100 | 2 | |
อ่างคลองโพธิ์ จ.นครสวรรค์ | 3.678 | 11 | ||
อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี | 4.030 | 11 | ||
เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี | 6.510 | 10 | ||
ตะวันออกเฉียงเหนือ | เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี | 0.000 | 0 | |
เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น | 25.530 | 7 | ||
เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ | 0.570 | 3 | ||
เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา | 3.290 | 4 | ||
เขื่อนลำมูลบน จ.นครราชสีมา | 2.120 | 6 | ||
เขื่อนลำปลายมาศ จ.นครราชสีมา | 0.540 | 2 | ||
เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา | 3.350 | 4 | ||
ตะวันออก | อ่างห้วยยาง จ.สระแก้ว | 1.774 | 9 | |
อ่างห้วยตะเคียน จ.สระแก้ว | 0.114 | 9 | ||
57.571 |
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำต่างๆ ในหลายพื้นที่ จากพื้นที่เป้าหมายเดิมจำนวน 15 แห่ง เป็นจำนวน 104 แห่งทั่วประเทศ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวง โดยยังคงให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 9 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก กาญจนบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ และสระแก้ว ตั้งหน่วยเพื่อเตรียมความพร้อมติดตามสถานการณ์และสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดทุกวัน เพื่อติดตามความต้องการน้ำและดูแลพื้นที่
การเกษตรทั้ง 4 ภาคที่ยังได้รับปริมาณน้ำไม่เพียงพอ รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่ยังมีปริมาณน้ำน้อย ทั้งนี้ จากการปฏิบัติการเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 20 กันยายน – 2 ตุลาคม 2561 สามารถปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 เทียบกับระดับน้ำเก็บกักของอ่าง จำนวน 11 แห่ง รวมทั้งสิ้น 2.537 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 30-60 เทียบกับระดับน้ำเก็บกักของอ่าง จำนวน 23 แห่ง รวมทั้งสิ้น 4.500 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรตามการร้องขออย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ แม้ว่าสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวนจะทำให้โอกาสในการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นไปได้ยาก แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนจะปฏิบัติภารกิจด้วยความตั้งใจอย่างเต็มความสามารถทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย โดยประชาชนและเกษตรกรสามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวง
ได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องได้ทาง เว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และการรายงานข่าวการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย