หลังจากที่สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องผลผลิตมังคุด “ราชินีผลไม้” จากสวนราคาตกต่ำ พอมาวันนี้ (วันที่ 3 เมษายน 2562) ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการแถลงข่าว การใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัย “สารแซนโทน (Xanthone) จากเปลือกมังคุด” มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ความงามระดับโลก เหมือนว่าราชินีผลไม้นี้มีดีอีกมาก ไม่ต้องกลัวใดๆ
การแถลงข่าวในวันนี้ไม่ได้ทำขึ้นลอยๆ แต่มีการลงนามบันทึกข้อตกลงอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัย โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี และนายอัษฎา เทพยศ ประธานบริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัย “สารแซนโทน (Xanthone) จากเปลือกมังคุด” ภายใต้ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในรูปแบบการอนุญาตให้ใช้สิทธิ “ถือครองแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Licensing)” เป็นเวลา 5 ปี โดยบริษัทสามารถนำผลงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น โดยมี ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ เป็นผู้กล่าวถึงที่มาและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี
นายอัษฎา เทพยศ ประธานบริษัท บริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องสำอางชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย ได้รับมาตรฐานระดับสากล อาทิ ISO 9001:2015 ASEAN GMP ISO 22716 มาตรฐานแรงงานไทย และมาตรฐานโรงอุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านความงามและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยนโยบายยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการยอมรับในตลาดความงามระดับโลก ด้วยรางวัลต่างๆมากมาย… “เราจะนำสารแซนโทน (Xanthone)ที่ได้จากเปลือกมังคุดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ความงามให้เขย่าโลก” นายอัษฎา กล่าวอย่างมั่นใจ
สำหรับงานวิจัย “สารแซนโทน (Xanthone) จากเปลือกมังคุด” เป็นผลงานของ ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ นักวิจัยชำนาญการ และทีมนักวิจัยประกอบด้วย น.ส.ประภัสสร รักถาวร น.ส.เกสรี กลิ่นสุคนธ์ น.ส.ลลิตา คชารัตน์ น.ส.สริสา สายกโรจน์ น.ส.ทิพาพร ทองคำ และ น.ส.ณัฐกรณ์ เปรสันเทียะ ฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสาร แซนโทน (Xanthone) จากเปลือกมังคุด เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งสารแซนโทนเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สกัดแยกได้จากเปลือกมังคุด และทำให้เป็นสารบริสุทธิ์ นำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้ใช้เครื่องสำอางที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวและหนอง ได้แก่ เชื้อ Propionibacterium acnes , Staphylococcus epidermidis และ Styphylococcus aureus ได้ดี ช่วยลดการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสื่อมสภาพของเซลล์ผิวหนัง ช่วยฟื้นฟูซ่อมแซมเซลล์ผิว ทำให้ผิวพรรณดูอ่อนเยาว์ และสามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ทำให้มีการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ลดลง
ต่อมาเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ และทีมนักวิจัย ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยที่มีส่วนผสมของสาร แซนโทน (Xanthone) จากเปลือกมังคุด ในรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ เจลแต้มสิว “คาพีโอกุ (KAPIOKU Acne Gel)” โดยพัฒนาสูตรเจลแต้มสิวที่มีส่วนผสมของสาร แซนโทน (Xanthone) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารบริสุทธิ์จากสมุนไพรทดแทนสารเคมีและยาปฏิชีวนะ เจลแต้มสิวสูตรผสมสารแซนโทนบริสุทธิ์จากเปลือกมังคุด ช่วยดูแลเรื่องสิวได้อย่างครบวงจร เนื้อเจลซึมซาบสู่ผิวได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดการอักเสบและการสะสมของแบคทีเรีย สาเหตุของการเกิดสิว ตลอดจนช่วยลดรอยด่างดำหลังการเกิดสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลิตภัณฑ์นี้ ได้รับรางวัล สุดยอดนักประดิษฐ์ จากโครงการประกวด สุดยอดนวัตกรรม เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ 2015” จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
“รู้สึกภูมิใจมากที่ผลงานวิจัยได้ถูกพัฒนาและนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชนิดต่างๆ มั่นใจในตัวสารแซนโทน(Xanthone) และผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มาลงนามวันนี้ ว่าจะสามารถขยายผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มลูกค้าในประเทศต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง และในส่วนตัวคิดว่าจะทำให้ผลผลิตมังคุดของเกษตรกรไทยเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะเปลือกมังคุดที่เคยไร้ค่า ซึ่งที่ผ่านมาได้ซื้อมาจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารในราคากิโลกรัมละ 1-3 บาท และนำผลิตผ่านกระบวนการสกัดสาร ซึ่งเมื่อนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 1,000 เท่าเลยทีเดียว” ดร.อุดมลักษณ์ กล่าว (คำสัมภาษณ์เพิ่มเติมชมจากคลิปข้างต้น)
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียด หรือขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ นักวิจัยชำนาญการ ฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 09 – 8554 – 1462