จากสถานการณ์พายุปาบึก พัดผ่านภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงวันที่ 4 มกราคม 2562 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ (6 ม.ค. 62) สถานการณ์ได้คลี่คลายลง แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้สั่งให้มีการเตรียการและเตรียมความพร้อมรับมือพายุ และแผนการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยกำชับเกษตรจังหวัด ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และ 2 จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ให้ทุกหน่วยงานเฝ้าติดตามข่าวสาร ประเมินสถานการณ์ และรายงานตรงให้ทราบทันที
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ได้กำชับทุกหน่วยตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการตั้งแต่ก่อนพายุปาบึกจะเข้า และทำแผนผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์เพื่อฟื้นฟูพืชผลทางการเกษตรหลังน้ำลด โดยให้ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการอารักขาพืช ทั้ง 9 ศูนย์ ทั่วประเทศ ผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา เพื่อช่วยป้องกันโรคที่อาจจะเกิดหลังน้ำลดได้ โดยเบื้องต้น ได้สั่งการให้ผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา จำนวน 65,000 กก. เพื่อรองรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางการเกษตร กว่า 65,000 ไร่ และสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดหลังน้ำลด ให้ลงพื้นที่ ให้คำแนะนำ และสำรวจพื้นที่ความเสียหาย เพื่อเตรียมการ ให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ต่อไป
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากสถานการณ์พายุปาบึกผ่านไป หลายพื้นที่ยังเกิดน้ำท่วมขัง ส่งผลต่อยางพาราและปาล์ม รวมทั้งพืชผักอื่นๆ โดยในพื้นที่หลังน้ำลดระยะแรกที่ดินยังเปียกอยู่ ห้ามคนและสัตว์เลี้ยง รวมถึงเครื่องจักรกลเข้าไปเหยียบย่ำในพื้นที่แปลงปลูก ส่วนในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่ ควรหาทางระบายน้ำออกโดยเร็ว เมื่อพื้นที่เริ่มแห้งพอที่จะเข้าไปปรับสภาพดินเพื่อปลูกได้ ให้ทำการไถพรวนและตากดินไว้ เพื่อให้ดินแห้งมากขึ้น และควรหาปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่าคลุกเคล้ากับดิน เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืช รวมทั้งการใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาใส่ลงไปในดิน จะช่วยป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าได้.