อาจารย์รัฐพล ฉัตรบรรยงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของผลงานทุเรียนมหาวิทยาลัย 13 สายพันธุ์ และที่กำลังมีเรื่องให้ติดตามไม่รู้จบในวันนี้ก็คือ การปลูกไม้ผลในภาชนะ หรือในกระถาง เพราะว่ามีไม้ผลหลากหลายชนิดที่ปลูกแล้วได้ผล
แต่ที่จะนำมาบอกกล่าวในวันนี้ ไม่ใช่ทุเรียน และไม่ใช่ไม้ผลในภาชนะ แต่เป็นเรื่องของการตอนกิ่งฝรั่ง ซึ่งอาจารย์รัฐพล ได้เก็บรวบรวมฝรั่งไว้หลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละพันธุ์ก็เน้นการปลูกในภาชนะ(ในเข่ง) และใช้วิธีขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง…มีอยู่ต้นหนึ่งที่ตอนกิ่งร่วม 10 กิ่ง แต่ละกิ่งนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการห่อกระดาษฟอยล์ด้วย
“เกษตรก้าวไกล” สอบถามอาจารย์รัฐพล ว่าทำไมต้องห่อกระดาษฟอยล์ มันดีอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า การห่อกระดาษฟอยล์จะทำให้รากงอกดีขึ้น “ห่อเพื่อรักษาความชื้น และป้องกันแสงแดด จะทำให้รากออกดีขึ้นครับ” เทคนิคในการห่อก็ไม่มีมีอะไรมาก หลังจากที่ทำการตอนกิ่งเสร็จตามขั้นตอนต่างๆแล้ว ก็ให้นำกระดาษฟอยล์ที่เตรียมไว้มาห่อให้มิด ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าได้ผลดี ตอนไม่ยาก นิสิตหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถทำได้ และกิ่งตอนที่ได้มีรากอวบใหญ่เหมาะที่จะนำไปปลูกต่อไป
เคล็ดลับตอนกิ่ง 6 ขั้นตอน…
การตอนกิ่ง (LAYERING) เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้กิ่งหรือต้นพืชเกิดรากขณะติดอยู่กับต้นแม่ เมื่อตัดไปปลูกจะได้ต้นพืชใหม่ที่มีลักษณะทางสายพันธุ์เหมือนต้นแม่ทุกประการ แต่มีข้อเสียคือ ระบบรากของพืชไม่ค่อยแข็งแรง เนื่องจากไม่มีระบบรากแก้ว
การที่จะตอนกิ่งให้ได้คุณภาพดีนั้น ผู้ตอนจะต้องมีความรู้เบื้องต้นพอสมควร และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตอนกิ่งจะต้องมีความพร้อม ซึ่งประกอบด้วย มีดบางหรือมีดที่ใช้สำหรับขยายพันธุ์พืช ตุ้มตอน (ตุ้มตอน หมายถึง ขุยมะพร้าวอัดถุงพลาสติกขนาด 4 x 6 นิ้ว) เชือกหรือลวด และกรรไกรตัดแต่งกิ่ง
วิธีการตอนกิ่งที่ “เกษตรก้าวไกล” นำมาเสนอนี้ ได้นำมาจากโฮมเพจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นข้อมูลวิชาการ เป็นวิธีการตอนกิ่งต้นไม้แต่ละประเภท ผู้สนใจที่เป็นมือใหม่สามารถทำตามและฝึกฝนหาประสบการณ์ได้ไม่ยาก มี 6 ขั้นตอน ดังนี้
- การเลือกกิ่งที่จะทำการตอน
การเลือกกิ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกจึงจำเป็นต้องเลือกกิ่งจากต้นพันธุ์ดี ต้องเป็นกิ่งเพสลาด (กิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่) ที่มีความสมบูรณ์ปราศจากการทำลายของโรคและแมลง ถ้าเป็นกิ่งกระโดงได้ยิ่งดี หรือกิ่งจากส่วนอื่นที่สมบูรณ์แบบ กรณีที่ต้นพันธุ์ดีมีอายุมาก กิ่งไม่สวย จำเป็นต้องตัดกิ่งเพื่อให้กิ่งชุดใหม่แตกออกมาเสียก่อน แล้วจึงทำการตอนบนดิ่งชุดใหม่นั้น
- การทำแผลบนกิ่งตอน มีวิธีการทำได้ 3 แบบ คือ
