การเดินทางภายใต้โครงการ “เกษตรคือประเทศไทย-เกษตรกรอยู่ที่ไหนเราอยู่ที่นั่น” มาถึงสวนทุเรียนหลง-หลินลับแลของคุณกำพล คำมงคล หรือ “คุณเรียม” ในตอนสายๆ…ทางผู้นำทางของเราคือ คุณสุชาติ ปินจันทร์ นับว่ารู้เรื่องทุเรียนและไม้ผลต่าง ๆ ของพื้นที่นี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นประธานคณะทำงานด้านไม้ผลของสภาเกษตรกรแห่งชาติ จังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นผู้ผลักดันการทำฝายหลวงชะลอน้ำเพื่อการเกษตร
หลังจากเดินชมสวนทุเรียนเสร็จเราก็ถามเรื่องระบบน้ำ สงสัยว่าทุเรียนที่ปลูกบนภูเขานำน้ำจากไหนมารด เพราะทุเรียนแม้จะไม่ชอบน้ำแต่ก็ขาดน้ำไม่ได้…
“บ่อเก็บน้ำนี้เอาไว้รดทุเรียนหรือครับ” ผู้มาเยือนถามตรงหน้าขอบบ่อน้ำขนาดใหญ่กลางสวน
“ไม่ครับ…ผมเอาไว้ดับไฟป่าเพียงอย่างเดียวครับ” คุณเรียม ตอบเสียงดังฟังชัด
“อ้าว คิดว่าจะนำน้ำมารดทุเรียน” เราอุทานออกไป
“น้ำนี้ผมไม่เคยเอามาใช้รดทุเรียนเลยครับ” เจ้าของสวนย้ำ
“แล้วน้ำที่นำมารดทุเรียนละครับ มาจากไหน” เราถามต่อ
“ทุเรียนเราต้องอาศัยจากน้ำฝน รดน้ำได้เฉพาะต้นเล็กที่ปลูกใหม่ ต้นใหญ่ๆที่เห็นไม่มีสิทธิ์รด เพราะน้ำเรามีน้อยครับ” คุณเรียมอธิบาย เมื่อเห็นว่าเราสนใจ
และอธิบายต่อว่า “เราต้องปลูกทุเรียนช่วงหน้าฝน และนำน้ำในโอ่งที่รองรับน้ำจากน้ำฝนมารดได้บ้าง แต่ก็ไม่พอนะครับ”
จากการพูดคุยเราจึงแปลกใจอยู่พอสมควรที่คุณเรียมลงทุนทำบ่อใหญ่ใหญ่โตและสร้างบ้านเพื่อต้องการหลังคามาเป็นที่รับน้ำฝนโดยเฉพาะและน้ำฝนที่ว่าก็ไม่ได้นำมารดทุเรียน แต่เก็บสำรองไว้ดับไฟป่า…
ทราบว่าน้ำที่เห็นในบ่อเก็บนี้ เป็น “น้ำเทวดา” มาจากฟากฟ้า “ผมทำหลังคาไว้รองรับน้ำฝนอย่างเดียว…บ่อนี้เก็บน้ำได้ 24,000 ลิตร ทั้งหมดมี 2 บ่อครับ”
“สมัยก่อนมีไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยครับ แต่สมัยนี้ไม่ค่อยมีแล้ว…ชาวสวนทุเรียนกลัวไฟป่ากันมาก เพราะว่าทุเรียนกว่าจะปลูกได้อย่างที่เห็นต้องใช้เวลาหลายสิบปี” คุณเรียมกล่าวและบอกว่าบ่อนี้เก็บน้ำได้ 24,000 ลิตร มีทั้งหมด 2 บ่อด้วยกัน อีกบ่อเก็บน้ำได้ 25,000 ลิตร
ทางด้านคุณสุชาติ กล่าวเสริมว่า เวลานี้ชาวบ้านตื่นตัวเรื่องไฟป่ากันมาก มีการจัดเวรยามกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งการที่คุณเรียมได้ทำบ่อเก็บน้ำแบบนี้ขึ้นมาก็เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านคนอื่น ๆ ทำตาม นับเป็นสิ่งเรื่องที่ดีมาก ๆ ในขณะที่คุณเรียมบอกว่ากว่าที่จะสร้างบ่อน้ำนี้สำเร็จได้ต้องใช้เวลาเป็นปี เพราะขนส่งอิฐ หิน ปูน ขึ้นมายากลำบากนั่นเอง
อนึ่ง ทีมข่าว “เกษตรก้าวไกล” มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร (Kaset Water) ตามที่ได้ไปเก็บข้อมูลเบื้องต้นมาจากแปลงของเกษตรกรเป็นระยะ ๆ https://goo.gl/KT5NE5 ในขณะเดียวกันเราก็จะชักชวนหรือประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องน้ำมาช่วยกันให้ข้อมูล…เราทราบดีว่าการนำเสนอเรื่องน้ำเป็นเรื่องยากที่จะให้เกิดความสนใจในวงกว้าง แต่ก็จะพยายามอย่างที่สุดครับ