แวดวงเกษตรกรชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกคงจะคุ้นกับชื่อ “ธีรภัทร อุ่นใจ” ในฐานะที่เป็น “เกษตรคนแกร่ง” เป็นอย่างดี เพราะว่าเป็นคนที่มีความขยันอดทนเป็นที่ตั้ง ดั้นด้นเดินทางจากบ้านเกิดจังหวัดเชียงใหม่จนมาได้ดิบได้ดีมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดจันทบุรี จากผลงาน “ทุเรียนต้นคู่” ที่ได้รับการเชิดชูและได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2561 สาขาอาชีพทำสวน และก่อนหน้านี้ปี 2555 ก็เคยเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์มมาแล้ว ซึ่งจะว่าไปแล้วในประเทศไทยนี้คงมีไม่กี่คน(หรือไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่) ที่ได้รับรางวัลเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติถึง 2 สาขา…(การอ่านข้อมูลในเรื่องการตัดแต่งกิ่งทุเรียนขอให้ดูจากคลิปประกอบจะเข้าใจและเห็นภาพชัดกว่าครับ)
สำหรับเรื่องราวของทุเรียนต้นคู่ “เกษตรก้าวไกล” เคยนำมาเสนอไปแล้ว https://goo.gl/iTYoPw แต่ที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นข้อมูลล่าสุดในการค้นหาภูมิปัญญาเกษตรภาคตะวันออก เรื่องการจัดการสวนทุเรียนว่าด้วย การตัดแต่งกิ่งทุเรียนต้นใหญ่ (แถมทุเรียนต้นเล็ก) ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่ปลูกทุเรียนมือใหม่ โดยเฉพาะเวลานี้ปลูกกันทั่วประเทศ
“เหตุผลที่ต้องตัดแต่งกิ่ง เพราะอะไรครับ” ผู้มาเยือนส่งคำถาม ไปยังผู้ตอบ ซึ่งกำลังประจำอยู่ที่ต้นทุเรียนข้างบ้าน
“คือหลังจากที่เราเก็บผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กิ่งบางกิ่งมันไม่จำเป็น มันใช้ไม่ได้แล้ว เราต้องเอาออกครับ” เสียงตอบทันใจ
“อย่างกรณีอย่างนี้(ชี้ให้ดู) มันจะมี 2 กิ่งซ้อนกัน เราจะเอากิ่งบนนี้ออกก็ได้ แต่กิ่งข้างล่างมันเตี้ยติดดินเกินไป เราก็เลยต้องเอากิ่งนี้ออกครับ (กิ่งล่าง)”
พูดจบเลื่อยในมือก็ทำหน้าที่ “ใช้เลื่อยแบบนี้มันสะดวกดี…มันตัดไม่ยากเลยครับ”
“แขนงพวกนี้ก็ต้องเอาออกทั้งหมดครับ”
“อย่างกิ่งนี้มันห้อยลงอย่างนี้ เอาออกเลย…ไม่ต้องเสียดายครับ เพราะเรามีกิ่งอื่นอีกเยอะ” คุณธีรภัทร พูดไปตัดไป ดูช่างง่ายดาย เพราะทุเรียนเป็นไม้เนื้ออ่อนนั่นเอง
ถามไปว่าปกติต้องลงมือตัดเองหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า “ปกติลูกน้องตัดแต่งกิ่งครับ…แต่ผมก็เป็นลูกน้องเขาอีกที 555” (จังหวะที่พูดประโยคนี้ เหมือนว่าจะเอาใจใครบางคน เพราะขณะนั้นมีใครคนหนึ่งมายืนมองดูอยู่ด้วย และเป็นใครไปไม่ได้เป็นแม่บ้านคุณธีรภัทรนั่นเอง)
วันนี้เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติโชว์ฝีมืออย่างเต็มที่ ต่อหน้าผู้บังคับบัญชาที่อยู่อยู่ข้างล่างและคอยบอกว่าให้ตัดกิ่งไหน…
“อย่างกิ่งนี้มันซ้อนกัน เวลาออกลูกมันก็จะซ้อนบนกิ่ง เราเลือกไว้กิ่งใหญ่ เพราะมันจะแบบรับน้ำหนัก ไว้ลูกได้มากกว่า…ไม่ต้องเสียดายครับ” ย้ำคำว่า “ไม่ต้องเสียดาย” อีกครั้งหนึ่งแล้ว (เพราะรู้ว่ามือใหม่เสียดาย ไม่อยากตัดกิ่งทิ้ง)
“กิ่งที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ เก็บไว้ก็เปลืองปุ๋ย เปลืองยาด้วยครับ” สำทับฉับพลัน
สักครู่เดียวก็ตัดเสร็จ “เสร็จแล้วครับ…เราต้องตัดแต่งกิ่งทุกครั้ง หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ เพราะบางกิ่งมันก็ไม่จำเป็น…เอากิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดไว้”
พอลงจากทุเรียนต้นใหญ่ ก็ไปต่อที่ทุเรียนต้นเล็กทันที ช่างบังเอิญว่ามีต้นเล็กที่อยู่ติดกัน ซึ่งทราบว่าเพิ่งปลูกซ่อมทดแทนต้นใหญ่ที่ตายไปก่อนเวลาอันควร…
“การตัดแต่งกิ่ง ต้องเริ่มตั้งแต่ทุเรียนตั้งต้นได้ เพราะจะทำให้โตไวครับ” คุณธีรภัทร เริ่มตัดกิ่งแขนงเล็กๆ และกิ่งที่ไม่จำเป็นออกทีละกิ่ง…
“ต้นนี้ 8 เดือน…ต้นขนาดนี้ต้องใช้กรรไกรตัดครับ แต่ว่าไม่ได้เตรียมกรรไกรมาก็เลยใช้เลื่อยนี้แทนครับ”
“กิ่งนี้เอาออก…เพราะติดดินเกินไป”
“กิ่งนี้เอาไว้ก่อน กิ่งนี้เอาออก เราจะเอากิ่งนี้ เพราะสมบูรณ์กว่า”
“กิ่งนี้ออก…เพราะกิ่งมันซ้อนกัน”
ตัดแต่งกิ่งอย่างรวดเร็วจนมาถึงการตัดยอดทุเรียน “ยอดจริง ๆ ตัดไปรอบหนึ่งแล้ว แต่นี้ก็ตัดได้อีกแล้ว” พูดพลางก็ตัดยอดทิ้งในทันที
“เราตัดยอดเพื่อบังคับให้มันโตออกข้างๆ พุ่มข้างไว้ลูกได้มากกว่า จะสมบูรณ์กว่าครับ”
“การตัดยอดและการตัดแต่งกิ่งที่ไม่จำเป็นออก สิ่งสำคัญคือจะทำให้ต้นทุเรียนโปร่งให้แสงแดดส่องถึงทุกกิ่ง…เราต้องแต่งกิ่งเป็นระยะ ๆ ตัดทุกปีครับ”
สรุปว่า ข้อดีของการตัดแต่งกิ่งทุเรียน ทั้งกิ่งซ้อน กิ่งเล็ก กิ่งแขนงออก จะทำให้ทุเรียนโตเร็ว มีกิ่งก้านสาขาสมบูรณ์ ทรงพุ่มสวยงาม ช่วยในการรับลูกได้ดี แถมเป็นการประหยัดปุ๋ยยาไปในตัว และไม่เป็นที่ซ่องสุมพวกโรคแมลงต่าง ๆ เพราะต้นโปร่งแสงส่องถึงนั่นเอง.