อย่าหลงเชื่อใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผิดกฎหมายและไม่มีคุณภาพ สุดท้ายทำลายชื่อเสียงข้าวหอมมะลิไทย
อย่าหลงเชื่อใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผิดกฎหมายและไม่มีคุณภาพ สุดท้ายทำลายชื่อเสียงข้าวหอมมะลิไทย

จากกรณีที่มีข่าวว่ามีการปลอมปนในข้าวขาวดอกมะลิ 105 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและชื่อเสียงข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งแก้ไขปัญหานั้น

ว่าที่ร้อยตรี ดร.กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล อธิบดีกรมการข้าว
ว่าที่ร้อยตรี ดร.กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล อธิบดีกรมการข้าว

ว่าที่ร้อยตรี ดร.กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ข้าวที่มีอ้างว่าถูกนำมาผสมในข้าวขาวดอกมะลิ 105 นั้น คือข้าวหอมพวง เป็นข้าวเจ้าพื้นนุ่มอายุเก็บเกี่ยวสั้น 90-95 วัน และเชื่อกันว่าเป็นข้าวที่ผู้ประกอบการลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศให้ชาวนาเพาะปลูกในจังหวัดสุพรรณบุรีประมาณปี 2558 แต่สันนิษฐานว่าข้าวดังกล่าวไม่ใช่ข้าวหอม Jasmine 85 ของประเทศเวียดนามที่มีอายุเก็บเกี่ยว 105-110 วัน โดยมีผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้ชาวนาทั้งที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชจากกรมวิชาการเกษตร และไม่ได้รับรองพันธุ์จากกรมการข้าว แต่มีชาวนาไม่น้อยหลงเชื่อผู้ประกอบการที่ชักชวนให้ซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเหล่านี้ ด้วยเห็นว่าเป็นข้าวที่มีอายุสั้นและสามารถขายกลับผู้รับซื้อข้าวเปลือกได้ราคาสูงกว่าปกติตามคำโฆษณาเร่งแก้ปัญหาข้าวปนทำลายชื่อเสียงข้าวหอมมะลิ

ปี 2560 กรมการข้าวตรวจสอบพบว่า เริ่มมีการจำหน่ายเมล็ดข้าวหอมพวงเพื่อการค้า ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ซึ่งผิดกฎหมาย และกระจายการปลูกในจังหวัดใกล้เคียง กรมการข้าวในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานตามกฎหมายจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของข้าวหอมพวง ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ปลอมปน ไม่ได้คุณภาพ และมีการโฆษณาคุณภาพเป็นเท็จ กระทั่งตรวจพบการกระทำผิด จึงดำเนินคดีกับสถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าที่รวบรวมและขายเมล็ดข้าวหอมพวง จำนวน 2 ราย ในจังหวัดสุพรรณบุรี และจำนวน 1 ราย ในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งคดีได้สิ้นสุดและได้รับโทษทั้งจำและปรับตามฐานความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ปัจจุบันยังมีการลักลอบจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมพวงและชักจูงชาวนาให้หลงเชื่อ โดยมีการปลูกมากในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งคาดว่ามีพื้นที่ปลูกประมาณ 9,300 ไร่ ใน 10 ตำบลของอำเภอชุมแสง หน่วยสารวัตรเกษตรของกรมการข้าวได้เข้าตรวจค้นร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชในอำเภอชุมแสง แต่ไม่พบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่มีท่าข้าวที่รับซื้อ จำนวน 2 แห่ง คือ ท่าข้าวนโม และท่าข้าวไพรทอง อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ จึงได้เข้าตรวจสอบพร้อมทั้งได้เข้าเก็บตัวอย่างข้าวหอมพวง ซึ่งทราบว่าให้ราคารับซื้อข้าวเปลือกเกี่ยวสดในราคาตันละ 8,000 – 9,000 บาท สูงกว่ากว่าข้าวขาวปกติทั่วไปที่มีราคาประมาณตันละ 7,500 – 7,800 บาท และมีการส่งต่อข้าวเปลือกไปยังผู้ประกอบการโรงสีในจังหวัดนครสวรรค์และใกล้เคียง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรีเร่งแก้ปัญหาข้าวปนทำลายชื่อเสียงข้าวหอมมะลิ

ผลการตรวจสอบคุณภาพทางกายภาพเบื้องต้นของตัวอย่างข้าวที่สุ่มเก็บมา 2 ตัวอย่าง พบว่ามีเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นปนจำนวนมากถึง 70 เมล็ดในตัวอย่าง 500 กรัม ขณะเดียวกัน พบข้าวแดงปนจำนวนมากถึง190 เมล็ดในตัวอย่าง 500 กรัม ซึ่งกล่าวได้ว่า ผลผลิตข้าวเปลือกดังกล่าว แท้จริงมีพันธุ์ปนสูงมาก บ่อยครั้งในอดีตที่เกษตรกรหลงเชื่อปลูกข้าวที่ไม่มีที่มาที่ชัดเจน ซื้อหรือใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผิดกฎหมายและไม่มีคุณภาพ มักจะประสบปัญหาถูกปฏิเสธรับซื้อหรือกดราคาให้ต่ำเมื่อมีผลผลิตมากและข้าวเปลือกที่ได้มีข้าวปนจำนวนมากเร่งแก้ปัญหาข้าวปนทำลายชื่อเสียงข้าวหอมมะลิ

ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรที่ประสงค์จะปลูกข้าวพื้นนุ่มได้หันมาปลูกข้าวที่ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพการสีเป็นข้าวสารคุณภาพดี เมล็ดข้าวสารเรียวยาว ตรงตามพันธุ์และความต้องการของตลาด เช่น พันธุ์ กข21 ที่มีความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือพันธุ์ กข77 ที่มีคุณภาพเมล็ดดี ให้ผลผลิตสูง และขณะนี้กรมการข้าวได้เตรียมรับรองพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่เพิ่มเติม คือ พันธุ์ กข79 ที่มีอายุสั้น ผลผลิตสูง ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคไหม้ และมีคุณภาพการสีเป็นข้าวสารคุณภาพดี

“เพื่อให้คุณภาพข้าวไทยเป็นที่ยอมรับ สามารถรักษาชื่อเสียงข้าวไทยให้เป็นที่นิยมได้เป็นอย่างดีและยั่งยืน กรมการข้าวขอขอบคุณชาวนา ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว โรงสี ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตข้าวไทยที่ได้ให้ความร่วมมือ ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ปลูกข้าวที่ไม่มีข้อมูลทางการเกษตรที่ชัดเจนหรือไม่ได้จดทะเบียนและรับพันธุ์ข้าว และไม่นำข้าวคุณภาพต่ำไปปลอมปนผสมในข้าวคุณภาพดีอย่างข้าวหอมมะลิ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ข้าวหอมพวงมีลักษณะเมล็ดเล็กและสั้นกว่าข้าวหอมมะลิอย่างเด่นชัด ผู้ประกอบการสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน” อธิบดีกรมการข้าวกล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated