ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่มีการผลิตหลายขั้นตอน การเก็บเกี่ยวเป็นขั้นตอนหนึ่ง
ที่มีความสำคัญ และมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ เก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน และเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรกล

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปกติข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยจะปลูก
3 ฤดู คือต้นฝน ปลายฝน และฤดูแล้งหลังนา ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกในช่วงฤดูแล้งหลังนาจะมีคุณภาพดีที่สุดเป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคา เพราะเก็บเกี่ยวในช่วงที่ปลอดฝน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ โดยทั่วไปอายุการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะอยู่ที่ 120 วัน ส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรจะเริ่มปลูกตั้งแต่พฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และจะเริ่มทยอยเก็บผลผลิตตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม

บทความชิ้นที่ 3_190611_0002

ระยะการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเกษตรกรควรเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวโพดแก่จัดและแห้งสนิท อายุ 120 วันขึ้นไปแต่ไม่ควรเกิน 130 วัน ทั้งนี้อยู่กับชนิดพันธุ์และสภาพภูมิอากาศ โดยสังเกตใบและต้นข้าวโพดว่าแห้งสนิทเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวทั้งแปลง เมื่อแกะเมล็ดจะเห็นเนื้อเยื่อสีดำอยู่ที่โคนเมล็ด ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวโพดมีน้ำหนักแห้งสูงสุด ความชื้นของเมล็ดในช่วงนี้จะอยู่ที่ประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์

โดยทั่วไปแล้วการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มี 2 วิธี คือ ใช้แรงงานคน และใช้เครื่องจักรกล ถ้าใช้แรงงานคนเก็บเกี่ยวโดยใช้ไม้ปลายแหลมแทงเปลือกบริเวณปลายฝัก แต่อย่าให้โดนเมล็ด ปอกเปลือกแล้วใส่ในตะกร้า เข่ง กระสอบป่าน หรือวางกองไว้บนผ้าพลาสติก หรือเก็บโดยหักข้าวโพดทั้งฝักแล้วนำมาปอกเปลือกภายหลังก็ได้เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดเกิดแผลหรือร้าวในระหว่างเก็บเกี่ยวหรือขนย้าย ที่สำคัญคือไม่ควรวางฝักข้าวโพดบนพื้นที่ชื้นแฉะ ไม่โยนฝักข้าวโพดเพราะจะทำให้เกิดบาดแผลบนผิวของเมล็ดหรือเมล็ดร้าวทำให้เชื้อราเข้าทำลายเมล็ดได้ง่าย และให้แยกฝักเน่าหรือฝักที่มีเชื้อราออกจากฝักดี แล้วนำไปทำลาย

บทความชิ้นที่ 3_190611_0005

หากใช้เครื่องจักรกลเก็บเกี่ยว ถ้าเป็นช่วงที่ข้าวโพดมีความชื้นสูงไม่ควรเดินรอบเครื่องยนต์ต้นกำลังเร็วเกินไป เพราะจะทำให้เมล็ดแตกหัก เกิดเชื้อราหรือสารอะฟลาทอกซิน ทำให้ขายผลผลิตได้ราคาต่ำ ข้อดีของการใช้เครื่องจักรกลเก็บเกี่ยวคือลดปัญหาเรื่องแรงงานคน เก็บเกี่ยวได้รวดเร็ว และช่วยสับต้นหรือตอซังข้าวโพดให้ละเอียดเป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดินสำหรับการเพาะปลูกข้าวในฤดูใหม่ ที่สำคัญการเก็บเกี่ยวโดยวิธีนี้รถเก็บเกี่ยวหรือเครื่องจักรกลต้องมีคุณภาพ

ข้อควรระวังและหลีกเลี่ยง คือ ไม่เก็บเกี่ยวในขณะที่ฝนตกหรือหลังฝนตกทันทีเพราะเมล็ดจะมีความชื้นสูง ถ้ามีฝนตกขณะเก็บเกี่ยวให้ใช้ผ้าพลาสติกหรือผ้าใบคลุมกองข้าวโพดและคลุมข้าวโพดที่อยู่บนรถบรรทุกที่ขนส่งระหว่างแปลงปลูกไปยังลานตาก ยุ้ง หรือจุดนัดหมายเพื่อสีข้าวโพด ส่วนการขนย้ายเมื่อบรรจุเมล็ดข้าวโพดในกระสอบป่านที่สะอาดแล้วเย็บปากถุง รถบรรทุกต้องสะอาดและเหมาะสมกับปริมาณข้าวโพด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสารเคมี กรณีขนส่งในฤดูฝนต้องมีผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวโพดดูดความชื้นจากภายนอก ซึ่งจะทำให้เกิดเชื้อราและมีการปนเปื้อนสารพิษอะฟลาทอกซิลได้ง่าย

บทความชิ้นที่ 3_190611_0003

สำหรับการนำผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาออกจำหน่ายแล้วในหลายพื้นที่พบว่า  เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา  เพราะขายได้กำไรดีกว่าข้าวนาปรัง โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ให้ผลผลิตเกิน 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้ขึ้นอยู่กับความชื้น หากความชื้นที่ 14.5 สามารถจำหน่ายได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 8,000 บาทต่อไร่ เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อไร่

ดังนั้นเกษตรกรมีกำไรจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนามากกว่าการทำนาปรังอย่างน้อยประมาณ 3,000 บาทต่อไร่ ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสานงานจุดรับซื้อผลผลิตใกล้กับแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรในโครงการดังกล่าวรวม 294 แห่ง แยกเป็นของสหกรณ์การเกษตร 262 แห่ง และจุดรับซื้อของภาคเอกชน 32 แห่งทำให้เกษตรกรมีแหล่งขายผลผลิตที่แน่นอนช่วยลดต้นทุนค่าเดินทางให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

บทความชิ้นที่ 3_190611_0004

“ที่จริงเป้าหมายการปลูกข้าวโพดหลังนาหรือพืชใช้น้ำน้อยหลังนามีมากกว่า 2,000,000 ไร่ แต่ในการปรับเปลี่ยนจะไม่สามารถทำได้รวดเร็วแบบทันทีทันใด ก็ขอฝากไปถึงพี่น้องเกษตรกรช่วยกันพิจารณาว่าในการที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก ชนิดพืชที่จะปลูก ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งในเรื่องของภูมิอากาศที่พบว่าจะแล้งมากขึ้นในทุกปีซึ่งหมายถึงปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการใช้ภาคการเกษตรจะน้อยลงนั้น  การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะพืชใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง  นอกจากจะถูกหลักวิชาการแล้วยังไม่เป็นการสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืชแล้วยังช่วยปรับสมดุลระหว่างการผลิตกับการตลาดอีกด้วย  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องราคาในผลผลิตที่อาจจะตกต่ำเหมือนอย่างที่ผ่านมา” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated