ม.เกษตรฯ เตรียมนำผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ 14 ชนิด สู่ประชาชน
ม.เกษตรฯ ร่วมกับพันธมิตรไตรภาคี เตรียมนำผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ 14 ชนิด สู่ประชาชน

สวทน. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ เทสโก้ โลตัส เตรียมนำผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพในอนาคต จำนวน 14 ชนิด สู่ประชาชน จากผลสำเร็จภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง ระยะที่ 1 ปี งบประมาณ 2561ม.เกษตรฯ เตรียมนำผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ 14 ชนิด สู่ประชาชน

วันนี้ (20 ก.พ.62)ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ ผู้อำนวยการด้านบริหารระบบงบประมาณและแผนงานวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการด้านติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทน.) มร.เดวิด เบียร์ดมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ สินค้าบริโภค บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชัน ซิสเทม จำกัด หรือ เทสโก้ โลตัส และ รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือทำงานในรูปแบบ 3 ประสาน “ไตรภาคี” (triple helix model) ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง โดยมีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์กลางเครือข่ายความร่วมมือในการทำวิจัยนวัตกรรมแปรรูปอาหาร ทั้งนี้เพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารด้วยระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงให้ได้เป็นอาหารเชิงสุขภาพ และมีรสชาติดี เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรและอาหารแปรรูปในระดับอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามนโยบายและแผนระบบวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2564) และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดยผลสำเร็จระยะที่หนึ่งของโครงการในปีงบประมาณ 2561 สามารถพัฒนาชุดอาหารสุขภาพ ประกอบด้วยอาหารคาว 9 ชนิด อาหารหวาน 2 ชนิด อาหารขบเคี้ยว 2 ชนิด เครื่องดื่ม 1 ชนิด รวมเป็น 14 ชนิด และยังได้ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสและส่วนผสมอาหารอีก 2 ชนิด โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงแบบ minimal process/ novel process เช่น ohmic technology high-pressure technology และ microwave technology encapsulation process และ hurdle technology ร่วมกับการใช้ waste by-product ของวัตถุดิบการเกษตร เพื่อรักษาคุณภาพและสารอาหารเอาไว้ให้มากที่สุดนั้น ทำให้ได้อาหารที่มีสัดส่วนโปรตีนสูงแต่ย่อยง่าย อาหารที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง และอาหารที่มีแหล่งใยอาหารและพรีไบโอติกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมได้แก่ เทสโก้ โลตัส ซึ่งมีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลางมาอย่างต่อเนื่อง จึงตกลงใจเตรียมพร้อมเพื่อการพัฒนาถ่ายทอดและต่อยอดการผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ ในเร็วๆ นี้ จากผลงานวิจัยอาหารสุขภาพที่เป็นผลสำเร็จระยะแรก 3 ชนิด ได้แก่ เส้นโซบะชาใบหม่อนจากแป้งข้าวอบแห้ง ผลงานวิจัยของผศ.ดร.สาวิตรี รัตนสุมาวงศ์, พุดดิ้งข้าวแหล่งใยอาหารและพรีไบโอติกส์ ผลงานวิจัยของรศ.ดร.น้ำฝน ลำดับวงศ์ และผลิตภัณฑ์โอโวฟิชโปรตีนสูงจากแหล่งไข่ขาวและเนื้อปลา ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.กนกรัตน์ ลิมปิโสภณ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารทั้ง 3 ชนิด นอกจากจะดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เช่น ข้าว จาวมะพร้าว และใบหม่อน ลดการเกิดขยะอาหาร (food waste) โดยไม่จำเป็นอีกด้วย

นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัส ยังได้เปิดเผยถึงสินค้าตัวใหม่ “สูตรวาฟเฟิลกรอบ” งานวิจัยวาฟเฟิลจากแป้งข้าวเจ้าและมันสำปะหลังทดแทนแป้งสาลี สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตน ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.กมลวรรณ แจ้งชัด คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยก่อนหน้าโครงการนี้ จะถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้าตัวใหม่สำหรับผู้รักสุขภาพ และคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 นี้แน่นอน

