นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลัง พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) รวมพลังไม่ซื้อไม่ขายสินค้าเกษตรด้อยคุณภาพภาคตะวันออก และงานประชาสัมพันธ์ผลไม้คุณภาพดีเอกลักษณ์ภาคตะวันออก ปี 2562 ณ จังหวัดจันทบุรี จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตผลไม้ในภาคตะวันออกปี 2562 จะมีผลผลิตรวม ทั้ง 4 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ประมาณ 911,434 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากช่วงกลางเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งผลผลิตภาพรวมของทั้ง 4 ชนิดจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาทุกชนิด คือ ทุเรียน จำนวน 511,872 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 403,906 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.73 เงาะ จำนวน 194,513 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 173,224 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.29 มังคุด จำนวน 181,390 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 73,576 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 146.53 และลองกอง จำนวน 23,659 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 16,319 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.98 ส่วนผลไม้ภาคเหนือ คือ ลิ้นจี่ จำนวน 41,473 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 41,220 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ต้นไม้ผลมีเวลาพักสะสมอาหารนาน
ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เกิดภาวะแล้ง ผลผลิตจะออกมากกว่าปีที่ผ่านมา ได้กำชับให้มีการคัดคุณภาพและบรรจุ สินค้าผลไม้ 4 สินค้า ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลำไย ส่งให้กับผู้ประกอบการเอกชนในปริมาณรวมไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท และยังชวนกันบริโภคผลไม้ไทยมากยิ่งขึ้น โดยกำชับเจ้าหน้าที่จับตาให้ผลิตที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้เนื่องจากสภาวะอากาศที่เสี่ยงต่อการขาดน้ำ สั่งกำชับเจ้าหน้าที่เกษตร ให้แจ้งเตือนเกษตรกร ช่วยกัน เฝ้าระวัง เฝ้าสวนอย่างใกล้ชิด โดยในประเด็นนี้ จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง) และแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ปี 2562 ให้เป็นไปตามกลไกของตลาดปกติ เน้นการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ 3 ระยะ ตั้งแต่ระยะก่อนเก็บเกี่ยว โดยส่งเสริมการผลิตให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน GAP รวมกลุ่มแปลงใหญ่ และเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า ระยะเก็บเกี่ยว แนะนำเก็บเกี่ยวระยะเหมาะสม ป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้คุณภาพ ระยะหลังเก็บเกี่ยว ให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมของต้นสำหรับฤดูต่อไป ส่วนการจัดการเชิงปริมาณ ก่อนเก็บเกี่ยว ให้สำรวจและจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต ระยะเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล หลังเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลไม้ พร้อมติดตามสถานการณ์ ประเมินผล เพื่อปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ปีต่อไป โดยในช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เกษตรกรต้องสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลมีราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30
“สำหรับทุเรียนได้ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารผลไม้ เพื่อเตรียมการบริหารจัดการทุเรียน โดยกำหนดไว้ 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ภายในปี 2562 เน้นการควบคุมคุณภาพเป็นหลัก เนื่องจากขณะนี้ใกล้ถึงฤดูกาลผลิตทุเรียน จะต้องให้เกษตรกรผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน GAP นอกจากนี้ยังคุมเข้มเรื่อง ทุเรียนอ่อน ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยกรมวิชาการเกษตรจะตั้งด่านสกัด เพื่อป้องกันทุเรียนอ่อนออกนอกแหล่งผลิต ระยะยาว (ปี 62 – 66) ในด้านการผลิตจะเน้นการลดต้นทุน พัฒนาและขยายการผลิตนอกฤดู รวมทั้งการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเข้มแข็งสอดคล้องกับเกษตรแปลงใหญ่ รวมทั้งมีมาตรการบังคับให้ผลิตตามเขตพื้นที่ความเหมาะสมเป็นหลัก ควบคุมคุณภาพทั้งในและนอกฤดู” นายสำราญ กล่าว