เรื่อง/ภาพ : อรรถสิทธิ์ ทองร่วง สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่
กล้วยหอม นอกจากกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังประกอบไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติ 3 ชนิดคือ ซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหารรวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ หลายชนิด มีส่วนช่วยลดอาการท้องผูก โรคโลหิตจาง และยังช่วยรักษาแผลในลำไส้เรื้อรัง รักษาโรคความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยและเหมาะสำหรับผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมกระจายอยู่ทั่วประเทศ
วางแผนให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
ก่อนจะปลูกอะไรต้องหาตลาดก่อน แนวคิดของ คุณจตุพงษ์ สังข์นุ่น หรือ น้องนาน อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 9 ตำบลปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เกษตรกรหัวก้าวหน้า เล่าว่า เดิมทำสวนมะละกอเรดเลดี้มาก่อน แต่เมื่อมะละกอหมดอายุ จึงคิดหาพืชใหม่มาทดลองปลูก เพราะปลูกมะละกอในพื้นที่ซ้ำๆ ผลผลิตจะไม่ดีและมีโรคมาก สนใจปลูกกล้วยหอมทอง จึงค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต พบว่ากล้วยหอมทองเป็นพืชที่น่าสนใจ และมีสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวบรวมผลผลิตที่ได้มาตรฐานส่งขายประเทศญี่ปุ่น จึงตัดสินใจเข้าไปขอความรู้และสมัครเป็นสมาชิกปลูกกล้วย ซึ่งเป็นเวลาที่พอดีกับทางสหกรณ์กำลังมีโครงการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อให้มีผลผลิตส่งอย่างต่อเนื่อง
โดยทางสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจพื้นที่และวางระบบการผลิตให้ก่อน เริ่มแรกคุณจตุพงษ์ลองปลูก 12 ไร่ ประมาณ 5,000 ต้น ดูแลกล้วยไปตามระบบของสหกรณ์จนออกเครือและเก็บเกี่ยว ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน เก็บผลผลิตได้ 40 ตัน ส่งให้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร แบ่งเป็น 2 ราคา คือ 12.50 บาท/กก. คิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิต และราคา 17.50 บาท/กก. คิดเป็นร้อยละ 30 รวมที่ขายได้คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 560,000 บาท
คุณจตุพงษ์ เล่าว่า ตนมีพื้นที่ 21 ไร่ มะละกอเรดเลดี้ เป็นพืชทำเงินตัวแรกที่ทำให้มีเงินทุนมาขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในสวน แต่หลังจากมะละกอหมดอายุหาต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพมาปลูกต่อไม่ได้ ต้นแคระแกร็น และมีโรคมาก จึงหาพืชตัวอื่นมาปลูกแทน ลองปลูกกล้วยหอมทอง 12 ไร่ ชมพู่ทับทิมจันทร์ 4 ไร่ และแซมด้วยตะไคร้ระหว่างต้นชมพู่ มีนะนาวในวงท่อ 50 ท่อ ขุดสระเก็บน้ำประมาณ 2 ไร่ ซึ่งกล้วยหอมทองที่ทดลองปลูกปรากฏว่าได้คุณภาพตามมาตรฐานส่งออกของทางสหกรณ์ เพราะทำตามที่เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ได้แนะนำไว้ ปัจจุบันกำลังวางแผนการผลิตเพื่อให้สามารถส่งได้อย่างต่อเนื่อง และชักชวนเพื่อนและญาติมาร่วมปลูกด้วยเพื่อให้มีปริมาณและมีผลผลิตส่งในช่วงที่ของตนขาด
จตุพงษ์ บอกว่า กล้วยหอมปลูกไม่ยาก โดยก่อนปลูกกล้วยต้องมีการปรับพื้นที่ โดยเริ่มแรกไถตากหน้าดิน 3 เดือน เพื่อฆ่าเชื้อโรคในดิน จากนั้นลงหน่อกล้วยไปเรื่อยๆ พื้นที่ 1 ไร่ ใช้หน่อกล้วย 400 ต้น ปลูกระยะ 2×2 เมตร ส่วนหญ้าจะใช้วิธีการตัดหญ้า ซึ่งที่มี่จะไม่ใช้สารเคมีฆ่าหญ้า และสารกำจัดแมลง
หลังเปลี่ยนสวนมะละกอมาปลูกกล้วยหอมทอง คุณจตุพงษ์ บอกว่า แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพราะกล้วยไม่ต้องใช้สารเคมี ปลูกทิ้งไว้ ออกหวี ออกเครือ…แต่ต้องปลูกและดูแลในแบบที่สหกรณ์กำหนดทั้งใช้ปุ๋ยชีวภาพ การตัดแต่งใบ ซึ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะใบกล้วยแห้งต้องตัดออกให้หมด เพื่อป้องกันใบสีกับผลกล้วย ซึ่งจะทำให้ผิวไม่สวย กำจัดวัชพืชให้สวนโล่งโปร่ง อากาศถ่ายเทง่าย เพื่อป้องกันการเกิดเพลี้ยแป้ง…ส่วนการให้น้ำ ติดตั้งระบบสปริงเกอร์ และให้สม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง อย่าให้ขาดน้ำ ต้นจะแกร็นไม่โต และถ้าออกลูกจะมีขนาดเล็ก
ในกล้วย 1 กอ ให้เลือกเอาเฉพาะต้นสมบูรณ์ไว้เพียง 1 ต้น ถ้าไว้มาก จะเกิดการแย่งอาหารกันเอง ทำให้เครือเล็ก ผลกล้วยไม่ได้ขนาด และเมื่อกล้วยออกเครือหวีแก่ 70-75% ก็สามารถตัดขายได้
ต้นทุนการปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารเคมี พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 400 หน่อ
- ค่าเตรียมดิน 1,700 บาท
- ค่าหน่อพันธุ์ 3,200 บาท
- ค่าแรงปลูก 1,200 บาท
- ค่าน้ำมันตัดหญ้า (8 ครั้ง) 1,200 บาท
- ค่าแรงตัดหญ้า (8 ครั้ง) 400 บาท
- ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง (รดน้ำ) 3,000 บาท
- ค่าปุ๋ยคอก 2,400 บาท
- ค่าปุ๋ยเคมี 3,000 บาท
รวมต้นทุน 16,100 บาท
สรุป ต้นทุน/ต้น 40.25 บาท รวม 16,100 บาท /400 (หน่อ) กรณีต้นทุนที่ไม่มีระบบน้ำ 32.75 บาท/ต้น
การให้ปุ๋ย
- ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 เมื่อกล้วยหอมอายุ 1 เดือน ด้วย สูตร 46-0-0 หรือ 25-7-7 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 80-100 กรัม/ต้น
- ใส่ปุยครั้งที่ 2 เมื่อกล้วยหอมอายุ3 เดือน ด้วย สูตร 46-0-0 หรือ 25-7-7 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 250 กรัม/ต้น
- ใส่ปุยครั้งที่ 3 เมื่อกล้วยหอมอายุ 5 เดือน ด้วย สูตร 5-15-20 หรือสูตรใกล้เคียงอัตรา 250 กรัม/ต้น
- ใส่ปุยครั้งที่ 4 เมื่อกล้วยหอมอายุ 6-7 เดือน เพื่อบำรุงคุณภาพผลิต ด้วยสูตร 13-13-21อัตรา 50 -100 กรัม
การแต่งหน่อ หลังจากปลูกกล้วยประมาณ 3-5 เดือน ให้แต่งหน่อเพื่อให้ต้นต้นแม่มีความสมบูรณ์
การตัดแต่งทางใบ ควรตัดแต่งทางใบเมื่อกล้วยมีอายุ 3-5 เดือนตัดเฉพาะใบที่หมดอายุการใช้งานโดยเหลือไว้ไม่ตำกว่า 8-10 ใบ
การออกปลี มื่อปลูกกล้วยไปแล้วประมาณ 6-8 เดือนกล้วยจะมีลำต้นขนาดใหญ่พร้อมออกปลีโดยจะแตกใบยอดสุดท้าย ซึ่งมีขนาดสั้นและเล็กมากชูก้านใบชี้ขึ้นท้องฟ้า เรียกว่า ” ใบธง” หลังจากนั้นกล้วยจะแทงปลี กล้วยสีแดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน และกาบปลีจะบานจนสุดหวี
การตัดปลี หลังจากกล้วยออกปลีระยะหนึ่ง หวีที่อยู่ปลายเครือจะเริ่มเล็กลงและผลจะสั้นขนาดของผลไม่สม่ำเสมอกันซึ่งเรียกว่า “หวีตีนเต่า” จะตัดแต่งปลายเครือถัดจากหวีตีนเต่า 3 ชั้นเพื่อไว้สำหรับปลายเครือเมื่อถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว
การค้ำยันต้น ต้องใช้ไม้ค้ำยันหรือดามกล้วยทุกต้นที่ออกปลีแล้ว เพื่อป้องกันลำต้นล้ม และตรวจดูการค้ำยันให้อยู่ในสภาพที่มันคงแข็งแรง
การเก็บเกี่ยว หลังจากตัดปลีกล้วยออจากเครือแล้ว ประมาณ 53 วัน จะได้เนื้อกล้วยประมาณ 70-75% จึงทำการตัดกล้วยทั้งเครือแล้วนำมาหุ้มด้วยแผ่นโฟมขนาด 3 มม. เพื่อป้องกันกล้วยช้ำระหว่างการขนส่ง
หมายเหตุ ควรมีการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยชีวภาพ ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมี ทุกครั้งเพื่อลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมี
มาตรฐานกล้วยหอมทอง 1.เป็นแปลงกล้วยของสมาชิกที่ไม่ใช้สารเคมี 2. สีเนื้อของกล้วยความแก่อยู่ที่ประมาณ 70-75% 3. กล้วยที่ทำการส่งออกจะต้องมีน้ำหนักต่อลูก อย่างน้อย 110 กรัม/ลูก 4. รอยแผล ช้ำ ปานแดง และลูกลาย บนผิวกล้วยนั้นรวมแล้วไม่เกิน 20%
สำหรับท่านใดที่สนใจกล้วยหอมคุณภาพ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณจตุพงษ์ สังข์นุ่น เลขที่ 99 หมู่ที่ 9 บ้านช่องหลำ ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ โทรศัพท์ (06) 5348-8756