ธ.ก.ส. วางยุทธศาสตร์ ปี 62 มุ่งสู่องค์กรสีเขียว Go Green สนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรยั่งยืนเป็นทางเลือกของการปฏิรูปภาคการเกษตร ด้วยการยกระดับการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ตอบสนองความต้องการของตลาดและสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค พร้อมขยายช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.พร้อมขับเคลื่อนโครงการอาหารปลอดภัย จากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค เริ่มจากการสร้างจิตสำนึกให้กับเกษตรกร ด้วยโครงการสร้างความเข้มแข็งระดับครัวเรือน (โครงการ 459) ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้มีความหมายว่าเดินออกจากบ้าน 4 – 5 ก้าว ก็มีอาหารปลอดภัยไว้กิน ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และเมื่อมีผลผลิตเหลือบริโภค ก็สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ โครงการนี้ ธ.ก.ส.เริ่มไปแล้ว ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 27 ชุมชน ซึ่งบางชุมชนสามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายได้ที่ห้าง Modern Trade ได้ นอกจากนี้เพื่อให้ เกษตรกรตระหนักถึงการผลิตอาหารที่ปลอดภัยที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ธ.ก.ส. มีแผนร่วมกับ อ.ส.ม. เพื่อตรวจสารพิษในร่างกายของเกษตรกรและตรวจสารตกค้างในผลผลิตอีกด้วย
นอกจากนั้น ธ.ก.ส.จะต่อยอดชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องการผลิตอาหารปลอดภัย จำนวน 315 ชุมชน ที่ ธ.ก.ส.ให้การสนับสนุนให้มีการผลิตที่ได้มาตรฐานต่างๆ ได้แก่ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เป้าหมาย เกษตรกร 2,000 ราย 200 ชุมชน มาตรฐานการตรวจรับรองคุณภาพแบบมีส่วนร่วมของชุมชน(PGS) เป้าหมาย เกษตรกร 1,500 ราย 150 ชุมชน และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย (Organic Thailand) เป้าหมายเกษตรกร 500 ราย 50 ชุมชน รวมถึงสนับสนุน Smart Farmer ทายาทเกษตรกรให้มีการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายผู้ผลิตอาหารปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการเกษตร เป็นต้น โดยมีแผนพัฒนาให้สหกรณ์การเกษตรเป็น คณะผู้ตรวจประเมินและมีความพร้อมสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจให้กับเครือข่ายผู้บริโภค
โดยโครงการเกษตรหรืออาหารปลอดภัยนี้ จะขับเคลื่อนผ่านกระบวนการของสหกรณ์การเกษตร เพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) สหกรณ์การเกษตร (สกก.) และ บริษัทไทยธุรกิจเกษตร จำกัด (TABCO) ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ในการรวบรวมสินค้าการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มและการกระจายสินค้าจากเกษตรกรผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค และธ.ก.ส. จะสนับสนุนสินเชื่อให้สหกรณ์และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรวบรวมแปรรูปผลผลิต เช่น สร้างโรงคัดตัดแต่งผลผลิต จัดซื้อห้องเย็น และรถขนส่ง เป็นต้นนายอภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า Go Green เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ ธ.ก.ส.จะดำเนิน งานควบคู่กับแนวทางการปฏิรูปภาคการเกษตรไทย คือ ปรับการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิต เปลี่ยนการผลิตให้ สอดคล้อง กับสภาพพื้นที่ และให้ตรงกับความต้องการของตลาด พัฒนาสหกรณ์การ เกษตร และผู้ประกอบการ SMAEs เป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลงโดยสนับสนุน ให้มีการผลิตการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตร
“การก้าวสู่ Go Green เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ตอบโจทย์สำคัญในเรื่องของการดูแลสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ไปพร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของ ประเทศ ซึ่ง ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนแหล่งเงินทุนและความรู้ในการพัฒนาอาชีพสร้างรายได้ เพื่อให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีรายได้เพิ่มจากผลผลิตที่มีความปลอดภัยและมีมาตรฐานรองรับ ส่งผลถึงความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ของภาคเกษตรไทย” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวในที่สุด