ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย โดยผลผลิตมากกว่าร้อยละ 90 ใช้ในภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ทั้งเพื่อใช้ในประเทศและเพื่อการส่งออก การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย มีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลอดทั้งปี แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงต้นฝน ปลายฝน และฤดูแล้ง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะอาศัยน้ำฝนช่วยในการเพาะปลูก ส่งผลให้ข้าวโพดที่ปลูกช่วงต้นฝน และปลายฝน
ทั้งนี้การเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงนี้นั้น จะส่งผลให้ผลผลิตมีความชื้น อาจทำให้เกิดเชื้อราและมีการปนเปื้อน สารพิษอะฟลาทอกซินได้ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดสภาวะฝนแล้ง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ปรับแผนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยบูรณาการเชื่อมโยงหน่วยงานจากหลายภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐปลูกข้าวโพดหลังนา โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้ทำการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา และขณะนี้ในบางพื้นที่ได้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว คาดว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นต้นเดือนพฤษภาคม 2562 และเพื่อให้การขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีคุณภาพ ได้ราคาดี จึงจำเป็นต้องมีการเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธี ดังนี้
ในระยะการเก็บเกี่ยว เกษตรกรควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดแก่จัดแห้งสนิท ที่อายุ 110-120 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ และสภาพแวดล้อมภูมิอากาศ โดยสังเกตที่ใบและต้นข้าวโพดแห้งสนิทเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวทั้งแปลง เมื่อแกะเมล็ดแห้งเสร็จจะเห็นเนื้อเยื่อสีดำอยู่ที่โคนเมล็ด แสดงให้เห็นว่าข้าวโพดสุกแก่ทางสรีระ ส่วนอุปกรณ์และการเก็บเกี่ยวนั้น เกษตรกรสามารถเก็บได้ด้วยแรงงานคนและเครื่องจักร
วิธีการเก็บด้วยแรงงานคน สามารถใช้ไม้ปลายแหลมแทงเปลือกบริเวณปลายฟัก ต้องระวังอย่าให้โดนเมล็ด ปอกเปลือกแล้วใส่ในตะกร้า หรือกระสอบป่าน หรือวางกองไว้บนผ้าพลาสติก หรือเก็บเกี่ยวโดยหักข้าวโพดทั้งฝักแล้วนำมาแกะเปลือกภายหลัง หรือเก็บไว้ทั้งเปลือก การเก็บเกี่ยววิธีนี้ทำได้เร็ว ช่วยป้องกันไม่ให้เมล็ดเกิดแผลหรือเมล็ดร้าวในระหว่างการเก็บเกี่ยวหรือขนย้าย นอกจากนี้เปลือกยังช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อราและแมลงสัมผัสเมล็ดโดยตรง
ส่วนการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักร ข้อดีคือ สามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว ลดการใช้แรงงานคน แต่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในพื้นที่ราบ และไม่ควรเดินรอบเครื่องต้นกำลังเร็วไป เพราะจะทำให้เมล็ดหัก เกิดเชื้อรา ขายได้ราคาต่ำ
จากผลตอบรับของเกษตรกรที่นำผลผลิตออกจำหน่ายแล้วโดยตรง พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการฯ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ให้ผลผลิตเกิน 1,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ ในราคา 8 บาทต่อกิโลกรัมที่ความชื้นที่ 14.5% เกษตรกรก็จะมีรายได้ประมาณ 8,000 กว่าบาทต่อไร่ เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ไม่เกิน 5,000 ต่อพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อเทียบแล้วรายได้และกำไรที่เกษตรกรจะได้รับมากกว่าการทำนาปรังอย่างน้อยประมาณ 3,000 บาทต่อไร่ รวมทั้งการมีแหล่งรับซื้อที่กรมส่งเสริมการเกษตรประสานงานร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดตั้งจุดรับซื้อ 262 แห่ง ในพื้นที่ 37 จังหวัด ส่วนในพื้นที่ไม่มีสหกรณ์ ได้ประสานหน่วยงานภาคเอกชนตั้งจุดรับซื้อทั้ง 32 จุดนั้น ทำให้เกษตรกรมีแหล่งขายผลผลิตที่แน่ชัด จึงเป็นส่วนช่วยลดต้นทุนค่าเดินทางให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี