ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2562) ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ โครงการนำร่องร่วมทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B 10 ภายใต้โครงการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น ระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งโครงการดังกล่าว ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2560 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ภายใต้ “โครงการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น” ซึ่งกำหนดแผนงานในการทดสอบการนำร่องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในภาคขนส่ง ระหว่างเดือนตุลาคม 2561 – กรกฎาคม 2562
ผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ โครงการนำร่องร่วมทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B 10 ภายใต้โครงการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น ประกอบด้วย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยมี ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยวัสดุสำหรับพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ลงนามเป็นพยาน โอกาสนี้ นายสมชาย สถากุลเจริญ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ให้เกียรติร่วมแสดงความยินดี ทั้งนี้มีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือทั้งสิ้น 5 เดือน 19 วัน นับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 – 30 กรกฎาคม 2562
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตอบรับเข้าร่วมโครงการนำร่อง ร่วมทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ภายใต้โครงการ “สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น” กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยจะนำไปใช้กับรถยนต์ส่วนกลางและรถโดยสารสวัสดิการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 10 คัน ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันประเมินการใช้ B10 จากไบโอดีเซลที่ได้รับการเพิ่มคุณภาพแล้วจริงในภาคสนาม ก่อนการผลักดันให้เกิดการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรม และยังสอดคล้องกับโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างความตระหนักการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในมหาวิทยาลัยและลดมลพิษที่เกิดจากการเดินรถโดยสารภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องกับโครงการทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในรถเก่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี 2561ที่ผ่านมาอีกด้วย
สำหรับโครงการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2560 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่จะส่งเสริมให้การใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นทางเลือกนั้น นายสมชาย สถากุลเจริญ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ได้มีการดำเนินงานแล้วเสร็จในส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล ( H-FAME) ในระดับโรงงานสาธิต ตลอดจนได้ทำการทดสอบการใช้งานในรถกระบะ จำนวน 8 คัน ระยะทางกว่า 80,000 กิโลเมตร และพร้อมนำร่องใช้ B10 ภาคสนาม เพื่อร่วมขับเคลื่อนแนวทางการใช้ไบโอดีเซลผสมในสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการน้ำเข้าน้ำมันดิบ ตลอดจนช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์มในประเทศ ในการเพิ่มอุปสงค์การใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซล ตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงริเริ่มไว้กว่า 30 ปีที่แล้วรวมถึงการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ด้าน ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้ดำเนินการขยายผลกระบวนการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล H-FAME ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่จากงานวิจัยเพื่อเพิ่มคุณภาพการเผาไหม้ให้ดีขึ้น โดยผลิต H-FAME (เฮช-เฟม) เพื่อผสมในดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 10 สำหรับการนำร่องใช้งานกับยานยนต์หลากหลายประเภทกว่า 80 คันในหน่วยงานราชการ จากความร่วมมือกันในวันนี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะร่วมกันติดตามการใช้งานของยานพาหนะด้วยน้ำมัน B10 อย่างใกล้ชิด เพื่อประมวลผลการใช้งานซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการใช้เชื้อเพลิง B10 ตามที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ตั้งเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 30 ในปี 2579 ซึ่งในภาคขนส่งได้มีการตั้งเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลจำนวน 14 ล้านลิตรต่อวัน และครั้งล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นทางเลือก