รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวน ประจำปี 2562 ได้แก่ “เรือง ศรีนาราง” เกษตรกรชาวสวนทุเรียนจังหวัดตราด ก่อนหน้านั้น (ปี 2561) สาขาเดียวกันนี้ได้แก่ คุณธีรภัทร อุ่นใจ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนจังหวัดจันทบุรี และก่อนหน้านั้น (ปี 2559) ได้แก่ คุณอุดม วรัญญูรัฐ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนจังหวัดจันทบุรี ทั้ง 3 ท่าน มีความเหมือนคือเป็นเกษตรกรชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกและเป็นประธานแปลงใหญ่ทุเรียนและถือได้ว่าทั้ง 3 ทำงานประสานกันตลอด “ทุมเทเพื่อสังคม” ชนิดที่ว่าคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
“เกษตรก้าวไกล” ได้เคยนำเสนอประวัติผลงาน 2 ท่านแรก โดยเฉพาะคุณธีรภัทร อุ่นใจ บุกถึงบ้านและสวนมาแล้ว มาวันนี้ขอเสนอประวัติและผลงานของคุณเรือง ศรีนาราง โดยได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลจาก กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
ประวัติชีวิต ก่อนจะมีวันนี้
นายเรือง ศรีนาราง อายุ 55 ปี การศึกษา วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร จาก มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา จังหวัดพิษณุโลก (พื้นฐานการศึกษาเดิม สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. ปี 2523) สถานภาพ สมรส มีบุตร 2 คน ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 34/2 หมู่ที่ 6 ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด โทรศัพท์ 089 833 5199
ผลงานดีเด่น ความคิดริเริ่ม และความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน
แนวคิดในการทำงาน สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดคือ การเป็นเกษตรกร โดยมีแนวคิดในการทำการเกษตร คือ “ทำจริง ต่อยอด พัฒนา ส่งต่อ” ซึ่งให้คำนิยามดังนี้
- ทำจริง คือ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
- ต่อยอด คือ นำองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับมาทดลองปฏิบัติและปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่
- พัฒนา คือ พัฒนาตนเองโดยเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอและนำมาประยุกต์ใช้ภายในสวน
- ส่งต่อ คือ การส่งต่อกิจการสู่รุ่นลูกและส่งต่อองค์ความรู้สู่เพื่อนเกษตรกรอย่างไม่ปิดบัง
คุณเรือง ศรีนาราง พื้นฐานครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ฐานะยากจน รักอาชีพเกษตรกร จึงมุ่งมั่นเรียนด้านการเกษตร หลังจากจบการศึกษาระดับ ปวช. ปี 2523 ได้เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างในสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดจันทบุรี ต่อมาได้ทำงานปลูกป่าที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จังหวัดจันทบุรี เริ่มประกอบอาชีพทำสวนควบคู่กับทำงานเป็นลูกจ้างไปด้วย ในระยะแรกทำสวนในลักษณะกงสีมีพ่อแม่ของภรรยาเป็นเจ้าของสวน มีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ เงาะ ลองกอง ในรูปแบบผสมผสานในที่ดินผืนเดียวกัน โดยเน้นทุเรียนเป็นหลัก ต่อมาในปี 2539 เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ชาวสวนประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำแห้ง ฝนทิ้งช่วงไม่มีน้ำรดต้นไม้ จึงมีแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำโดยสร้างอ่างเก็บกักน้ำ และเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ นำไปปฏิบัติตามเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการแย่งกันใช้น้ำของชุมชน ต่อมาในปี 2545 วางแผนการบริหารจัดการสวนไม้ผลโดยอาศัยองค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์และศึกษาการตลาดจากพ่อค้าที่มารับซื้อทุเรียน โดยเฉพาะเรื่องการทำทุเรียนนอกฤดู ช่วงระยะเวลาในการออกดอก ระยะที่ผลผลิตออกมาไม่ล้นตลาด จึงริเริ่มทำทุเรียนนอกฤดู ส่งผลให้มีผลผลิตมากขึ้น และได้ราคาที่สูง จึงมีเงินทุนในการขยายพื้นที่เพิ่มอีกขึ้น ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 127 ไร่ เน้นปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก จากประสบการณ์การปลูกทุเรียนทำให้เกิดองค์ความรู้ต่างๆ ดังนี้
จากประสบการณ์ทำให้เกิดองค์ความรู้
1) การทำทุเรียนให้ออกก่อนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีเทคนิคการทำให้ออกก่อนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้ผลผลิตและแก้ไขปัญหาผลผลิตกระจุกตัวซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงออกสู่ตลาดมาก ดังนี้
1.1) การฉีดพ่นสารพาโคลบิวทราโซล
1.2) การคลุมโคนด้วยผ้าพลาสติก และตัดปลายรากฝอย เพื่อลดความชื้นในดินและลดการหาอาหารของรากพืช เมื่อเริ่มออกดอกจึงนำพลาสติกออก พบว่าออกดอกเร็วขึ้นและตาดอกไม่เปลี่ยนเป็นตาใบถึงแม้จะมีฝนตกหนัก
2) การปรับพื้นที่เพื่อปลูกทุเรียนในที่นาเก่าหรือที่ลุ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่นาเก่าไม่เหมาะสมกับการปลูกไม้ผลโดยเฉพาะทุเรียนจึงได้พัฒนาพื้นที่โดยการปลูกแบบยกโคก และขุดร่องระบายน้ำ เป็นต้น
3) การปลูกระยะชิด โดยใช้ระยะ 10 X 10 เมตร และปลูกทุเรียนแซมระหว่างกลาง ทำให้พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกทุเรียนได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 30 ต้นต่อไร่ เป็นวิธีหนึ่งช่วยในเรื่องการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ รวมทั้งใช้เครื่องจักรกลเข้ามาช่วยในการผลิตทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
4) การดูแลรักษาต้นทุเรียนอายุมาก เนื่องจากทุเรียนที่ปลูกบางส่วนเป็นทุเรียนชุดแรกมีอายุมากประมาณ 32 ปี จำเป็นต้องดูแลรักษาโดยตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมีหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทันทีเพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องทุกปี
5) การป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าโดยใช้ความร้อน สาเหตุเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า ทำให้ต้นทุเรียนทรุดโทรม หากเป็นมากๆ ต้องโค่นต้นทิ้ง จึงนำเทคนิคการใช้ความร้อนเพื่อรักษาโรคดังกล่าว ดังนี้
5.1) ขูดเปลือกไม้ให้เห็นแผลชัดเจน และนำเปลือกไม้ไปเผาทำลายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อลงสู่ดิน
5.2) ใช้ความร้อนจากหัวพ่นแก็ส พ่นบริเวณแผลที่ขูดให้ทั่วแผล
5.3) ทำด้วยสารเคมีเมทาแลกซิลหรือ ฟอสอีทิล-อลูมีเนียมที่บริเวณแผล
5.4) เมื่อแผลแห้งทาทับด้วยเชื้อไตรโคเดอร์มาเพื่อควบคุมโรคอีกครั้งหนึ่ง
6) การให้ปุ๋ยและเชื้อไตรโคเดอร์มา + น้ำหมัก+จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง พร้อมระบบน้ำเพื่อประหยัดแรงงาน การให้ปุ๋ยเคมีจะให้เฉพาะฤดูแล้ง ส่วนการใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา น้ำหมัก จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง สามารถให้ได้ตลอดทั้งปี
7) การปลูกไม้บังลมเพื่อลดความเสียหายของผลผลิตและใบทุเรียน การทำสวนสิ่งที่ควบคุมได้ยาก คือ สภาพภูมิอากาศและลมพายุ ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตทำให้หลุดร่วงในช่วงติดผลและใบทุเรียนได้รับความเสียหาย ต่อการสังเคราะห์แสงของทุเรียน จึงป้องกันโดยการปลูกไม้บังลมเช่น กระถินเทพา ไผ่ เป็นต้น
8) การปลูกพืชแซมเพื่อสร้างรายได้ระหว่างปี เป็นการจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพราะการทำสวนทุเรียน จะให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง จึงต้องปลูกพืชเศรษฐกิจหรือไม้ใช้สอยอื่นๆ แซมระหว่างต้น เช่น ลองกอง กาแฟ หมาก เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดรายได้ระหว่างปี และเป็นแนวทางทำการเกษตรแบบยั่งยืน
9) การใช้เครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน เพื่อลดการใช้แรงงานคน เช่น รถตัดหญ้าแบบนั่ง รถพ่นยาแบบแอร์บัส เครื่องผสมปุ๋ย รถยก เป็นต้น
10) น้ำหมักชีวภาพและจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง เพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารต่างๆ ให้เหมาะ กับการเจริญเติบโตของพืช
ผลงานและความสำเร็จของผลงาน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ตลอดระยะเวลา ที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ
- ปี 2561 ผลผลิตเฉลี่ย 2,887 กก./ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร : 1,136 กก./ไร่)
- ต้นทุนการผลิต ปี 2559 : 25,379 บาท/ไร่ (10 บาท/กิโลกรัม) , ปี 2560 : 21,825 บาท/ไร่ (9 บาท/กิโลกรัม), ปี 2561 : 22,452 บาท/ไร่ (8 บาท/กิโลกรัม)
- ได้รับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 100 ไร่
- มีแผนการผลิตเพื่อให้ทุเรียนสามารถเก็บเกี่ยวได้ช่วงกลางเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทุเรียนสูง และเพิ่มคุณภาพผลผลิตเกรด A- B ประมาณ 82 เปอร์เซ็นต์ และมีผลผลิตตกไซด์ 18 เปอร์เซ็นต์
- การใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงสภาพการผลิต เช่น การผลิตทุเรียนคุณภาพดีก่อนฤดูเพื่อการส่งออก หรือจัดการให้ต้นทุเรียนพร้อมเพื่อการผลิตนอกฤดู ด้วยการฉีดพ่นสารพาโคลบิวทราโซล การจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตด้วยการตัดแต่งผล โยงผล นับวันเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-120 วันหลังดอกบาน และการปลูกพืชแซม เพื่อเสริมรายได้เพิ่ม
- ความยั่งยืนในอาชีพ มีบุตรที่ช่วยดูแลกิจการโดย บุตรชายช่วยดูแลด้านการผลิตและธุรกิจล้งรวบรวมผลผลิตทุเรียน ส่วนบุตรสาวช่วยดูแลด้านตลาดและจำหน่ายผลผลิตสดและแปรรูป รวมทั้งจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์
- การเพิ่มมูลค่าผลผลิตและการตลาด
- การเพิ่มมูลค่า โดยนำผลผลิตที่ตกเกรดไปแปรรูปภายใต้ชื่อ “ALLBOX”
- การตลาด ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดตราด เปิดล้งรวบรวมทุเรียนสดคุณภาพดีส่งไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้แผงชื่อ “แผงตาเรือง”
ความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ
- ปี 2553-ปัจจุบัน รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราดคนที่ 1
- ปี 2555-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งในสภาเกษตรกรจังหวัดตราด ดังนี้ ประธานคณะทำงานด้านพืชสวนและพืชไร่ รองประธานคณะทำงานด้านข้าว คณะทำงานด้านเกษตรอินทรีย์และเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการน้ำและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คณะทำงานด้านปศุสัตว์ คณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม
- ปี 2555-ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอื่นๆ ดังนี้ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างคลองขวาง ประธานกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนฯ,รองประธานคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนคลองขวาง
- ปี 2560 ประธานชุมชนกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ชุมชนที่ 5 ตำบลท่ากุ่ม ภายใต้โครงการ 9101
- ปี 2560 –ปัจจุบัน ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย
- ปี 2561 ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม – เนินทราย ประธานศูนย์ดิน-ปุ๋ยตำบลท่ากุ่ม ประธานกลุ่มย่อยโครงการส่งเสริมรายได้ ประธานแปลงใหญ่จังหวัดตราด เลขานุการแปลงใหญ่ระดับเขต
- ปัจจุบันเป็น Smart farmer ต้นแบบ
- เป็นคณะทำงานร่วมประชุมวางแผนแก้ไขปัญหาผลไม้ร่วมกับหน่วยงานราชการและท้องถิ่น รวมทั้งจัดทำข้อเสนอการพัฒนาคุณภาพผลไม้เพื่อยกระดับราคาตามแนวทาง GAP
- คณะทำงานเจรจาการค้ากับแม่ค้าไทยและลาว จังหวัดหนองคายร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอผลไม้ไทยในประเทศญี่ปุ่นร่วมกับกรมวิชาการเกษตร นำทุเรียนไปร่วมจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอผลไม้ไทยในประเทศกัมพูชาและเวียดนามร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตราด
- ร่วมกับบริษัทไทยอะกริเน็ตเวิร์ค หรือบริษัทเครือข่ายเกษตรกร 4 ภูมิภาค รวบรวมผลผลิตทุเรียนจำนวน 340 ตัน มูลค่า 27.2 ล้านบาทส่งตลาดประเทศจีน
- เป็นวิทยากรรับเชิญจากทั้งมหาวิทยาลัยและกลุ่มเกษตรกร
- เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำจังหวัดตราดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ที่ตั้งสวนอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.) โดยเป็นชื่อของครอบครัว
- ปรับปรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่ทำเอง ร่วมกับปุ๋ยเคมี เป็นการลดต้นทุนการผลิต
- ป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยใช้จุลินทรีย์ที่ทำเองโดยเฉพาะไตรโคเดอร์มาร่วมกับวิธีกล (ขูดเปลือก เผาไฟ และทาเชื้อโตรโคเดอร์มา)
- ป้องกันกำจัดเชื้อไฟทอปธอร่าในทุเรียน, สารหมักจากเชื้อ พ.ด.8 เพื่อกำจัดไรแดง และจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน
- รักษาความชื้นในดิน โดยตัดหญ้าด้วยเครื่องตัดหญ้าแทนการใช้สารเคมีและปลูกพืชแซม
- รักษาแหล่งน้ำ ด้วยการขุดลอกคลองเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปีและเผื่อแผ่ให้เกษตรกรใกล้เคียง
- มีการจัดการบ้านพักและสวนเป็นสัดส่วน มีแหล่งน้ำที่เพียงพอ ติดตั้งระบบสปริงเกอร์ทุกต้น