2.1 แบบการควั่นกิ่ง เป็นการทำแผลที่นิยมและใช้กันมานานแล้ว สามารถใช้ได้กับพืชหลายชนิด เช่น มะนาว ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง ลิ้นจี่ ส้มโอ และไม้ดอกไม้ประดับ ฯลฯ วิธีนี้เหมาะสำหรับพืชที่ลอกเปลือกไม้ออกได้ง่าย โดยการใช้มีดควั่นกิ่งโดยรอบเป็นวงแหวน 2 วง ความห่างของวงแหวนประมาณความยาวของเส้นรอบวงของกิ่งที่ทำการตอน จากนั้นกรีดรอยแผลจากด้านบนถึงด้านล่าง แล้วลอกเอาเปลือกไม้ออก ใช้สันมีดขูดส่วนที่เป็นเมือกลื่นที่ติดบนเนื้อไม้บริเวณรอยควั่นออกให้หมด โดยขูดจากด้านบนลงมาด้านล่างเบา ๆ เพราะด้านบนเป็นส่วนที่ให้กำเนิดราก ถ้าหากซ้ำการออกรากอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร
2.2 แบบการปาดกิ่ง เป็นวิธีการตอนอีกแบบหนึ่ง เหมาะสำหรับพืชที่ออกรากง่าย และพืชบางชนิดที่ลอกเปลือก นอกของกิ่งออกยาว โดยการเฉือนใต้ท้องกิ่งบริเวณที่จะทำการตอนเข้าเนื้อไม้เอียงเป็นรูปปากฉลาม เข้าไปในเนื้อไม้ประมาณ 1/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่ง ความยาวแผลประมาณ 1-2 นิ้ว จากนั้นหาเศษไม้หรือลวดตะกั่วหรือลวดฟิวไฟฟ้าสอดแล้วมัดเพื่อไม่ให้รอยแผลที่เปิดไว้ติดกัน ซึ่งพืชที่ใช้วิธีนี้ ได้แก่ สาเก ชวนชม
2.3 แบบการกรีดกิ่ง โดยใช้ใบมีดกรีดเป็นรอยแผลตามความยาวของกิ่ง ยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว จนลึกถึงเนื้อไม้จำนวน 3-5 รอยรอบกิ่ง เหมาะสำหรับพืชที่ออกรากง่ายและกิ่งที่จะทำการตอนยังอ่อนอยู่ เช่น หมากผู้หมากเมีย โกศล ยี่โถ
- การหุ้มกิ่งตอน
เป็นการชักนำให้รอยแผลที่ควั่นไว้ออกรากโดยใช้ตุ้มตอนซึ่งได้จากการนำขุยมะพร้าวที่ดีเอาเส้นใยออกแล้วไปแช่น้ำบีบให้หมาด ๆ และอัดลงในถุงพลาสติกขนาดเล็ก ผูกปากถุงให้แน่น ผ่าตุ้มตอนตามยาวแล้วหุ้มไปบนรอยแผล มัดด้วยเชือกบริเวณหัวท้ายเหนือและใต้รอยแผลที่ควั่นหรือเฉือนเอาไว้ ต้องมัดให้แน่นโดยไม่ให้ตุ้มตอนหมุนได้ เพราะถ้ามักไม่แน่นอาจทำให้การออกรากไม่ดีเท่าที่ควร
- การปฏิบัติดูแลรักษากิ่งตอน
หลังจากทำการตอนกิ่งไปแล้วควรหมั่นดูแลตุ้มตอนให้มีความชื้นอยู่เสมอ โดยสังเกตดูความชื้นของตุ้มตอน ถ้ายังมีฝ้าไอน้ำจับอยู่ที่ผิวของพลาสติกภายในตุ้มตอนแสดงว่าความชื้นยังมีอยู่ แต่ถ้าหากไม่มีฝ้าไอน้ำจับ จำเป็นต้องให้น้ำตุ้มตอนเพิ่มเติมจนกว่ากิ่งตอนจะออกราก หรือถ้าหากพบแมลงทำลายควรฉีดพ่นด้วยสารเคมี
- การตัดกิ่งตอน
เมื่อตอนกิ่งไปได้ประมาณ 30-45 วัน กิ่งตอนก็จะเริ่มออกรากและแทงผ่านวัสดุที่หุ้มภายในออกมาจนมองเห็นด้วยตาเปล่า ระยะนี้ยังตัดกิ่งตอนไม่ได้ต้องรอจนรากที่งอกออกมาเป็นสีเหลืองแก่หรือสีน้ำตาล จำนวนรากมีมากพอและปลายรากมีสีขาว จึงตัดกิ่งตอนไปชำได้
- การชำกิ่งตอน
กิ่งตอนที่ตัดมาแล้วให้ตัดแต่งใบและกิ่งออกทิ้งบ้างเพื่อลดการคายน้ำของใบให้มีปริมาณน้อยลง ถ้าหากมีกิ่งแขนงและใบมากเกินไป เมื่อนำไปชำอาจจะทำให้ต้นพืชเหี่ยวเฉาและตายได้ จากนั้นให้ตัดเชือกและแกะถุงพลาสติกออก นำไปชำลงในถุงพลาสติกหรือกระถางดินเผาที่บรรจุดินผสมแล้ว พร้อมปักหลักยึดไว้ให้แน่น นำเข้าพักไว้ในโรงเรียนที่ร่มและชื้น กรณีพืชที่เหี่ยวเฉาง่ายควรก็บไว้ในโรงเรือนควบคุมความชื้นหรือกระบะพ่นหมอก พักไว้ในโรงเรือนประมาณ 20-30 วัน ก็สามารถนำไปปลูกได้
หมายเหตุ : ข้อมูล “เคล็ดลับตอนกิ่ง 6 ขั้นตอน” มาจากโฮมเพจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ https://web.ku.ac.th/nk40/nk/data/17/nk17k8.htm ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้