กรมวิชาการเกษตร เตรียมพร้อมเฝ้าระวังหนอนกระทู้ fall armyworm ระบาดข้ามพรหมแดน หลังพบเข้าเอเชียโผล่ที่อินเดียแล้ว ล่าสุดพบอยู่ห่างชายแดนไทย 1,200 กิโลเมตร ชี้เป็นแมลงที่บินได้ไกล ขยายพันธุ์เร็ว พืชอาหารมากกว่า 80 ชนิด เจาะข้าวโพดเป็นพืชหลัก เคลียร์พื้นที่ปลูกข้าวโพดพร้อมสร้างการรับรู้สู่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกร
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนจาก FAO เรื่องการระบาดของหนอนกระทู้ fall armyworm ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของข้าวโพดเดิมพบระบาดในพื้นที่เขตร้อนและพื้นที่เขตกึ่งร้อนของทวีปอเมริกา และมีรายงานการระบาดครั้งแรกในภาคกลางและภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกาในช่วงต้นปี 2559 จากนั้นได้แพร่กระจายออกไปและเกิดการระบาดในหลายประเทศเกือบทั่วทวีปแอฟริกา ส่วนในทวีปเอเชียมีรายงานพบการระบาดครั้งแรกในปี 2561 นี้ โดยพบทำลายข้าวโพดในพื้นที่ Chikkaballapur, Karnataka ของประเทศอินเดีย
กรมวิชาการเกษตร ในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศมีหน้าที่ป้องกันมิให้ศัตรูพืชจากต่างประเทศเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังหนอนกระทู้ fall armyworm เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามาระบาดในประเทศไทย โดยสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย เนื่องจากรายงานล่าสุดของ FAO ระบุว่าหนอนกระทู้ระบาดที่ West Bengal ประเทศอินเดีย โดยอยู่ห่างจากชายแดนไทยทางด้านทิศตะวันตกประมาณ 1,200 กิโลเมตร ซึ่งผลการสำรวจเพื่อเฝ้าระวังในช่วงระยะวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบหนอนกระทู้ fall armyworm เข้ามาระบาดในประเทศไทย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากการเฝ้าระวังโดยการสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวโพดแล้ว กรมวิชาการเกษตรยังได้สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้ fall armyworm ไปสู่เกษตรกร เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตื่นตัวและร่วมกันเฝ้าระวังไม่ให้หนอนกระทู้ fall armyworm เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย เนื่องจากเป็นแมลงศัตรูพืชที่สามารถบินได้ไกล โดยตัวเต็มวัยสามารถบินเฉลี่ยได้เฉลี่ย 100 กิโลเมตร/คืน ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมากจำนวน 30-40 วัน / รุ่น และมีพืชอาหารจำนวนมากกว่า 80 ชนิด ซึ่งนอกจากข้าวโพดแล้วยังมีพืชอาศัยอื่นที่เป็นแหล่งอาหาร เช่น ข้าว อ้อย ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ฝ้าย ทานตะวัน ถั่วเหลือง หญ้า และพืชผักอีกหลายชนิด
ลักษณะการเข้าทำลายของหนอนกระทู้ fall armyworm การทำลายพืชเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น หนอนจะระบาดทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งแผ่นใบ และจะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบข้าวโพด ความเสียหายที่เห็นได้ชัดคือในระยะต้นอ่อนทำให้พืชตาย ระยะต้นแก่พืชจะไม่เจริญเติบโต ฝักลีบเล็กไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 73%สำหรับการป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ fall armyworm สามารถกำจัดได้โดยใช้สารชีวภัณฑ์ตามคำแนะนำของ FAO เช่น ใช้แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา (Trichogramma) แตนเบียนไข่เทเลโนมัส (Telenomus) แตนเบียนคีโนลัส (Chelonus) แมลงหางหนีบ เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) แบคทีเรียบาซิลลัสไอซา (Bt aizawai) หรือบาซิลลัสทูริงจิเอนซิส (Bt thuringiensis)
“อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกันหากหนอนกระทู้ fall armyworm จะระบาดเข้ามาถึงมาประเทศไทยอาจต้องใช้เวลามากกว่าการระบาดในอินเดีย อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันไม่ให้หนอนกระทู้ fall armyworm ระบาดเข้ามาภายในประเทศขอให้เกษตรกรช่วยกันสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวโพด รวมทั้งพืชอาศัยอื่นเช่น ข้าว อ้อย ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ฝ้าย ทานตะวัน ถั่วเหลือง หญ้า และพืชผักอีกหลายชนิด หากพบพืชมีลักษณะอาการคล้ายกับการระบาดของหนอนกระทู้ fall armyworm ขอให้แจ้งสายด่วน หนอนกระทู้ fall armyworm โทร. 06-1415-2517 นอกจากนี้ ในปี 2562 กรมวิชาการเกษตรยังมีแผนเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นโดยใช้วิธีติดกับดักฟีโรโมนหนอนกระทู้ fall armyworm ในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว