กรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศให้ปี 2562 เป็นปีแห่ง “Smart & Strong Together” สร้างระบบเครือข่ายเข้มแข็ง ยึดตลาดนำการผลิต พัฒนาเกษตรกรก้าวไกลไปด้วยกัน โดยมุ่งเน้นแนวทางการดำเนินงานสำคัญ 5 เรื่อง…
นายสำราญ สาราบรรณ์ ในฐานะอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรคนใหม่ (คนที่ 18) กล่าวถึง การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในปีงบประมาณ 2562 ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบมีส่วนร่วม เน้นทำงานเชิงระบบและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการทำงาน ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ เกษตรกร หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน ดังนั้น การทำงานให้สำเร็จจึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมแรงจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาช่วยเสริมสร้างให้เกิดเป็นผลงานและความสำเร็จร่วมกัน เกิดพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการทำงานในปีงบประมาณ 2562 ได้ยึดหลัก “Smart & Strong Together” ในลักษณะร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมรับประโยชน์ไปด้วยกัน โดยมุ่งเน้นแนวทางการดำเนินงานสำคัญ 5 เรื่อง คือ
1.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเร่งรัดและพัฒนาการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในจังหวัดต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน พร้อมทั้งนำรูปแบบการพัฒนาและผลสำเร็จที่เกิดขึ้นของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปต่อยอด ขยายผลในพื้นที่อื่นๆ และส่งเสริมให้เกษตรกรน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต
2.สร้างทายาทเกษตรกรและพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพให้มีความ Smart
สร้างทายาทเกษตรกรจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อสืบทอดอาชีพการเกษตร โดยสนับสนุนและจูงใจให้ลูกหลานเกษตรกรเข้ามาทำการเกษตรมากขึ้น และพัฒนาให้เป็น Young Smart Farmer เพื่อจะได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเกษตรของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเป็นผู้นำด้านการเกษตรของชุมชน มุ่งสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพในอนาคต
พัฒนา Young Smart Farmer จากแหล่งที่มาที่หลากหลาย โดยการค้นหาเกษตรกรรุ่นใหม่และสนับสนุนจูงใจให้เข้าสู่อาชีพการเกษตร เช่น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย/วิทยาลัยอาชีวศึกษา ผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นที่ต้องการคืนถิ่น มีการ “สร้าง” Young Smart Farmer ที่เริ่มต้นทำการเกษตรโดยได้รับคำแนะนำปรึกษา และการพัฒนา/บ่มเพาะจากกรมส่งเสริมการเกษตร
จัดระบบการพัฒนา Young Smart Farmer ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในฐานะที่กรมฯ เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนา ประสานและเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรรุ่นใหม่/ผู้ที่สนใจอาชีพการเกษตร กับหน่วยงานที่จะร่วมพัฒนาทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาการ และสถาบันการเงิน โดยเมื่อนึกถึง Young Smart Farmer ให้นึกถึงกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นลำดับแรก และมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย Young Smart Farmer ทุกระดับ
3.เพิ่มประสิทธิภาพกลไกขับเคลื่อนงานในพื้นที่ให้มีความ Strong
โดยใช้ระบบส่งเสริมการเกษตรเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และรองรับการดำเนินงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวทีตามระบบส่งเสริมการเกษตรในการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตร ทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การอบรม/ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ ฯลฯ รวมทั้งเป็นเวทีในการวิเคราะห์และวางแผนการทำงานร่วมกัน ตลอดจนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ สร้างการรับรู้ความเข้าใจในระบบส่งเสริมการเกษตร เพื่อขับเคลื่อนงานประจำสู่การปฏิบัติในพื้นที่
พัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายให้เข้มแข็ง เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรของชุมชน ทั้งการพัฒนาฐานเรียนรู้ หลักสูตร แปลงเรียนรู้ การให้บริการ รวมทั้งพัฒนาเกษตรต้นแบบให้มีความพร้อมในการให้บริการแก่เกษตรกรและชุมชน การผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การผลิตในระบบแปลงใหญ่ รวมทั้งการใช้ ศพก. และศูนย์เครือข่ายนำงานวิจัยที่เหมาะสมไปประยุกต์ใช้ และถ่ายทอดสู่เกษตรกรในการพัฒนายกระดับการผลิต สนับสนุนการให้บริการของ ศพก. ให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเกษตรของชุมชน เป็นจุดเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน สร้างการรับรู้เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาใช้บริการและร่วมพัฒนา ศพก. มากขึ้น
