เรื่อง/ภาพ : ลุงพร เกษตรก้าวไกล
จากสนามบินแม่สอด จ.ตาก เราเดินทางต่อไปอีกประมาณ 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 105 แม่สอด-แม่สะเรียง แป๊บเดียวเราก็ถึงจุดหมายปลายทาง ณ ที่นี่คือ “สวนละออ การ์เด้น” ตั้งอยู่เลขที่ 19 หมู่ 8 ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก…พลันที่เดินทางไปถึงเราก็ได้รับการต้อนรับจากทีมงานบริหารคนรุ่นใหม่ ซึ่งที่สวนแห่งนี้ดำเนินงานโดย บริษัท สวนละออ จำกัด มีคุณศิวะ คงตระกูลเทียน เป็นประธานกรรมการ และ อาจารย์มนตรี คงตระกูลเทียน ผู้เป็นพ่อรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสวน โดยที่อาจารย์มนตรีนั้น ยังมีตำแหน่งเป็นคณบดี คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จึงขอใช้สวนแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษา คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรอีกด้วย
อาจารย์มนตรีเล่าให้ฟังว่า สวนละออได้เริ่มดำเนินการเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากเดิมมีพื้นที่ 15 ไร่ ก็ขยายมาเป็น 116 ไร่ ครั้งแรกนั้นได้เน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เพราะคิดว่ายังไม่มีเวลามาดูแลมากนัก จึงเลือกปลูกพืช 2 ชนิดนี้ แต่หลายปีมานี้ยางพาราราคาตกต่ำไม่คุ้มกับการลงทุน เช่นเดียวกับปาล์มน้ำมันที่เริ่มราคาตกต่ำเช่นกัน จึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชผสมผสานยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่จำนวน 3-4 สระ ตามจุดต่างๆ ของสวน และจัดสรรพื้นที่มาปลูกไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ ข้าว และพืชผักชนิดต่าง ๆ
การปลูกไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ ข้าว และพืชผักนั้น มี 2 รูปแบบ คือ ปลูกแซมในสวนยางพารา เช่น ปลูกพริกไทยซีลอนให้เลื้อยไปตามต้นยาง ปลูกทุเรียนแซมในร่องยาง ฯลฯ หรือปลูกแซมในสวนปาล์มน้ำมัน เช่น ปลูกกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 กล้วยหอม กล้วยไข่ มะละกอฮอลแลนด์ ฯลฯ กับอีกรูปแบบคือ ปลูกขึ้นมาในแปลงต่างหาก เช่น เมล่อน มะเขือเทศ ปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ ยังมีโรงเรือนดอกหน้าวัว โรงเรือนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ฯลฯ และที่โดดเด่นยังมีแปลงปลูกข้าว 5 สี
ที่สำคัญพืชที่ปลูกทุกชนิดจะเตรียมตลาดไว้รองรับและแปรรูปเบื้องต้น ชนิดที่ว่าต้องใช้นวัตกรรมมารองรับให้สมกับที่เป็นคณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรเลยทีเดียว เช่น ปาล์มน้ำมัน จะมีโรงหีบปาล์มที่รับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย หรืออย่างข้าวก็จะมีโรงสีอยู่ด้านหน้าสวนเป็นโรงสีข้าวชุมชนที่รับสีข้าวของเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย ส่วนพืชผักและผลไม้ชนิดอื่นๆ จะมีร้านค้าด้านหน้าสวน ที่เหลือจะแบ่งไปขายตามร้านค้าและตลาดนัดในชุมชน
“แนวคิดใหม่ของเราคือการปลูกพืชผักแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นแนวทางที่คิดว่ามีความเหมาะสมกับเกษตรไทย เราต้องยืนอยู่ให้ได้บนพื้นฐานของตนเอง นั่นหมายถึงว่าต้องมีรายรับจ่ายให้สามารถหมุนเวียนอยู่ได้ โดยจะมีร้านค้าหน้าสวน และมีเหลือจึงนำไปขายนอกชุมชน และเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการแปรรูป อีกทั้งทำเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมเชิงท่องเที่ยวครบวงจร เพื่อประโยชน์ของชุมชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจ ซึ่งตอนนี้งานของเรากำลังคืบหน้าไปด้วยดี” อาจารย์มนตรี บอกถึงแนวคิดใหม่
การทำสวนเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของสวนละออ นอกจากจะได้เรียนรู้ตามจุดหลักต่าง ๆ ที่เป็นแปลงปลูกพืชแล้ว ทางสวนได้ปลูกสร้างเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ เหมาะกับการทำกิจกรรมนอกสถานที่ ภายในโรงเรือนและรอบ ๆ โรงเรือนได้จัดโซนปลูกพืชและกิจกรรมไว้มากมาย ชนิดที่ว่าให้เรียนรู้ได้ไม่รู้เบื่อและทุกกิจกรรมจะเกื้อหนุนกัน เช่น มีเลี้ยงไส้เดือน และนำดินมาทำเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือน มีเพาะเห็ดในวงบ่อซีเมนต์ มีเลี้ยงผึ้งชันโรงเอาไว้ผสมเกสร มีทำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยหมักจากทะลายปาล์ม มีปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แนวตั้งแบบหมุนเวียนน้ำมาใช้ใหม่ มีปลูกมัลเบอร์รี ปลูกเชอร์รี่ให้เก็บกินสดๆ ที่ใกล้กันนั้นยังมีอาคารหลังเล็กๆ เพื่อทำขนมเบเกอร์รี่ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะคุ้กกี้ข้าวไรท์เบอร์รี ข้าวทับทิมชุมแพ ฯลฯ ที่นำข้าวมาแปรรูปเป็นแป้งขนม และคุ้กกี้ที่นี่ยังผสมแป้งกล้วยจากสวนที่ทำขึ้นเอง
จุดไฮไลท์สำคัญของสวนละออ เน้นการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น ระบบโรงเรือนปิดแบบอัจฉริยะ ที่ปลูกมะเขือเทศ เมล่อน แตงทิเบต ฯลฯ ควบคุมระบบการให้น้ำและปุ๋ยผ่านโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งมีการใช้โดรนเพื่อการเกษตรเอาไว้ฉีดพ่นศัตรูพืช ซึ่งเจ้าของสวนบอกว่าที่นี่เน้นเกษตรอินทรีย์ ทุกสิ่งที่ฉีดพ่นปลอดภัยต่อผู้บริโภคและผู้พักอาศัย เฉพาะโดรนนั้นอนาคตตั้งใจว่าจะขยายไปให้บริการแก่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ๆกันอีกด้วย เพราะว่าช่วยลดต้นทุนค่าแรงงาน ลดเวลา และค่าปุ๋ยยาต่าง ๆ ได้ดีมาก
สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของสวนละออ คือผู้บริหารสวนทั้งหมดเป็นคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาด้านเกษตรกรรมจากสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะยังเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาจากคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อย่างเช่นวันที่เรามาเยี่ยมชมนั้นมีฝึกงานอยู่จำนวนหนึ่ง
ที่บอกเล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสวนละออ จำนวน 2 วัน 1 คืน ที่เรามาปักหลักอยู่นั้นขอบอกเลยว่ายังค้นหา(เก็บรายละเอียด)ได้ไม่หมด เพราะว่ามีเรื่องราวทางการเกษตรให้เรียนรู้มากมาย ที่นี่สามารถออกแบบหลักสูตรตามสั่งได้ และทุกหลักสูตรมี WorkShop ให้ลงมือทำจริง…ออ เกือบลืมบอกว่าที่สวนละออเขามีบ้านพักไว้รับรองทุกท่านในราคามิตรภาพ มีห้องประชุมที่มีทางเดินเชื่อมกับบ้านพัก มีอาหารการกินแบบพื้นบ้านที่ปรุงจากแม่ครัวมืออาชีพ ขอบอกว่าอร่อยมาก ๆ…สรุปว่าถ้ามาเรียนรู้เรื่องการเกษตร หรือแวะมาเที่ยวเชิงเกษตรไม่ผิดหวังเลยครับ
หมายเหตุ : ติดต่อสวนละออการ์เด้น โทร 064-4071482