เร่งคืนชีพ สวนส้มโอทับทิมสยาม...ส้มโอ GI เสียหายกว่า 1,000 ไร่
กรมวิชาการเกษตร...เร่งคืนชีพ สวนส้มโอทับทิมสยาม...สำรวจพบพื้นที่เสียหายกว่า 1,000 ไร่

กรมวิชาการเกษตร รุกกอบกู้สวนส้มโอทับทิมสยามสินค้า GI ไทย หลังสำรวจพบเสียหายจากปาบึก 1,800 ไร่ ชี้หลังน้ำลดใหม่ๆ เป็นพื้นที่อ่อนไหวเสี่ยงโรครากเน่าโคนเน่า แนะใช้สารชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาราดดินหรือฉีดพ่นทางใบ หากต้องการให้ส้มโอฟื้นตัวเร็วพ่นปุ๋ยทางใบหรือใช้ปุ๋ยเกล็ดพ่นทุก 10 วัน

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึกส่งผลกระทบให้น้ำท่วมสวนส้มโอทับทิมสยามในจังหวัดนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกจำนวน 1,300 ไร่ เสียหาย 200 ไร่ และอ.ปากพนังมีพื้นที่ปลูกจำนวน 2,800 ไร่เสียหาย 1,600 ไร่ รวมพื้นที่สวนส้มโอทับทิมสยามจากทั้ง 2 อำเภอที่เสียหายจากน้ำท่วมทั้งหมดจำนวน 1,800 ไร่ ได้สั่งการให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรเข้าไปตรวจสอบความเสียหายและให้คำแนะนำวิธีการฟื้นฟูสวนส้มโอให้กลับคืนสภาพเดิมโดยเร็วที่สุดแก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน เร่งคืนชีพ สวนส้มโอทับทิมสยาม

ร่องรอยความเสียหาย
ร่องรอยความเสียหาย

ขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ หลังน้ำลดใหม่ๆ เกษตรกรควรงดการนำเครื่องจักรกลหนัก บุคคล หรือสัตว์เลี้ยงเข้าไปเหยียบย่ำในพื้นที่บริเวณโคนต้นโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ระบบรากพืชได้รับความเสียหายทำให้ต้นโทรมและอาจตายได้ แต่ถ้าในพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขังให้ขุดร่องระบายน้ำออกจากบริเวณโคนต้นโดยเร็วและมากที่สุด กรณีเกิดการทับถมดินหรือทรายบริเวณแปลงปลูกให้ขุดหรือปาดออกจากโคนต้น จากนั้นควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อลดการคายน้ำและเร่งการแตกใบใหม่ให้เร็วขึ้น สำหรับต้นที่กำลังติดผล ให้ปลิดผลออกบางส่วนเพื่อให้ต้นคงอยู่ได้

ใกล้จะได้เก็บผลผลิตไปขายอยู่แล้ว
ใกล้จะได้เก็บผลผลิตไปขายอยู่แล้ว

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ภายหลังน้ำลดต้นส้มโออาจเกิดปัญหารากเน่าและโคนเน่า ดังนั้นเมื่อดินแห้งควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้รากพืชจะช่วยให้รากแตกใหม่ได้ดีขึ้น เป็นการปรับปรุงสภาพของดินให้มีความสมบูรณ์ และให้ตรวจดูแผลโรครากเน่าโคนเน่าบริเวณโคนต้น หากพบให้ถากเนื้อเยื่อที่เสียออกแล้วทาด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนแรกหลังน้ำลดห้ามใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราคาร์เบนดาซิม เพราะจะทำให้ใบแก่ร่วงเร็วก่อนอายุ  และห้ามใช้สารควบคุมวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้า ควรใช้วิธีตัดหรือดายหญ้าแทน รวมทั้งห้ามราดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดรักษาโรครากเน่าโคนเน่า แต่ให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาราดดินหรือฉีดพ่นทางใบแทน หากเกษตรกรต้องการให้ต้นส้มโอฟื้นตัวได้เร็วขึ้นแนะนำให้พ่นปุ๋ยทางใบหรือใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 20-20-20 หรือสูตร 21-21-21 ในอัตราตามคำแนะนำข้างฉลาก ฉีดพ่นทุก 10 วัน จนกระทั่งต้นแตกใบอ่อนเป็นใบเพสลาด เร่งคืนชีพ สวนส้มโอทับทิมสยาม

“ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามปากพนังเป็นสินค้า GI ของประเทศไทย มีลักษณะประจำพันธุ์ที่โดดเด่น คือเนื้อผลหรือที่เรียกว่า กุ้ง มีสีชมพูเข้มจนถึงแดงเหมือนสีทับทิม รสชาติหอมหวาน เนื้อนุ่มน่ารับประทาน ผิวผลส้มโอมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมคล้ายกำมะหยี่ จำหน่ายได้ในราคาสูง ทำให้เกษตรกรเริ่มขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องเร่งฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด หากเกษตรกรต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 0-7580-9709 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ข่าวโดย : พนารัตน์ เสรีทวีกุล/กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมวิชาการเกษตร

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated