สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ ชูไอเดีย “ซูเปอร์ตะบันน้ำ” แก้ปัญหาการเข้าถึงน้ำในพื้นที่สูง ชี้ช่วยลดการปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวมุ่งสู่เกษตรเชิงนิเวศ ลดปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
นายจีระศักดิ์ ตรีเดช นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ กล่าวว่า แม้พื้นที่ต้นน้ำจะเป็นแหล่งกำเนิดของแหล่งน้ำให้กับคนปลายน้ำ แต่ในทางกลับกัน ชุมชนในเขตต้นน้ำเองกลับเข้าไม่ถึงการใช้น้ำ เพราะแหล่งน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อชุมชนบนพื้นที่สูงในการจัดหาและขนส่งน้ำจากแหล่งน้ำที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง เพื่อการอุปโภคและบริโภคในระดับครัวเรือน รวมถึง การทำการเกษตรเชิงนิเวศ ที่ผ่านมาการนำน้ำจากพื้นที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง มักมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึง ชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ในกรอบคิดของการใช้พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้า ในการนำน้ำมาใช้เพื่อการพัฒนาระบบเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว
ซึ่งพลังงานดังกล่าวเป็นที่มาของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และแหล่งน้ำบางแห่งอยู่นอกระบบสายส่ง ทำให้ไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะที่การจัดการน้ำในระบบอื่นๆ เช่น การขุดสระ การใช้น้ำใต้ดิน เป็นรูปแบบการจัดการน้ำที่ไม่มีความสอดคล้องเหมาะสมกับพื้นที่ นอกจากนี้ ชุมชนยังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกค่อนข้างสูง ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการและการประเมินความเสี่ยงของชุมชนก็พบว่า พื้นที่ต้นน้ำจะเผชิญกับภาวะความแห้งแล้งยาวนานในอนาคต การจัดการน้ำเป็นมาตรการสำคัญของการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้วยอุปสรรคที่กล่าวมาข้างต้น ท้าให้การผลิตอาหารของชุมชนบนพื้นที่สูงในระบบเกษตรเชิงนิเวศเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ซึ่งผู้พัฒนานวัตกรรมมีแรงบันดาลใจ ในการอยากช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนการผลิตอาหารและการเกษตร จากเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรเชิงนิเวศ โดยเห็นว่าเกษตรกรรมแบบเชิงเดี่ยวมีส่วนสำคัญต่อการท้าลายระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม เป็นที่มาของวิกฤติด้านสุขภาพ และการทำลายฐานทรัพยากรของตนเอง ซึ่งปัจจัยในเรื่องการเข้าถึงน้ำในราคาต้นทุนที่ต่ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตอาหารและการเกษตรมาสู่เกษตรเชิงนิเวศ
จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหาร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของชุมชนบนพื้นที่สูง พบว่าชุมชนมีโอกาสเป็นอย่างมากในการเข้าถึงน้ำในราคาต้นทุนต่ำเพราะที่ตั้งของชุมชนเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุนเป็นจำนวนมากดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการน้ำบนพื้นที่สูงให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการใช้น้ำต้นทุนต่ำได้ ซึ่งนั่นคือ “เครื่องตะบันน้ำ”
ตะบันน้ำ นวัตกรรมพื้นบ้านเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายจีระศักดิ์ กล่าวเสริมว่า สมาคมฯ ได้ร่วมกับชุมชนในหลายพื้นที่ตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์การพัฒนาตะบันน้ำในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ตอบโจทย์คำถามพื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมเบื้องต้นของตนเอง ซึ่งได้ทดสอบเชิงประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับตะบันน้ำรูปแบบต่างๆ พบว่า ซูเปอร์ตะบันน้ำที่สมาคมฯ ร่วมกับชุมชนประดิษฐ์มีประสิทธิภาพสูงและสอดคล้องเหมาะสมกับการใช้งานเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือ ซูเปอร์ตะบันน้ำที่เราพัฒนาสามารถเพิ่มแรงดันได้และมีความทนทาน
ทั้งนี้ พบว่าการใช้เครื่องตะบันน้ำ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.532 กิโลคาร์บอน/วัน การใช้เครื่องตะบันน้ำในพื้นที่ 20 เครื่องเป็นเวลา 1 เดือนจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 319 กิโลคาร์บอน เท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 32 ต้น
“ตะบันน้ำ” ลดค่าใช้จ่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายวิไช ด้วงทอง เกษตรกรปลูกผักสวนครัวและข้าวโพด ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ปัญหาหลักในการทำเกษตรในพื้นที่คือ การจัดสรรน้ำจากแหล่งน้ำ โดยต้องใช้ปั๊มสูบน้ำขึ้นมา เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง แหล่งน้ำจะอยู่ตามสันเขาและพื้นที่ต่ำ ที่ผ่านมาให้เครื่องปั๊มน้ำน้ำมันดีเซลสูบน้ำขึ้นมาเก็บไว้ในถัง มีค่าใช้จ่ายสูง ราคาขายพืชก็ไม่สูงมาก จึงไม่คุ้มทุน
เพื่อให้อยู่รอด จึงต้องการหาวิธีทำการเกษตรทางเลือกอื่นๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเคยเห็นสมาคมฯ มาอบรมเรื่องตะบันน้ำ จึงสนใจและเข้าไปขอคำปรึกษาจนมีความเข้าใจว่าเครื่องตะบันน้ำทำงานอย่างไร และได้ตะบันน้ำมาทดลองใช้ 1 เครื่อง
ปัจจุบันได้ทดลองใช้เครื่องมาแล้วประมาณ 3 เดือน ได้มีการเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย พบว่าการใช้เครื่องตะบันน้ำช่วยให้ประหยัดเงินได้เดือนละ 12,000-15,000 บาท ซึ่งมาจากค่าน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าการใช้ตะบันน้ำทำให้ไม่มีช่วงที่ขาดแคลนน้ำเลย เพราะสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ในอนาคตต้องการนำตะบันน้ำมาใช้ในการอุปโภคในครัวเรือนด้วย เพราะคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าน้ำได้อีกมาก แต่ยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะทำระบบนำน้ำมาใช้ในครัวเรือน และหวังว่าการเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมฯ จะช่วยเพิ่มความรู้และทักษะการใช้ตะบันน้ำและการบำรุงดูแลรักษา
นายอุดม อุทะเสน อดีตเกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญา กล่าวว่า การทำเกษตรพันธะสัญญาจำต้องมีการลงทุนในการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือจำนวนมาก หากมีเครื่องมือเครื่องจักรไม่ครบ ก็ต้องจ้างหรือจัดซื้อจากคนอื่น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงมาก และมีความเสี่ยงจากความผันผวนจากสภาพอากาศเนื่องจากภาวะโลกร้อนสูงมาก ทำให้บางช่วงจึงขาดทุนติดต่อกันหลายรอบการเพาะปลูก
พอได้รู้จักสมาคมฯ จึงเปลี่ยนมาปลูกกล้วยน้ำว้า มะขาม และพืชผลไม้ยืนต้นแทน รายได้ไม่สูงมากแต่ได้ตลอดปี มีพ่อค้ามารับซื้อในหมู่บ้าน สามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย สภาพดินและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยรวมค่อยๆ ดีขึ้น มีพื้นที่สีเขียวเยอะมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนมาปลูกกล้วยและมะขามตามมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่พบในการดำเนินงานในฐานะช่างตะบันน้ำคือ ตะบันน้ำเป็นเครื่องจักรที่ต้องใช้เวลาในการอธิบายเรื่องการใช้งาน ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เข้าใจวิธีการทำงาน ต้องมีการสาธิต และทดลองทำงานร่วมกับจึงจะเข้าใจ แต่ชาวบ้านบางส่วนไม่อยากทำงานร่วมกับชุมชน ไม่อยากลงมือทำหรือเรียนรู้เอง มีทัศนคติว่าใช้เครื่องสูบน้ำที่ใช้น้ำมันง่ายกว่า สะดวกกว่า จึงต้องใช้เวลาอธิบายให้เห็นถึงประโยชน์ของตะบันน้ำต่อธรรมชาติ อย่างน้อยก็ไม่ก่อมลภาวะจากการใช้พลังงานน้ำมัน
อีกประเด็นที่สำคัญคือ ตะบันน้ำไม่ได้เหมาะกับสภาพภูมิประเทศทุกที่ พื้นที่ที่เหมาะสมจะต้องมีแหล่งน้ำที่เกิดจากธรรมชาติ มีการไหลเวียน โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ
นายอำเภอน้ำหนาว แนะสร้างขบวนการเรียนรู้ให้กว้างขวาง
นายสมชาย ธีรางกูร นายอำเภอน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ในฐานะประธานในพิธีเปิดโครงการพลิกไทย “การบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่สูงด้วยเครื่องตะบันน้ำ” เมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ณ อาคารกองทุนหมู่บ้าน ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า เราต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตของภูมิอากาศอย่างรอบด้าน ปัญหาหนึ่งคือเรื่องน้ำ ทรัพยากรน้ำมีอยู่อย่างจำกัด การบริหารจัดการต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การนุรักษ์ป่าต้นน้ำเพื่อให้มีพื้นที่ดูดซับ เก็บน้ำเอาไว้ใช้อย่างเพียงพอในทุกฤดูกาล ตลอดจนการฟื้นฟูอนุรักษ์แหล่งน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดการชะล้างหน้าดิน รวมถึงการปรับเปลี่ยนการผลิตเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรเชิงอนุรักษ์และการใช้เครื่องตะบันน้ำเพื่อจัดการน้ำในพื้นที่สูง เหมาะอย่างยิ่งกับสภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่สามารถนำน้ำต้นทุนมาใช้ในพื้นที่สูงได้
“ผมขอชื่นชมทุกคนที่มีความพยายามนำภูมิปัญญาชุมชนมาพัฒนาต่อยอด กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า จนสามารถใช้ได้จริง และอยากให้เทคโนโลยีนี้ขยายในพื้นที่ให้ทั่วถึง และเป็นโมเดลให้กับชุมชนอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำ สร้างขบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางต่อไป เป็นการก่อตัวให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ขอให้พวกเราช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำ เราเป็นคนต้นน้ำต้องช่วยกัน ผมพร้อมเต็มที่ที่จะมาดูแล…” นายอำเภอน้ำหนาว กล่าวในที่สุด
เกี่ยวกับโครงการซูเปอร์ตะบันน้ำ 4.0
เพราะดีแทคเชื่อมั่นในพลังของคนไทยทุกคนที่ต้องการเห็นสังคมไทนที่ดีขึ้น จึงได้ริเริ่มโครงการ “พลิกไทย” เพื่อเชิญชวนให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีไอเดียในการแก้ไชปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน ดีแทคได้คัดเลือกแนวคิดกิจกรรมจำนวน 10 แนวคิด ที่สามารถปฏิบัติได้จริง และสามารถสร้างประโยชน์แก่สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม และจะมอบเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้น เพื่อให้โครงการสามารถเป็นจริงได้ ซึ่งโครงการซูเปอร์ตะบันน้ำเป็น 1 ใน 10 โครงการที่ได้รับการต่อยอดสนับสนุนจากดีแทค
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/water-sink
>>Live สาธิตการทำเครื่องตะบันน้ำใช้เอง https://web.facebook.com/kasetkaoklai/videos/279251992705538/