พัฒนาระบบการทำงานของแปลงใหญ่ให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้จัดการแปลง มีความรู้ ทักษะในการบริหารจัดการกลุ่ม วางแผนการผลิต การตลาด โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้กลุ่มมีความเข้มแข็งและยั่งยืน สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเองในระยะยาว โดยมีเป้าหมายการพัฒนากลุ่มและแผนธุรกิจที่ชัดเจน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 5 ด้าน คือ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ สนับสนุนองค์ความรู้/เทคโนโลยี แหล่งทุน และตลาด มีการบริหารจัดการขับเคลื่อนแปลงใหญ่ในภาพรวม
เชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ให้มีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงเครือข่าย ศพก. แปลงใหญ่ และ Young Smart Farmer ให้มีการทำงานใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และมีการนำแนวคิดใหม่ๆ มาใช้บริหารจัดการ
4.มุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในลักษณะตลาดนำการผลิตให้มีความ Strong
พัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้มีแนวคิดเชิงธุรกิจ มุ่งเน้นการผลิตเชิงคุณภาพ รู้ทันสถานการณ์การผลิต และด้านตลาดสินค้าเกษตร สามารถวางแผนและบริหารจัดการให้เกิดความสมดุล โดยยึดหลัก “ตลาดนำการผลิต” ในการทำงานส่งเสริมการเกษตร ต้องคำนึงถึงตลาดเป็นลำดับแรกก่อนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตสินค้าเกษตร พร้อมเสริมทักษะของเจ้าหน้าที่เรื่องการบริหารจัดการต้นทุน การพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการเข้าถึงตลาดต่างๆ
ส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาการผลิตและมีแนวความคิดด้านการตลาด สามารถวางแผนการผลิตและการตลาด บริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผลิตสินค้าได้ตามปริมาณและคุณภาพที่กำหนด มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มุ่งเน้นสินค้าเกษตรปลอดภัย มีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้บริโภค เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เพิ่มโอกาสทางการตลาดของสินค้าเกษตรคุณภาพ โดยส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ ตลาดเกษตรกร ธุรกิจค้าปลีก (Modern trade) ตลาด online การจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ฯลฯ การขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร สร้างภาพลักษณ์สินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น
5.เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการองค์กร และสานพลังทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร
พัฒนาศักยภาพบุคลากรและการบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อพัฒนาให้เป็น Smart Officer เป็นนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ มีทัศนคติที่ดีในการทำงานและการให้บริการเกษตรกร รู้เท่าทันสถานการณ์ ใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนางาน เน้นการทำงานเป็นทีมและสร้างเครือข่ายเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณ โดยมุ่งให้เกิดผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม
พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการทำงานและให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกร การให้บริการข้อมูลผ่าน Application ให้มีความสะดวก รวดเร็ว มีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และพร้อมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การประยุกต์ใช้ Internet of Things (IoT) ในงานส่งเสริมการเกษตรเพื่อรองรับการส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่
สานพลังทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมดำเนินการในภารกิจที่มีความเกี่ยวข้องกัน ปฏิบัติงานตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ลดความซ้ำซ้อน เกิดการระดมทรัพยากร ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด กรณีที่เกิดปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่และการดูแลเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการแก้ไข ตามบทบาทหน้าที่ของหัวหน้าทีม COO และ OT รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินงานตามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางในการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลงานวิจัยไปสู่เกษตรกร
จากแนวทางการดำเนินงานกรมส่งเสริมการเกษตร ประจำปี 2562 เชื่อมั่นได้ว่าจะทำให้เกิดพลังในการทำงานและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายสำคัญของงานส่งเสริมการเกษตรร่วมกัน คือ “เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน” นั่นเอง