เกษตรฯ ลุยผลิตชีวภัณฑ์ ช่วยเกษตรกรประสบภัยจากพายุ “ปาบึก”
เกษตรฯ ลุยผลิตชีวภัณฑ์ ช่วยเกษตรกรประสบภัยจากพายุ “ปาบึก”

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์พายุ “ปาบึก” เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2562 ส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ประสบอุทกภัย จากการลงสำรวจพื้นที่ล่าสุดของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร คาดว่าจะมีพื้นที่การเกษตรเสียหาย จำนวน 192,485 ไร่ แยกเป็น พื้นที่เพาะปลูกข้าว 34,567 ไร่ พืชไร่ 3,884 ไร่ รวมถึงพืชสวนและอื่นๆ 154,034 ไร่ พื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ใน 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนประจวบคีรีขันธ์และยะลา มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย

กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายเร่งผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประสบอุทกภัย เพื่อควบคุมศัตรูพืชที่อาจจะเกิดขึ้นและเข้าทำลายต้นพืชหลังน้ำลด โดยให้สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.สุราษฎร์ธานีและสงขลา) และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการผลิตขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา เป้าหมายรวม 100,000 กิโลกรัม สำหรับใช้ในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูจำนวน 100,000 ไร่

เกษตรฯ ลุยผลิตชีวภัณฑ์ ช่วยเกษตรกรประสบภัยจากพายุ “ปาบึก”
นายสุพิท จิตรภักดี และ นายสำราญ สาราบรรณ์ (ตามลำดับจากซ้าย)

การแจกจ่ายเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้แก่เกษตรกร จะเริ่มในวันที่ 19 มกราคม 2561 ให้แก่เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ ณ แปลงเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้ (ส้มโอทับทิมสยาม) จ.นครศรีธรรมราช หมู่ที่ 16 ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีเจ้าหน้าที่จาก ศทอ.สงขลา ให้คำแนะนำวิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาแก่เกษตรกรในพื้นที่ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จะเร่งดำเนินการแจกจ่ายเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่อื่นต่อไป โดยมาตรการการช่วยเหลือจากอุทกภัยครั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งศูนย์อำนวยการและฟื้นฟูด้านการเกษตรส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อติดตามสถานการณ์ ช่วยเหลือและฟื้นฟู ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว ประกอบกับลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการดูแลพืชผลทางการเกษตรหลังได้รับผลกระทบ ซึ่งหากเกษตรกรต้องการปรึกษาเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่

เกษตรฯ ลุยผลิตชีวภัณฑ์ ช่วยเกษตรกรประสบภัยจากพายุ “ปาบึก”นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สำหรับการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคพืชหลังน้ำลด โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งในไม้ผล (ส้มและทุเรียน) ต้นพืชจะแสดงอาการใบสลด ใบเริ่มเหลืองและร่วง หากขุดจะพบอาการรากเน่า และบางครั้งพบอาการเน่าบริเวณโคนลำต้น โดยมีน้ำเยิ้มสีน้ำตาลแดงไหลซึมออกมา หากอาการลุกลามรอบลำต้น ต้นจะตาย ให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
1 กิโลกรัมผสมรำข้าว 4 กิโลกรัม ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 100 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน โรยรอบโคนต้นประมาณ 5 กิโลกรัมต่อต้น หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัมผสมน้ำ 200 ลิตร ล้างให้สปอร์ออกมา แล้วกรองเอาน้ำที่มีสปอร์ไปพ่น รด หรือราด บริเวณโคนต้น ส่วนโรครากเน่า-โคนเน่าในพืชผัก ใช้ส่วนผสมของเชื้อ 1 กำมือ (ประมาณ 30 กรัม) โรยรอบโคนต้น

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated