บ้านสวนเมล่อน อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา สวนเมล่อนขนาด 4 ไร่ ที่ใครๆ ก็ต้องมาลองชิมเมล่อนสักครั้ง ด้วยเอกลักษณ์พิเศษของสายพันธุ์เมล่อนที่มีทั้งหวานกรอบ และหวานเนื้อนุ่ม รวมถึงการปลูกที่ใส่ใจและปลอดภัยจากสารเคมี 100%
นางสาวปคุณา บุญก่อเกื้อ (แก้ว) เกษตรกรรุ่นใหม่ (YSF) เจ้าของสวน “บ้านสวนเมล่อน” ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของสวนแห่งนี้ว่า เกิดจากความต้องการปลูกเมล่อนให้สามี จึงลงมือปลูกและลองผิดลองถูกด้วยตนเองจากการเสิร์ชกูเกิลตั้งแต่การเริ่มต้นสร้างโรงเรือนจนถึงการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตเมล่อนจนกระทั่งค้นพบวิธีการสร้างโรงเรือนและการปลูกเมล่อนที่เหมาะสม ทำให้มีผลผลิตเมล่อนสำหรับขายมากขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ ขยายการปลูกเมล่อนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีทั้งหมด 17 โรงเรือนแล้วในระยะเวลาเพียง 2 ปี ทั้งนี้บ้านสวนเมล่อนไม่ได้ปลูกแค่เมล่อนเท่านั้น แต่เป็นสวนผสมผสานมีทั้งพืชผักสวนครัวและพืชอื่นๆ ที่เจ้าของสวนชื่นชอบ อาทิ ตะไคร้ ใบกระเพรา ถั่วฝักยาว มะเขือเทศราชินีเหลือง ข้าวโพดหวาน ฮอกไกโด เห็ด ฯลฯ ปลูกร่วมด้วยเสมือนว่ามีตู้เย็นธรรมชาติอยู่ในบ้าน
ในกระบวนการผลิตของสวนบ้านเมล่อนจะไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช แต่เน้นการป้องกันศัตรูพืชโดยการปลูกพืชผักในโรงเรือนและใช้สารชีวภัณฑ์ทั้งเชื้อราบิวเวอเรียและเชื้อราไตรโคเดอร์มาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ลูกค้าทุกท่านมั่นใจได้ว่าผลผลิตที่นี่ปลอดสารเคมี 100%
อย่างไรก็ตามการเป็นเกษตรกรไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณแก้ว เพราะไม่มีความรู้หรือเป็นเกษตรกรมาก่อน อีกทั้งที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นดินเค็ม น้ำเค็มทำให้ทั้งสวนต้องใช้น้ำประปารดต้นไม้ อีกทั้งเพื่อนบ้านทั้งหมดทำบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง จึงไม่ค่อยมีเกษตรกรให้คำปรึกษาในการทำเกษตร จนกระทั่งคุณแก้วตัดสินใจไปขึ้นทะเบียนเกษตรกร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านโพธิ์ จึงมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer (YSF) ช่วงกลางปี 2561 จึงทำให้พบเครือข่ายเกษตรกร YSF และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตรซึ่งกันและกัน และคุณแก้วกลายเป็นวิทยากรในการสอนเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรในจังหวัดฉะเชิงเทรา
การเป็น YSF ทำให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาแผนธุรกิจ คุณแก้วจึงได้พัฒนาสวนเมล่อนของตนเองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่กระจายรายได้สู่ชุมชน โดยมีจุดเด่นในการท่องเที่ยวคือ “โครงการกลับมาเยี่ยมลูกเมล่อน” โดยให้ลูกค้ามาจับจองเมล่อนโดยการสลักชื่อไว้ที่ผลก่อนเก็บเกี่ยวเมล่อนประมาณ 1 เดือน และทางสวนจะดูแลต่อให้จนถึงวันที่เก็บผลผลิตลูกค้าก็สามารถมาตัดเมล่อนได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ยังจัดตั้ง สหกรณ์พืชผัก ผลไม้ ปลอดภัยสูง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรของเครือข่าย ซึ่งเป็นสินค้ามาตรฐาน GAP ทั้งหมด อาทิ เมล่อน ถั่วฝักยาว คะน้า เห็ด มะพร้าว มะม่วง โดยมีตลาดหลักคือ การบินไทย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านสวนเมล่อนประสบความสำเร็จในการทำการเกษตร คือ การใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียในการจัดการการผลิตและการตลาด โดยบ้านสวนเมล่อนได้เข้าร่วมโครงการติดตั้งเครื่องมือเทคโนโลยี (Internet of Things : IoT) ตามความร่วมมือของกรมส่งเสริมการเกษตร ดีแทค และเน็คเทค โดยเครื่องมือดังกล่าวสามารถบอกค่าความชื้นอากาศ อุณหภูมิ ความเข้มแสง และความชื้นในดินได้ ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทำให้เจ้าของสวนสามารถจัดการกับปัจจัยแวดล้อมและปรับให้เหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูกได้ รวมถึงประหยัดแรงงานในการดูแลสวนด้วย ซึ่งจากการเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างก่อนและหลังใช้เทคโนโลยีดังกล่าว พบว่า 1. ลดการสูญเสียผลผลิต (เมล่อน)จาก 26.6% เหลือเพียง 6.6% ต่อโรงเรือน 2. เมล่อนมีน้ำเพิ่มขึ้นจาก 352 กก. เป็น 448 กก. ต่อโรงเรือน
ส่วนด้านการตลาด คุณแก้วเปิดแฟนเพจเฟซบุ๊ก “บ้านสวนเมล่อน ฉะเชิงเทรา” เพื่ออัพเดตสินค้าเกษตรและกิจกรรมต่างในสวนให้ลูกค้าทราบ และให้บริการจัดส่งสินค้าเกษตรทั่วไทยผ่านเคอร์รี่ รวมถึงให้บริการซื้อขายผ่านการโอนเงินหรือใช้คิวอาร์โค้ดภายในสวนได้สอดคล้องกระแสสังคมไร้เงินสด
“การใช้เทคโนโลยีในบ้านสวนเมล่อน นอกจากช่วยให้ทำเกษตรง่ายขึ้นแล้ว ยังสร้างความน่าเชื่อถือของเกษตรกรต่อลูกค้าด้วย ลูกค้าจะมองเราเป็น Smart Farmer เป็นเกษตรกรที่มีความรู้ สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีคุณภาพ” นางสาวปคุณากล่าว
นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีในการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกร พร้อมทั้งพัฒนาและขยายโอกาสการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่แก่ YSF และเกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป