ทีมข่าว “เกษตรก้าวไกล” ออกเดินทางตามโครงการ “เกษตรคือประเทศไทย…เกษตรกรอยู่ที่ไหนเราอยู่ที่นั่น” นับตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องมาจนถึงปลายเดือนกันยายน 2561 ภารกิจของเรานอกจากจะทำข่าวเก็บข้อมูลอาชีพการเกษตร สัมภาษณ์เกษตร ดูว่าปลูกอะไร เลี้ยงอะไรแล้ว เรายังดูเรื่องน้ำ “น้ำที่ใช้มาจากไหนครับ” “น้ำพอเพียงไหมครับ”…ถามอยู่แบบนี้ทุกสวนทุกฟาร์มที่เราไป
เมื่อถามถึงเรื่องน้ำเกษตรกรทุกคนน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙…ไม่ว่าจะเป็นแปลงเกษตรแบบไร่นาสวนผสม หรือว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือว่าแปลงเกษตรน้อยใหญ่…น้ำคือหัวใจ ไม่มีน้ำอยู่ไม่ได้จริง ๆ
“…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…” คือพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙
จากเหนือจรดใต้ เราได้ค้นพบแหล่งน้ำของเกษตรกรคนแล้วคนเล่า และได้บันทึกภาพเอาไว้ อาจจะไม่ได้ครบทั้งหมด แต่ก็พอที่จะนำมาเป็นตัวอย่างให้บอกเล่าถึงความสำคัญของน้ำ…
น้ำเทวดาเพื่อทุเรียนลับแล
ณ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่นั่นเกษตรกรปลูกทุเรียนหลง-หลิน ลับแล และหมอนทองบนที่ลาดเชิงภูเขา…ทุเรียนเป็นพืชที่ขาดน้ำไม่ได้ แต่เกษตรกรก็แสนจะพยายามหาโอ่งมารองรับน้ำไว้ หาสังกะสีมาเป็นทางเดินให้น้ำลงไปรวมอยู่ในโอ่ง กว่าจะได้น้ำสักหยดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เกษตรกรบางรายที่มีสวนขนาดใหญ่หน่อยก็ทำเป็นแท้งค์น้ำขึ้นมา อย่างเช่นที่สวนของคุณเรียม หรือคุณกำพล คำมงคล เราสังเกตดูมีทั้งโอ่งน้ำวางเรียงราย และมีแท้งค์น้ำปูนซีเมนต์ที่สร้างขึ้นมา เพื่อรองรับน้ำฝนเป็นด้านหลัก…
“ทุเรียนที่นี่ยังต้องหวังพึ่งน้ำจากเทวดา” คุณเรียมบอกกับเราอย่างอารมณ์ดี มือนั้นชี้ขึ้นไปบนฟ้า
ในเรื่องน้ำของตำบลแม่พูล อำเภอลับแล ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาและปลูกไม้ผลกันมาก เราได้รับฟังจากปาก คุณสุชาติ ปินจันทร์ สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ จ.อุตรดิตถ์ (ประธานด้านไม้ผลสภาเกษตรกรแห่งชาติ จ.อุตรดิตถ์ และเป็นแกนนำที่ผลักดันเรื่องฝายหลวงชะลอน้ำในพื้นที่) และในฐานะที่เป็นผู้นำทางให้เรามาพบกับคุณเรียม เล่าให้ฟังว่าน้ำที่เก็บไว้ในโอ่งและในแท้งค์นั้นไว้ใช้เพื่อรดทุเรียนต้นเล็กเท่านั้น
“ทุเรียนต้นใหญ่เราไม่มีสิทธิ์รดน้ำเลย…” คุณสุชาติ บอกกับเรา เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะน้ำมีไม่พอเพียงนั่นเอง
วิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งน้ำนั้น อย่างที่ง่ายสุดคือหาโอ่งซีเมนต์มาตั้งไว้จุดละ 2-3 ใบขึ้นไป และเอาสังกะสีมาทำเป็นรางรับน้ำจากฟ้า และใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็ลงทุนทำเป็นเพิงสังกะสีหรือทำเป็นหลังคาขึ้นมา และนำโอ่งหลายๆใบมารองรับน้ำฝนที่ไหลลงมาจากหลังคา ซึ่งเราได้เห็นภาพนี้หลายจุดในสวนทุเรียนใกล้ๆสวนคุณเรียม โดยเฉพาะจุดหนึ่งทำเป็นล่ำเป็นสันเราจึงจอดรถลงมาถ่ายคลิปในเวลาอันรวดเร็ว(ตามคลิปที่เห็น) เราสังเกตเห็นที่ก้นโอ่งจะต่อท่อแป๊บน้ำสีฟ้าให้เชื่อมถึงกันทุกโอ่งและต่อท่อน้ำลงไปที่โคนต้นทุเรียนแบบที่เรียกว่า “กาลักน้ำ” …
“น้ำที่เห็นเกษตรกรเก็บไว้ในโอ่งนี้มันไม่พอเพียงแต่ก็พอช่วยได้บ้าง ตอนนี้เราก็ได้สร้างฝายหลวงชะลอน้ำตามร่องน้ำภูเขา แต่ก็ทำได้ยังไม่เยอะ เกษตรกรยังต้องพึ่งน้ำฝนเป็นหลัก” คุณสุชาติ บอกกับเรา และบอกต่อว่าหากน้ำสมบูรณ์และพอเพียงจะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตและรายได้เพิ่มมากขึ้น
“น้ำคือชีวิต…น้ำคือทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนที่ในหลวงได้มีพระราชดำรัสและพระองค์ทรงเพียรพยายามตลอดมา” เราสรุปตรงกันว่าจะต้องทำเรื่องน้ำเพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน
หลังจากนี้เป็นต้นไป (ถือฤกษ์ตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2561) เราจะนำเสนอเรื่องน้ำตามที่ได้ไปเก็บข้อมูลเบื้องต้นมาจากแปลงของเกษตรกรเป็นระยะ ๆ ในขณะเดียวกันเราก็จะชักชวนหรือประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องน้ำมาช่วยกันให้ข้อมูล “น้ำเพื่อการเกษตร” “ขาดน้ำเราอยู่ไม่ได้” “KASET WATER” คำเหล่านี้วนเวียนอยู่ในความคิดของเรา…โปรดมาร่วมมือกันและไปด้วยกันกับเรานะครับ