นายคมเมธ จิตวานิชไพบูลย์
นายคมเมธ จิตวานิชไพบูลย์

นายคมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ ผู้อำนวยการด้านบริหารระบบงบประมาณและแผนงานวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการด้านติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทน) กล่าวว่า จากนโยบายและแผนระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2564) มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรและอาหารแปรรูปด้วยระบบวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยรวม ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ จึงมีเป้าหมายส่งเสริมให้มีการใช้ ระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาใช้ในการวิจัยพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหาร และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนรูปแบบการทำงานควรจะเป็นลักษณะ 3 ประสาน คือการทำงานร่วมกันระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา จึงเป็นที่มาของความร่วมมือไตรภาคีในการพัฒนานวัตกรรมวิจัยด้านเกษตรและอาหาร ภายใต้โครงการวิจัย เมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นศูนย์กลางวิจัยของเครือข่าย ทำการวิจัยนวัตกรรมแปรรูปอาหาร โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีแบบminimal process/ novel process และ hurdle technology ผสมผสานกับการคัดเลือกวัตถุดิบตั้งต้นที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ ให้ได้อาหารเชิงสุขภาพ และมีรสชาติดี และผลงานวิจัยที่ได้จะต้องอยู่ใน technology readiness level ระดับ(TRL) 3 ขึ้นไป

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มีความพร้อมสูงในศักยภาพของอาจารย์และนักวิจัยที่ได้ทำงานวิจัยร่วมกับภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาขาเกษตรและอาหาร ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ให้ความสำคัญและมอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานมุ่งเน้นการวิจัยเชิงบูรณาการที่ใช้นวัตกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่ผ่านมามีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิเคราะห์เชิงลึกขั้นสูงในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเกษตรและอาหารมากมาย โดยมีคณะอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน  สำหรับความร่วมมือไตรภาคีในการพัฒนานวัตกรรมวิจัยด้านเกษตรและอาหาร ภายใต้โครงการวิจัย เมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง ระหว่าง สวทน. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชัน ซิสเทม จำกัด(Tesco) นับเป็นต้นแบบที่ดีในการบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำระบบแนวทางด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาคิดค้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสุขภาพในอนาคต ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพทางการตลาดอย่างแท้จริง

รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัตร แจ้งชัด
รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัตร แจ้งชัด

รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการจากสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทน) ในปีงบประมาณ 2561 และ ปีงบประมาณ 2562 โดยมีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นศูนย์กลางเครือข่ายความร่วมมือและการวิจัยแบบบูรณาการ และมีหน่วยงานร่วมได้แก่ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น โดยมีทีมงานอาจารย์ นักวิจัย และนิสิต จำนวน 40 คนร่วมโครงการ

จากโจทย์การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสุขภาพที่ต้องมีการใช้นวัตกรรมขั้นสูง และสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริง ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง นั้น ทางคณะทำงานได้มีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ผสมผสานกับการคัดเลือกวัตถุดิบตั้งต้นที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ ให้ได้เป็นอาหารเชิงสุขภาพ และมีรสชาติดี โดยใช้เทคโนโลยี minimal process/ novel process เช่น ohmic technology high-pressure technology และ microwave technology encapsulation process และ hurdle technology ร่วมกับการใช้ waste by-product ของวัตถุดิบการเกษตร มาวิเคราะห์และสกัดสารมูลค่าเพิ่ม กลับมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้ ผลผลิตจากโครงการในปีงบประมาณ 2561 สามารถพัฒนาเป็นชุดอาหารสุขภาพ ประกอบด้วยอาหารคาว 9 ชนิด อาหารหวาน 2 ชนิด อาหารขบเคี้ยว 2 ชนิด เครื่องดื่ม 1 ชนิด รวมเป็น 14 ชนิด และยังได้ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสและส่วนผสมอาหารอีก 2 ชนิด โดยจุดเด่นของอาหารสุขภาพในอนาคต คืออาหารที่มีสัดส่วนโปรตีนสูงแต่ย่อยง่าย อาหารที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง อาหารที่มีแหล่งใยอาหารและพรีไบโอติกส์ เป็นต้น  ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชัน ซิสเทม จำกัด (Tesco) ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพนี้ ในด้านรสชาติ โอกาสทางการตลาด การยอมรับของผู้บริโภค และความเป็นได้ในการผลิตและจำหน่ายจริง  อีกทั้งยินดีรับผลงานวิจัยที่เป็นอาหารสุขภาพ ซึ่งเป็นผลสำเร็จระยะแรกของโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง ไปทำการพัฒนาถ่ายทอดและผลิตจริงต่อไปในเร็ว ๆ นี้  ได้แก่ เส้นโซบะชาใบหม่อนจากแป้งข้าวอบแห้ง พุดดิ้งข้าวแหล่งใยอาหาร และพรีไบโอติกส์ และผลิตภัณฑ์โอโวฟิชโปรตีนสูงจากแหล่งไข่ขาวและเนื้อปลา เป็นต้น

(ข่าวโดย/นางผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / ประชาสัมพันธ์ มก. / 20 กุมภาพันธ์ 2562)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated