บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต จับมือกับกลุ่มวังขนาย และสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม จัดงานรณรงค์ ‘ตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร’ พร้อมสาธิตการจัดการใบอ้อยและตัดอ้อยสดด้วยนวัตกรรมการเกษตรของคูโบต้า เพื่อให้ข้อมูลความรู้และแนวทางการเก็บเกี่ยวอ้อยสดแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในจังหวัดมหาสารคาม เมื่อ 30 มีนาคม 2562
จากปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่ปกคลุมบางจังหวัดในประเทศไทยขณะนี้ พบว่ามีสาเหตุมาจากการเผาในที่โล่ง 54% อุตสาหกรรม 17% การขนส่ง 13% การผลิตไฟฟ้า 8% และที่พักอาศัย 7% ซึ่งมีผลทำให้ผู้ที่มีโรคระบบการหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ และในระยะยาวยังส่งผลต่อการทำงานของปอด จนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองรวมถึงมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหานี้อยู่ในความสนใจทั้งจากประชาชน รัฐบาลและฝ่ายเอกชน
สมาคมชาวไร่อ้อย รณรงค์ให้เกษตรกรมีส่วนร่วม
คุณศราวุธ ภูนาสี เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศที่สูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับบทบาทภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ได้ขอความร่วมมือให้ทุกโรงงานกำหนดมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ฤดูการผลิตปี 2561/62 เพื่อให้เกิดการร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ สมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคามจึงร่วมกับโรงงานน้ำตาลวังขนาย และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดทำโครงการรณรงค์ “ตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร” เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน กระตุ้นให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ตลอดจนมีทางเลือกในการเก็บเกี่ยวด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร
กลุ่มวังขนาย ให้สิทธิพิเศษ
คุณธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางกลุ่มวังขนายได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการลดมลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการผลิต 61/62 ทางกลุ่มวังขนายได้ประกาศนโยบายเป็นปีแห่งการรณรงค์ ตัดอ้อยสด สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อน โดยเริ่มตั้งแต่ 1. การลงพื้นที่ประชุมสัญจรเพื่อชี้แจงให้ชาวไร่อ้อยเข้าใจ รับทราบถึงปัญหา ผลกระทบจากการตัดอัอยไฟไหม้ อ้อยมีสิ่งปนเปื้อน ที่มีผลต่อโรงงานและตัวชาวไร่เอง ที่ต้องถูกหักราคาอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท อ้อยยอดยาวและอ้อยปนเปื้อนตันละ 20 บาท 2. ติดป้ายประชาสัมพันธ์หน้าโรงงานและทุกสถานีขนถ่าย เพื่อชี้แจงบทลงโทษและผลกระทบที่เกิดขึ้นของมลพิษทางอากาศ 3. ตั้งคณะทำงานให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจสอบคุณภาพอ้อยหน้าโรงงานและสถานีขนถ่ายทุกแห่งในเขตส่งเสริม หากตรวจพบอ้อยปนเปื้อนจะมีมาตรการตัดราคาจนถึงขั้นปฏิเสธการรับซื้อ 4. จัดทำโปรโมชั่นพิเศษให้กับชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานโดยการสะสมบิลรับอ้อยสดเพื่อนำมาแลกของสมนาคุณ ซึ่งจากผลการดำเนินงานปีการผลิต 2561/62 มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 15 % และวางเป้าหมายปี 62/63 ให้มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลง 30%
สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองพิษ PM 2.5 กลุ่มวังขนายได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและบริษัท สยามคูโบต้า จำกัด จัดทำโครงการตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในมาตรการแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้แบบบูรณาการ วางแนวทางส่งเสริมการตัดอ้อยสดให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเก็บเกี่ยวด้วยเทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนให้เกษตรกรตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน
สยามคูโบต้า โชว์จักรกลเกษตรแบบครบวงจร
คุณสมบูรณ์ จินตนาผล ที่ปรึกษา-สำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเผาในที่โล่งบนพื้นที่การเกษตร ซึ่งเกิดจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย และลดเวลาการตัดอ้อยส่งโรงงานให้ทันกำหนด เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สยามคูโบต้าจึงร่วมสนับสนุนการทำเกษตรแบบไม่เผา ด้วยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจรในไร่อ้อย พร้อมการทำเกษตรแบบไม่เผาด้วยวิธี KAS เกษตรครบวงจรเอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้า เพื่อเสนอเป็นทางเลือกในการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างมืออาชีพ และเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์การทำเกษตรไม่เผา ช่วยลดมลพิษ ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่องค์กรเอกชนและภาครัฐต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง อีกทั้งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอินทรีย์วัตถุในดินและการรักษาความชื้นในดิน เพื่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืน
สำหรับชุดเครื่องจักรกลการเกษตรคูโบต้า เพื่อทำเกษตรแบบไม่เผาในไร่อ้อยแบบครบวงจร ในขั้นตอนสำคัญๆ โดยเฉพาะขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ซึ่งได้มีการสาธิตการใช้เครื่องจักรเกษตรให้ชมกัน ในวันที่เปิดตัวรณรงค์ตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เมื่อวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2562 ณ แปลงปลูกอ้อยของเกษตรกร จังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ การจัดการใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องสางใบอ้อย รุ่น SLR110H ทำหน้าที่สางใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว โดยการตีใบอ้อยให้ละเอียดด้วยชุดโรลเลอร์จำนวน 4 ชุด ที่มีรอบหมุนที่รวดเร็วมากกว่า 900 รอบต่อนาที ทำให้ได้ลำอ้อยที่สะอาด เกษตรกรสามารถเข้าไปตัดอ้อยสดได้ง่ายขึ้น การตัดอ้อยสด ด้วยเครื่องตัดอ้อย รุ่น SCR100 ทำหน้าที่ในการเก็บเกี่ยวอ้อยสด ประกอบด้วย ระบบชุดสางใบอ้อย ถูกออกแบบให้ชุดโรลเลอร์ สามารถตัดยอดอ้อยสดได้ตั้งแต่ 1.5 – 4 เมตร ปรับระยะความสูงและองศาการตัดของใบมีดให้เหมาะสมกับแปลงอ้อยและโคนต้นอ้อยได้อย่างสม่ำเสมอ การจัดการใบอ้อย ด้วยเครื่องอัดฟาง รุ่น HB135 จะทำหน้าที่ในการอัดใบอ้อยหลังจากการเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปให้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ช่วยลดการเผาใบอ้อยก่อนการเตรียมดิน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ครอบคลุมในขั้นตอนอื่น ๆ เช่น การจัดการใบอ้อย ด้วยผานสับคลุก สำหรับไถสับคลุกใบอ้อยเพื่อการเตรียมดินก่อนจะทำการเพาะปลูกในครั้งต่อไป การเตรียมดิน ด้วยเครื่องพ่นสารเอนกประสงค์ สำหรับฉีดพ่นสารอินทรีย์ช่วยย่อยสลายใบอ้อยก่อนการเตรียมดิน และการบำรุงรักษา ด้วยเครื่องฝังปุ๋ยแบบมีชุดใบตัดที่ด้านหน้า เพื่อตัดใบอ้อยที่อยู่บนดิน ทำให้ชุดฝังปุ๋ยทำงานได้ถึงแม้จะมีใบอ้อย
ซึ่งผู้ที่สนใจการทำเกษตรแบบไม่เผา ด้วยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจรในไร่อ้อย สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์สยามคูโบต้า โทร. 02-909-1234