ในปัจจุบัน “สหกรณ์” นับเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทย โดยมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายเทียบเท่าภาคเอกชนและมีเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมหาศาล ซึ่งหากนับรวมทุนดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศขณะนี้ รวมเป็นจำนวนกว่า 3.2 ล้านล้านบาท หรือมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นสหกรณ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมเงินทุนของกลุ่มของสมาชิกที่อาศัยอยู่ในวงสัมพันธ์เดียวกัน เช่น ที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน สถานศึกษา หรือมีการประกอบอาชีพเดียวกัน หลักการดำเนินงานของสหกรณ์จึงกำหนดขึ้นมาภายใต้อุดมการณ์ของการร่วมมือกัน เพื่อมุ่งช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีสมาชิกเป็นเจ้าของสหกรณ์ ซึ่งการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงินโดยตรง ทั้งธุรกิจการให้บริการเงินรับฝาก หรือการให้บริการเงินกู้ยืมแก่สมาชิก การส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการบัญชี จึงเป็นสิ่งที่คณะกรรมการสหกรณ์ ฝ่ายจัดการ รวมไปถึงสมาชิกสหกรณ์ จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพื่อช่วยให้ระบบการเงินการบัญชีของสหกรณ์มีความเข้มแข็ง มีการควบคุมภายในที่ดี ดำเนินธุรกิจได้อย่างโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิก และป้องกันความเสี่ยงจากการทุจริตได้
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนไชยราษฎร์ จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีการนำระบบบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจสหกรณ์ โดยได้รับการส่งเสริมความรู้และสนับสนุนการใช้โปรแกรมระบบบัญชีจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เริ่มจากการใช้ระบบโปรแกรมบัญชีแยกประเภทเป็นโปรแกรมแรก ในปี 2549 และใช้เต็มทุกระบบเมื่อ ปี 2554 นับเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งแรกที่ใช้โปรแกรมของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากการใช้โปรแกรมระบบบัญชีแล้ว สหกรณ์ฯ ยังได้นำนวัตกรรม Smart4M มาใช้อำนวยความสะดวกให้แก่คณะกรรมการและสมาชิก ได้มีช่องทางเข้าถึงข้อมูลสหกรณ์ด้วยเทคโนโลยีซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้ตัดสินใจในการบริหารงานสหกรณ์ได้รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้คิดต่อยอดจากการใช้งานโปรแกรมฯ โดยการให้สมาชิกสามารถชำระค่าหุ้น เงินฝากและชำระหนี้ผ่านทางธนาคาร และส่งเอกสารการชำระเงินผ่านทางกลุ่มไลน์ของสหกรณ์ เพื่อที่สหกรณ์จะได้ตรวจสอบรายการชำระเงินดังกล่าวแล้วบันทึกบัญชีรายการรับเงินในระบบโปรแกรม ซึ่งสมาชิกสามารถตรวจสอบรายการชำระเงินของสมาชิกได้ทันทีผ่านทาง Application Smart4M หลังจากสหกรณ์บันทึกรายการรับเงินแล้ว ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกไม่ต้องเดินทางมาทำธุรกรรมทางการเงินกับสหกรณ์ด้วยตัวเอง เป็นการลดเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับสมาชิก ซึ่งปฏิบัติงานอยู่นอกพื้นที่ทำการสหกรณ์ ไม่ต้องมาติดต่อกับสหกรณ์ด้วยตนเอง
นายหิรัญ เรืองสวัสดิ์ รองประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนไชยราษฎร์ จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ฯ จัดตั้งขึ้น จากการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่อ.ไชยราษฎร์ ได้มีสหกรณ์เป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก ทั้งนี้ ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีเงินทุนหมุนเวียนจำนวนกว่า 50 ล้านบาท การบริหารเงินของสมาชิกจึงต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ สหกรณ์ฯ จึงได้นำเครื่องมือที่เปรียบเป็นหัวใจหลักในการบริหารงาน คือ ระบบบัญชี มาใช้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้รู้ตัวตน รู้ฐานะทางการเงิน รู้ทุน รู้ความสามารถในการนำเงินไปลงทุนหรือให้บริการสมาชิก เห็นถึงอดีต ปัจจุบัน และวางแผนไปสู่อนาคตได้ เริ่มจากทำบัญชีด้วยมือ ก็ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยมาใช้ระบบโปรแกรมบัญชี โดยได้รับการสนับสนุนแนะนำการทำบัญชีและให้บริการติดตั้งโปรแกรมระบบบัญชีต่างๆ จากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สุราษฎร์ธานี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจากการนำระบบบัญชีมาใช้ ช่วยให้การบริหารงานคล่องตัว คณะกรรมการได้เห็นงบการเงินและนำหลักฐานทางบัญชีมาวางแผนการบริหารจัดการ ที่สำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกสหกรณ์ ได้เห็นถึงความพร้อมในการบริหารงานของสหกรณ์ที่มีความโปร่งใส มีระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐาน ทำให้สหกรณ์ได้รับรางวัลชมเชย ด้านการจัดทำบัญชีและงบการเงินในปี 2551 และได้รับรางวัลประเภทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนดีเด่นด้านการจัดทำบัญชีและงบการเงิน ในปี 2552
ในส่วนของการส่งเสริมการทำบัญชีให้แก่สมาชิก สหกรณ์ฯ ได้ส่งเสริมให้สมาชิกมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน โดยมีเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ ที่เป็นครูบัญชีอาสาของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มาช่วยให้คำแนะนำ ปรึกษา การจัดทำบัญชีแก่สมาชิกที่สนใจ ซึ่งหลักฐานจากการทำบัญชีของสมาชิกจะเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาการให้เงินกู้ของสมาชิกแต่ละราย
“สหกรณ์ฯ มุ่งเน้นในส่วนของคุณภาพคนโดยใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือ เพื่อพัฒนาคนพร้อมกับมีแหล่งเงินทุนด้วย โดยหลักเกณฑ์การให้กู้แก่สมาชิก พิจารณาจาก 1.การสะสมหุ้น สมาชิกมีการถือหุ้นกับสหกรณ์อย่างสม่ำเสมอ 2.สมาชิกจะต้องผ่านการอบรมสมาชิกใหม่และการอบรมสมาชิกรายปี 3.การร่วมกิจกรรมกับสหกรณ์ เช่น การประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือกิจกรรมอื่นของสหกรณ์ที่ให้สมาชิกมีส่วนร่วม 4.วัตถุประสงค์ในการกู้กับความสามารถในการชำระคืนของสมาชิกแต่ละราย ซึ่งคนที่ทำบัญชีครัวเรือนจะได้สิทธิพิเศษในการพิจารณาให้เงินกู้ เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ ถือเป็นเครดิตของคนที่เข้ามากู้ โดยดูจากระเบียบวินัยในการใช้จ่ายเงินของเขาด้วย”รองประธานสหกรณ์ฯ กล่าว
การนำบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจสหกรณ์ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ สะท้อนให้เห็นตัวตนของสหกรณ์ได้อย่างชัดเจน ทั้งผลการดำเนินงาน ฐานะทางการเงิน ช่วยป้องกันการทุจริตและป้องกันการสูญหายของสินทรัพย์ นอกจากนี้ยังใช้เป็นแหล่งข้อมูลทางการเงินในการตัดสินใจด้านต่างๆ ของผู้บริหาร เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชี สามารถนำมาวางแผนควบคุม วัดผลดำเนินงาน และตัดสินใจในการขยายธุรกิจและการงานด้านต่างๆ นำมาสู่ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกและพัฒนาสหกรณ์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน.