เรื่อง : ธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ
ข่าว ธ.ก.ส. เกษตรก้าวไกล–“ผักตบชวา หรือที่แถวบ้านเรียกว่าผักปอด เมื่อตอนที่ทำใหม่ๆ ใคร ๆ ที่เห็นก็บอกว่า ใครจะซื้อ” นางปราณี จันทวร หรือ “ป้าปราณี” วัย 70 ปี ในฐานะประธานกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น ตำบลคลองวัว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง โทร. 08-6766-6982 ย้อนอดีตถึงวันเริ่มต้น เพราะต้องการที่จะหารายได้เสริม จากที่ทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก แต่บ่อยครั้งได้ประสบปัญหาภัยทางธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนในหม่บ้าน
“พอดีว่าในหมู่บ้านของเรามีภูมิปัญญาในเรื่องการจะการจักสานอยู่แล้ว จึงเริ่มต้นด้วยการจักสานงานไม้ไผ่ และต่อมาได้เปลี่ยนมาทำเครื่องจักสานจากผักตบชวา โดยทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เข้ามาให้การอบรมเกี่ยวกับการจักรสานผักตบชวา ซึ่งในเขตบ้านบางตาแผ่นนั้นตามลำน้ำจะมีผักตบชวามาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการกีดขวางทางน้ำ”
กลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2532 ด้วยจำนวนสมาชิกเริ่มต้น 14 คน ต่อมาในปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก แรงงานในภาคอุตสาหกรรมถูกเลิกจ้าง และคนในหมู่บ้านเฉพาะคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวที่ไปทำงานในเมืองใหญ่จึงพากันกลับบ้าน ป้าปรานีจึงชักชวนให้ทุกคนเข้ามารวมกลุ่มเป็นกลุ่มจักสานผักชวา มีสมาชิกเพิ่มเป็น 93 คน อีกทั้งยังได้มีการขยายเป็นเครือข่ายอีก 5 กลุ่ม ทั้งในอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐม สุพรรณบุรี และชัยนาท รวมสมาชิกเครือข่ายทั้งหมดแล้วจะมีมากกว่า 700 คน
“ใครจะมาบอกว่าผักปอดหรือผักตบชวานั้นไม่มีค่า ไม่จริง เพราะสามารถนำมาทำประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะทำจักรสาน ทำปุ๋ยหมัก หรือนำไปเพาะเห็ด หรือนำมาผลิตเป็นกระดาษสา เครื่องใช้ต่าง ๆ ก็ได้ ผักตบชวาสามารถนำมาทำได้ทุกอย่าง” ป้าปราณี กล่าว
ด้วยฝีมือและแนวคิดในการต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การสนับสนุนของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. สาขาอ่างทอง ทำให้ในปัจจุบันกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น มีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากผักตบชวา เช่น กระเป๋า หมวก รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ กล่องใส่สิ่งของ ผลิตสานเพื่อใส่ผลผลิตต่าง ๆ มากกว่า 100 แบบ และที่สำคัญมีออร์เดอร์การสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องตลอดทั้งปี ในหลักหมื่นชิ้นขึ้นไป
“ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือ อย่างธ.ก.ส.อ่างทอง ก็เข้ามาช่วยในเรื่องของการสนับสนับสนุนด้านเงินทุน เพราะการนำไปส่งจำหน่ายให้กับห้างหรือที่อื่น ๆ เราต้องมีการให้เครดิตในการเก็บเงิน ดังนั้นจึงต้องมีทุนมาสำรอง ซึ่งเรื่องนี้ ธ.ก.ส.ได้เข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมถึงกาช่วยประชาสัมพันธ์หาตลาด จนทำให้เราสามารถก้าวเดินมาได้ถึงวันนี้”
ทั้งนี้ นายอาชวิน เพ็งคำ พนักงานพัฒนาลูกค้า สำนักงาน ธ.ก.ส. อ่างทอง ซึ่งได้เป็นผู้นำทาง “เกษตรก้าวไกล” ให้มาพบกับป้าปราณี กล่าวเสริมว่า ในส่วนของ ธ.ก.ส. นั้นมีนโยบายที่สำคัญประการหนึ่งคือ การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน รวมถึงการพัฒนาทั้งด้านระบบการทำบัญชี การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงด้านการตลาดอีกด้วย เพื่อให้กลุ่มสามารถถก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญ และอาจเป็นบทเรียนให้ผู้สนใจได้นำไปปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจ นั่นคือ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม
