เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ
ข่าว ธ.ก.ส. เกษตรก้าวไกล–“เมื่อ 2 ปีก่อนได้ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน กลับมาเดินตามในสิ่งที่พ่อกับแม่ทำไว้ให้ ภายใต้ความตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอดให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม”
คุณวิไลวรรณ เหมือนทิพย์ หรือที่คนใกล้ตัวต่างเรียกว่า “จุ๋ม” เกษตรกรเจ้าของฟาร์มเห็ดแม่พา ตั้งอยู่เลขที่ 5/1 หมู่ 4 ตำบลป่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง โทร. 09-7242-7842 บอกล่าวถึงการเริ่มต้นของชีวิตเกษตรกร หลังจากที่ได้เรียนจบในระดับปริญญาโท.จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และทำงานที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรหรือ อตก.ที่กรุงเทพมหานครอยู่พักหนึ่ง ก่อนตัดสินใจเดินทางกลับมาอยู่ยังบ้านเกิดที่จังหวัดอ่างทอง
“จุดเดียวเลยที่ตัดสินใจ คือ อยากกลับมาดูแลพ่อกับแม่ ซึ่งแม่นั้นเป็นคนเริ่มต้นอาชีพการเพาะเห็ด และนำรายได้เห็ดมาเลี้ยงดูลูก ๆ ทั้ง 3 คน จนจบการศึกษา ส่วนพ่อนั้นพิการ เนื่องจากประสบอุบัติเหตุตกต้นมะม่วง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว และต้องอยู่บ้านเฉยๆ ทำงานไม่ได้”
“มาช่วงหลังนี้พ่อกับแม่มีอายุมากขึ้น ทำอะไรไม่สะดวกเหมือนเดิม พอเราได้มาอยู่มาดูแลพ่อกับแม่ที่เรารักมากที่สุดแล้ว ตอนนี้รู้สึกมีความสุขมาก”

การกลับมาอยู่บ้านของคุณจุ๋ม มาพร้อมกับแผนการพัฒนาเพื่อต่อยอดอาชีพการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานที่ผู้เป็นแม่ได้วางฐานไว้มาหลายหลายสิบปี
โดยหนึ่งในแผนที่สำคัญและได้ดำเนินการเมื่อไม่นานนี้ คือ การเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ.61) ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.

ทั้งนี้ นายอาชวิน เพ็งคำ พนักงานพัฒนาลูกค้า ธ.ก.ส.อ่างทอง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ.61) เป็นนโยบายที่ทำขึ้นเพื่อการลดปัญหาการผลิตการเกษตรที่มีพื้นที่การถือครองขนาดเล็ก ผลิตในลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ต้นทุนการผลิตสูง ขาดอำนาจต่อรอง ขาดการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) รวมทั้งปัญหาการเข้าไม่ถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยี

โดยโครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ.61) นี้ทางธ.ก.ส.ได้เน้นส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิต และการบริหารจัดการร่วมกัน ทำการผลิตโดยไม่ต้องรับความเสี่ยงด้านการตลาด และมีระบบการแบ่งผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ซึ่งผู้รับจ้างจะได้รับผลตอบแทนในรูปของค่าเช่า(X) ค่าแรงงาน(Y) และเงินปันส่วน(Z) จากการจำหน่ายผลผลิต
โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ.61) มีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด ภายใต้วงเงินสินเชื่อรวม 45,000 ล้านบาท
จาการเข้าร่วมโครงการ XYZ.61 ของคุณจุ๋มในครั้งนี้ได้ยังประโยชน์ให้กับการดำเนินธุรกิจฟาร์มเห็ดแม่พาเป็นอย่างมาก เพราะช่วยทำให้ฐานการผลิตทั้งด้านก้อนเชื้อเห็ด และดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานของฟาร์มสามารถขยายตัวได้เพิ่มมากขึ้น ส่งให้มีปริมาณของก้อนเชื้อเห็ด และดอกเห็ดเพียงพอกับการส่งให้กับลูกค้าที่มีปริมาณความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ทางฟาร์มของเรา นอกจากจะมีเฟสบุ๊คของฟาร์มแล้ว ยังได้เข้าร่วมในกลุ่มไลน์กับผู้เพาะเห็ดอื่น ๆ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งด้านการผลิตและการตลาด จึงทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นจากเดิม มีออร์เดอร์สั่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของก้อนเอเห็ดและดอกเห็ดนางฟ้า” คุณจุ๋ม กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับสนนราคาจำหน่ายก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฐานของฟาร์มเห็ดแม่พาอยู่ก้อนละ 8 – 10 บาท ส่วนดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท

“เพราะเราเน้นในเรื่องของคุณภาพเป็นหลัก ดังนั้นในด้านการผลิตทุกขั้นตอนเราจึงมีมาตรฐานกำหนดไว้เลยว่า ต้องดีในระดับไหน อย่างการทำก้อนเชื้อเห็ดก็ต้องแน่น เชื้อเดินดีแล้ว จึงจะส่งไปให้กับลูกค้าเพื่อนำไปเพาะเก็บดอกจำหน่าย”

“เรียกได้ว่า ทุกอย่างที่ออกจากฟาร์มต้องสร้างความพึ่งพอใจให้กับลูกค้า ตรงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สามารถก้าวได้เร็วขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้”
ซึ่งในวันนี้ด้วยการเน้นในเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ ลูกค้าจึงช่วยบอกต่อกันแบบปากต่อปาก ซึ่งนำมาซึ่งรายได้ที่ดีกว่าการเป็นพนักงานกินเงินเดือนเหมือนเมื่อในอดีต
“เป้าหมายต่อไปที่จะดำเนินการ คือการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าเห็ดที่เราเพาะเลี้ยง ซึ่งต่อไปใครอยากรับประทานลูกชิ้นเห็ดนางฟ้า ให้มาที่ฟาร์มของเราได้เลย รับรองอร่อยสุดๆแน่นอน พร้อมกันนี้จะขยายไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ผู้สนใจได้มาเที่ยวชมกระบวนการเพาะเห็ด มาชมบรรยากาศของฟาร์มเห็ด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง” คุณจุ๋ม กล่าว

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดี ๆ ที่น่าสนใจของจังหวัดอ่างทอง ที่พร้อมเปิดรับผู้สนใจทุกคนให้ไปเยี่ยมชม…เจ้าของฟาร์มเห็ดแม่พาฝากมาบอกว่าพร้อมต้อนรับทุกคนเสมอ และที่น่าสนใจอีกประการนอกเหนือจากผลผลิตเห็ดนางฟ้าภูฐานคุณภาพน่ารับประทานแล้ว ที่ฟาร์มเห็ดแม่พายังมีผลผลิตจากสวนที่ปลูกในระบบปลอดภัยจากสารพิษจำหน่ายให้กับผู้มาเยี่ยมชมด้วย ไม่ว่า กล้วยหักมุก ฟักแฝง ผักบุ้ง มะดัน และอื่นๆอีกมากมาย จำหน่ายแบบในราคากันเอง ด้วยเป็นผลผลิตที่สมาชิกของฟาร์มเห็ดแม่พาได้ปลูกไว้ในบริเวณสวนข้างบ้าน จึงทั้งปลอดภัยและราคาถูกมาก
ฟาร์มเห็ดแม่พา จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าแวะ เพื่อ ชิม ชอป แชะ ได้อย่างสุขใจเลยทีเดียว…

>>LIVE ฟาร์มเห็ดแม่พา จ.อ่างทอง
https://web.facebook.com/kasetkaoklai/videos/154598012141355/