เกษตรกรบ้านบางท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมตัวกันปลูกผัก เป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง มีตลาดนำส่งผักใน 14 จังหวัดภาคใต้ และที่เทสโก้ โลตัส ภายใต้การบริหารจัดการร่วมกันในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ วางแผนปลูกอย่างเป็นระบบ สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 15,000 บาทต่อรายต่อเดือน พิสูจน์ความสำเร็จแนวทางการทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่ใช้การตลาดนำการผลิต
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่มาตั้งแต่ปี 2559 ครอบคลุมทุกกลุ่มประเภทสินค้า สำหรับชุมชนบางท่าข้าม หมู่ที่ 3 ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนเกษตรกรผู้มีอาชีพการปลูกพืชผัก ซึ่งเกษตรกรได้จัดตั้งเป็นแปลงใหญ่พืชผัก ในปี 2560 มีสมาชิกจำนวน 62 ราย พื้นที่ปลูก 360 ไร่ ในขณะนั้น เกษตรกรได้ขายผลผลิตยังตลาดทั่วไป และมีพ่อค้ามารับซื้อผลผลิต ต่อมาในปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการประสานเชื่อมโยงการตลาดพืชผักแปลงใหญ่กับบริษัท เทสโก้ โลตัส และได้ตกลงซื้อขายผลผลิตพืชผักจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง กวางตุ้งไต้หวัน ผักบุ้ง และมะระจีน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากการส่งพืชผักขายให้บริษัท เทสโก้ โลตัส เฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาทต่อราย สำหรับในปี 2562 เกษตรกรได้เพิ่มชนิดพืชผักที่ส่งให้บริษัท เทสโก้ โลตัส จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ผักกาดหอม ผักชีไทย บวบเหลี่ยม และ พริกขี้หนู (ยอดสน) (รวมเป็น 9 ชนิดพืชผัก)
สำหรับจุดเด่นของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผักบางท่าข้ามคือ การลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรมีการรวมกันซื้อปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ผัก ปุ๋ยหรือวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน ถุงบรรจุที่ใช้ขนส่งไปโรงคัดแยก และอื่น ๆ ที่ทางกลุ่มต้องใช้ในกระบวนการผลิต ตามแผนการผลิตที่วางไว้ได้ในราคาถูก และยังสามารถชำระเงินภายหลังจากขายผลผลิตได้ด้วยนอกจากนี้ เกษตรกรยังใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน มีการตรวจสอบวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ใส่ปุ๋ยได้ตามปริมาณที่พืชต้องการ และมีการใช้ปุ๋ยหมักในการปรับโครงสร้างดินช่วยให้การดูดซึมธาตุอาหารหลักหรือปุ๋ยที่ใส่ลงไปได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลดต้นทุนในเรื่องของปุ๋ยไปได้มากขึ้น ในส่วนของการเพิ่มผลผลิต เกษตรกรมีความรู้ความชำนาญในการผลิตผักมาหลายชั่วอายุ จึงมีเทคนิควิธีในการผลิตให้ผลผลิตมีปริมาณมากและถ่ายทอดให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มนำไปปรับใช้ นอกจากนั้นเกษตรกรมีความเชี่ยวชาญในการเลือกพื้นที่ ว่าพื้นที่แบบใดเหมาะที่จะปลูกผักชนิดใด และเลือกชนิดผักที่เหมาะสมกับความถนัดของสมาชิก ทำให้ผลผลิตดีตามไปด้วย อีกทั้ง เกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตด้วยการผลิตผักให้ได้มาตรฐาน GAP ซึ่งตลาดมีความต้องการ และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค นอกจากนั้น ยังผลิตผักตามเทศกาลต่างๆ ทำให้ได้ราคาสูง
ในด้านการตลาด เกษตรกรบริหารจัดการกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนและทำ MOU ซื้อขายผลผลิตกับ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือบริษัท เทสโก้โลตัส โดยทำสัญญาครั้งละ 3 เดือน เพื่อกำหนดราคา ปริมาณ และชนิดพืชผัก แล้วต่อสัญญาเป็นรอบๆ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะมีโครงสร้างการบริหารชัดเจน มีการประชุมวางแผนปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหากันทุกวันอังคาร หรือหากสำคัญเร่งด่วนก็เรียกประชุมทันที เนื่องจากพืชผักเป็นพืชอายุสั้นต้องดำเนินการโดยความรวดเร็ว ทุกเรื่องทุกปัญหามีการประชุมและต้องมีมติที่ประชุมรับรอง แผนการผลิตและการตลาดต้องเป็นที่ยอมรับของสมาชิกทุกคน หากไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัยจะหาข้อสรุปออกมาให้ได้เพื่อให้งานดำเนินไปได้โดยไม่สะดุด และเป็นข้อดีที่ทาง บริษัท เทสโก้โลตัสได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้จัดการแปลงของบริษัทเข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งจะช่วยวางแผน และประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงในทุกขั้นตอนการผลิต ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรทุกรายมีส่วนร่วมในการดำเนินการตั้งแต่การตกลงราคาที่เกษตรกรยอมรับ ชนิดและปริมาณที่จะสามารถผลิตให้ได้ตามที่บริษัทต้องการ รวมถึงร่วมวางแผนการผลิต และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ได้แนวทาง วิธีการให้กลุ่มได้พัฒนามากยิ่งขึ้น ในขณะที่ บริษัทเทสโก้ โลตัส ก็เข้ามามีส่วนร่วมในการรับซื้อผลผลิต มีการตกลงราคาในราคาที่เป็นธรรมและให้ความรู้แก่เกษตรกรด้านการวางแผน ประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงในขั้นตอนการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับการตลาด