กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จับมือ มก. ดันโครงการแปรรูปมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หวังช่วยเกษตรกรไร่มันอย่างยั่งยืน
นางสาวพัชรี พยัควงษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 2 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มันสำปะหลังเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ประเทศไทยมีการผลิตมันสำปะหลังมากเป็นอันดับ 2 ของโลกและส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ผลิตภัณฑ์เป็นสินค้ากลุ่ม commodity ซึ่งมีราคาผันผวนตามสถานการณ์ต่างๆ ในตลาดโลก ส่งผลกระทบถึงเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จึงมีนโยบายเพื่อช่วยยกระดับราคามันสำปะหลังภายในประเทศ และเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีทางเลือกให้เกษตรกรสามารถแบ่งพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนเพื่อปลูกมันสำปะหลังพันธุ์หวาน ที่สามารถนำไปรับประทานได้ควบคู่กันไป ผลักดันเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นอาหารประเภทต่างๆ ที่เกษตรกรสามารถผลิตแปรรูปและจัดจำหน่ายเองได้ หรือส่งผลผลิตเข้าสู่กระบวนการผลิตสเกลใหญ่ ในกระบวนการแปรรูปอาหารภาคอุตสาหกรรม ที่สามารถขยายตลาดจัดจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าการปลูกมันสำปะหลังเพื่อจำหน่ายเข้าสู่อุตสาหกรรมเดิม
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวได้มีการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ประชารัฐ มาตั้งแต่ปี 2559 ที่โครงการแปรรูปมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป้าหมายในการยกระดับรายได้เกษตรกรชุมชน และผลักดันให้ชุมชนและกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะปลูกมันสำปะหลัง ให้สามารถส่งผลผลิตไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารเองได้โดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งพาการแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมเดิม และเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ประโยชน์จากมันสำปะหลังภายในประเทศ ลดการพึ่งพาตลาดส่งออก
โดยโครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กับ คณะอุตสาหกรรมเกษตร และ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรและการแปรรูปอาหาร เป็นผู้ดำเนินการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร จากมันสำปะหลังสายพันธุ์ที่เหมาะสม ที่สามารถบริโภคได้ เป็นพันธุ์ชนิดหวาน ที่มีกรดไซยาไนด์ต่ำ ปลอดภัยต่อการบริโภค มาเข้าสู่กระบวนการแปรรูป
ในปีนี้ ได้ดำเนินการต่อเนื่องโดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแปรรูปต้นแบบ Product Champions ไปพัฒนาต่อยอดดเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างอุปสงค์ (Demand) ของการบริโภคมันสำปะหลังในประเทศ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลัง ขยายสู่ตลาดส่งออก เพื่อรักษาระดับราคาผลผลิตมันสำปะหลัง และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. อนุวัตร แจ้งชัด คณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “โครงการแปรรูปมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ประจำปีงบประมาณ 2561 นี้ เรามีความพร้อมและมีศักยภาพ ทั้งด้านคณาจารย์และนักวิจัย และในด้านห้องปฏิบัติการ เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเครือข่ายพันธมิตร เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตรและอาหารแบบครบวงจร เพื่อการพัฒนาสร้างนวัตกรรมให้แก่อุตสาหกรรม ตอบสนองต่อนโยบายของประเทศ และช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
ในปีนี้ เราได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ ที่มีความพร้อมสูงสุด ที่จะเป็น Product Champions สำหรับตลาดอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีศักยภาพทางการตลาด คือ มันสำปะหลังอบกรอบ และ วาฟเฟิลกรอบ ซึ่งเป็น 2 ผลิตภัณฑ์ที่มีอนาคตสดใสในกลุ่มสแน๊ก ขนมขบเคี้ยว ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้ก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี
โดยกระบวนการต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ประกอบด้วย การพัฒนา ทั้งกระบวนการแปรรูป รูปทรง รสชาติ และบรรจุภัณฑ์ จนมีความพร้อมสูงสุดที่จะสามารถนำไปผลิตและจัดจำหน่ายใน โมเดิร์นเทรด ตลาดค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์สแน๊กได้แล้ว
นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมเป็นที่ปรึกษา พัฒนาปรับปรุงกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังของเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปในระดับย่อมที่จำหน่ายในตลาดท้องถิ่น มีคุณภาพมาตรฐานที่ดีขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันทอดกรอบ Cassy Chips ของ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. บ้านฉาง จังหวัดระยอง และ ผลิตภัณฑ์เฟรนช์ฟรายส์ ที่มีเกษตรกรหลายรายได้ให้ความสนใจผลิตแปรรูป เพื่อจำหน่ายทั้งในตลาดท้องถิ่น รวมถึงแช่แข็งบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต โมเดิร์นเทรด และยังมีโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
ความสำเร็จของโครงการนี้ ได้ตอกย้ำถึงศักยภาพและความพร้อม คณะอุตสาหกรรมเกษตร และ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงเกษตรกร ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เราพร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อตอบสนองนโยบายประเทศต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิพิมพ์ ฉวีสุข รองคณบดีฝายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากมันสำปะหลังที่พัฒนาขึ้นในโครงการนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ปราศจากกลูเตน ซึ่งกลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด รวมถึงผลิตภัณฑ์จากแป้งสาลี ที่ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งอาจมีอาการแพ้ ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่แพ้กลูเตน
สำหรับ Product Champions อย่าง มันสำปะหลังอบกรอบ และ วาฟเฟิลนั้น เป็นผลิตภัณฑ์อาหารว่างที่รับประทานแล้วได้ประโยชน์ด้วยคุณค่าทางโภชนาการ แปรรูปด้วยกระบวนการอบ ไม่ผ่านการทอด เหมาะกับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ซึ่งคณะวิจัยของเราได้ทำการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ให้ผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหาร ผ่านการทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ปรารถนา ปรารถนาดี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวสรุปผลงานของโครงการว่า มันสำปะหลังที่เหมาะสมต่อการนำมาแปรรูป คือ มันสำปะหลังพันธุ์หวาน ซึ่งมีไซยาไนด์ต่ำ และสามารถกำจัดได้ด้วยกระบวนการแปรรูปที่เหมาะสม คณะอุตสาหกรรมเกษตร และ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิจัยพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากมันสำปะหลังพันธุ์หวาน ตรวจสอบคุณภาพปริมาณสารไซยาไนด์ในผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารสากล และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่สนใจ รวมทั้งได้ช่วยพัฒนาปรับปรุงกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังของเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ที่แปรรูปในระดับย่อมหรือระดับครัวเรือน ให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ ปลอดภัยต่อการบริโภค เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งผลสำเร็จของโครงการฯ นี้ จะช่วยยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผลสำเร็จของโครงการฯ นี้ จะเป็นต้นแบบให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ได้ปรับแนวคิดเพื่อพัฒนาตนเองหรือรวมกลุ่มเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม จากการปลูกและแปรรูปมันสำปะหลังพันธุ์หวานเป็นอาหาร นอกเหนือจากการปลูกมันสำปะหลังเพื่อส่งเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังที่พัฒนาขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ของเรา พร้อมแล้วที่จะวางจำหน่ายในงานเกษตรแฟร์ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์นี้ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ www.cassasweet.com หรือทาง Facebook (CassaSweet.KU) หรือทาง Line ที่ @cassasweet
นายฉัตรชัย ศักดิ์ศิลปชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความสำเร็จของนวัตกรรมการแปรรูปมันสำปะหลังสู่อุตสาหกรรมอาหาร โดยความร่วมมือของ 4 ผู้ประกอบการรายใหญ่ และพร้อมเปิดรับผู้ประกอบการจัดจำหน่ายที่สนใจเพิ่มอีก และเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจะมีอนาคตและความหวังสดใสอย่างไร
ในวันนี้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลัง ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ภายใต้ “โครงการแปรรูปมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ประจำปีงบประมาณ 2561″ โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็พร้อมที่จะออกสู่ตลาดแล้ว โครงการฯ ได้รับความร่วมมือในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการธุรกิจ ที่เข้าร่วมโครงการฯ อันได้แก่ บริษัทพลวรรธน์ ฟู้ดส์ จำกัด, ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. บ้านฉาง จังหวัดระยอง, คุณสุรินทร์ พิชัย เกษตรกร smart farmer จากอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร, และห้างหุ้นส่วนจำกัด อนันตรา ฟู้ด แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง ร่วมกับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือ Tesco Lotus โดยมีคณะนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาในการวิจัยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน และจัดจำหน่ายไปยังตลาดค้าส่งและค้าปลีกในสเกลใหญ่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผู้ประกอบการผู้จัดจำหน่ายสินค้ารายใดที่สนใจ และเห็นโอกาสทางการตลาดจากสินค้าใหม่สายสุขภาพ เป็นสแน๊กที่รับประทานแล้วได้ประโยชน์ด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ตลอดจนผู้บริโภคที่ต้องการชมและชิมสินค้า ในระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง และผู้ผลิตแปรรูปอุตสาหกรรมที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปต่อยอดสร้างแบรนด์ต่อไปในตลาด ทุกท่านจะสามารถพบกับสินค้า Product Champions ที่จะเปิดตัวครั้งแรกสู่สายตาผู้บริโภค ภายใต้แบรนด์ Cassa Sweet ซึ่งแบรนด์จำลอง (Mock-up Brand) รวมถึงผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ
ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์คาดว่า ภายในปีนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแปรรูป 2 Product Champions นี้จะได้รับการยอมรับจากตลาด สามารถผลิตแปรรูปในระดับอุตสาหกรรมและจัดจำหน่ายได้เป็นผลสำเร็จในระดับประเทศต่อไป เรามั่นใจว่า นอกจากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจะมีทางเลือกใหม่ในการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ทานได้เพิ่มมากขึ้น ยังเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ เพื่อป้อนสู่ตลาดอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่มีศักยภาพสูงแล้ว และมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์สแน๊ก Product Champions ทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์นี้จะสามารถครองใจผู้บริโภคที่รักสุขภาพได้อย่างแน่นอน และเรายังเปิดรับผู้จัดจำหน่ายทุกระดับที่สนใจทำตลาดสินค้าสแน๊กเพื่อสุขภาพ Cassa Sweet เพื่อนำผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดนี้ไปเผยแพร่ออกไปสู่ผู้บริโภคให้กว้างขวางที่สุดทั้งในประเทศ และต่างประเทศต่อไป