“เราในฐานะผู้นำกลุ่มต้องเป็นหลักในการช่วยพัฒนากลุ่ม นอกจากต้องเสียสละเพื่อส่วนรวมแล้ว เราต้องมีหลักการทำงานที่ทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งป้าใช้หลักการที่ว่า ต้องดูคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น”
“อย่างเรื่องของฝีมือการทำ เราพบว่า แต่ละคนนั้นมีความถนัดในการจักสานผักตบชวาไม่เท่ากัน บางคนทำสวย บางคนทำไม่สวย ทำให้มีปัญหาในเรื่องคุณภาพของสิ่งค้า การแก้ไขของเรา คือ จัดกลุ่มงานให้ตรงกับความถนัดของสมาชิกแต่ละคน เรามานั่งคุยนั่งดูกันเลยว่า คนไหนทำจักสานผักตบชวาได้ในระดับไหน”
“เรียกว่า เปลี่ยนหน้าที่กันทำใหม่ อย่างที่คนที่จักสานไม่สวยเลย เราก็เปลี่ยนให้ทำหน้าที่เป็นเก็บผักตบชวาตากแห้งมาขายให้กับทางกลุ่ม สำหรับคนที่พอทำพอได้บ้างก็เปลี่ยนไปทำหน้าที่ถักเปียถักเกลียวมาส่ง ส่วนที่เหลือประมาณ 30 คน ทำได้สวยก็จักรสานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไป แบบนี้ส่งผลทำให้มีรายได้ทุกคน” ป้าปราณี กล่าว
ในส่วนของรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ป้าปราณีบอกว่า จะใช้วิธีรับฟังข้อแนะนำจากทุกคนที่เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ
“เราทำตัวเป็นคนแก่ที่ไม่ดื้อ เปิดรับฟังความคิดของทุกคน อย่างลูกหลานไปเดินห้างแล้วเห็นกระเป๋าสวยๆ เขาก็เอามาบอกให้เราลองผลิตลองพัฒนาดู เราก็ทำตาม ทำให้มีรูปแบบของสินค้าที่หลากหลายและสวยงามมากขึ้น”
ป้าปราณี กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องความสวยงามของผลิตภัณฑ์ ในเรื่องของความปราณีต ฝีมือ ครบแล้ว แต่สีสันของผลิตภัณฑ์ยังเป็นเพียงสีน้ำตาลแบบธรรมชาติ ลูกค้าบอกควรจะมีสีสันอื่นผสมบ้าง เราก็ไปขอรับความรู้เกี่ยวกับการย้อมสีผักตบชวามา ทำให้ผลิตภัณฑ์มีสีสันสวยงามตามที่ลูกค้าต้องการ
จากข้อมูลที่ป้าปราณีได้บอกเล่าทำให้ได้ข้อสรุปว่า ความสำเร็จในวันนี้นั้น ที่สำคัญนอกจากมาจากการความร่วมมือร่วมใจของกรรมการและสมาชิกแล้ว คุณภาพ คืออีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่กลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น ยึดมั่นและถือเป็นหลักการที่สำคัญ
“ในเรื่องของคุณภาพเราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าสั่งเข้ามา เราจะมี QC ตรวจสอบสินค้าในระหว่างการผลิตทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามมตรฐานที่กำหนดของลูกค้า อย่างมีลูกค้าสั่งกระเป๋าสานจากผักตบวามา 1,000 ใบ เราจะเรียกสมิกที่เป็นฝ่ายจักสานทั้งหมดมาประชุมเพื่อเรียนรู้ว่ากระเป๋าต้องทำแบบนี้ พอทุกคนเรียนรู้แบบทำได้หมด เราก็ปล่อยให้ทุกคนกลับไปทำที่บ้าน ซึ่งระหว่างนั้นจะมี QC เข้าไปตรวจสอบว่า ทำได้เหมือนตามแบบที่สั่งหรือไม่ เราตรวจกันละเอียดเลย กว่าจะส่งให้ลูกค้า”
ขณะที่ด้านการตลาด ป้าปราณีบอกว่า ได้พัฒนาระบบการจำหน่ายมาตลอด ซึ่งวันนี้กลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น ได้เข้ามาสู่รุ่นที่ 3 แล้ว โดยจากเริ่มแรกในรุ่นของพ่อแม่ที่เริ่มต้น และทำการตลาดด้วยการนำไปวางจำหน่ายเองตามงานที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ จัดขึ้น เรียกว่าใครจัดงานที่ไหนก็เอาของไปขายกัน
“จนมารุ่นลูกของป้า ซึ่งนับเป็นรุ่นที่ 2 เริ่มทำตลาดด้วยการนำไปเสนอตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้มีออร์เดอร์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงวันนี้เข้ารุ่นที่ 3 ซึ่งได้เรียนจบในระดับปริญญาตรีแล้ว และได้เข้ามาช่วยงานของกลุ่ม ทั้งด้านการผลิตและการทำตลาดแบบออนไลน์เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง”
“ดังนั้นหากวันนี้ใครที่อยากมีอาชีพมีรายได้ ป้าขอฝากไว้เพียงว่า “อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา” เพียงเท่านี้ก็จะสำเร็จได้แน่นอน” ป้าปราณี กล่าวในที่สุด
>>Live เปิดใจป้าปราณี จักสานผักตบชวาอย่างไรให้สำเร็จ? https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/2258006671101813/