เรื่อง : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร
การดูแลรักษาต้นไม้ผลให้ผ่านพ้นช่วงแล้ง ในสถานการณ์เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ภัยแล้งกำลังมาถึงชาวสวนผลไม้มีความจำเป็นต้องมีการจัดการสวนของตนเองให้ต้นไม้อยู่รอดผ่านพ้นช่วงวิกฤตภัยแล้งนี้ไปให้ได้ เพราะต้นไม้ผลใช้เวลานานหลายปีกว่ามันจะออกดอก ติดผล เพราะฉะนั้นเราจึงมีการจัดการสวนไม้ผลในยามขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปจะร้อนและแห้งแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อไม้ผล ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพผลผลิต ทำให้ผลไม้มีขนาดเล็กและคุณภาพต่ำ จึงต้องมีการดูแลให้ไม้ผลได้รับน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- การให้น้ำ โดยคำนึงถึงการให้น้ำแบบประหยัดที่สุด
1.1 ให้น้ำต้นไม้ผล ภายในบริเวณรัศมีทรงพุ่มเท่านั้น อย่าให้น้ำมากจนไหลแฉะไปทั่วสวน
1.2 ให้น้ำ แบบระบบน้ำหยดหรือหัวเหวี่ยงขนาดเล็กจะช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าการใช้สายยางรดน้ำ
1.3 ให้น้ำครั้งน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อลดการสูญเสียน้ำเปลี่ยนช่วงเวลาการให้น้ำเป็นช่วงกลางคืน เพื่อช่วยให้พืชลดการระเหยน้ำจากการถูกแดดเผา
- การใช้วัสดุคลุมดิน
2.1 โดยคลุมจากโคนต้นไม้ผลจนถึงแนวรัศมีทรงพุ่ม วัสดุที่ใช้ ได้แก่ ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นจากต้นไม้ผลเอง ใบตองแห้ง ทางมะพร้าว กาบมะพร้าว หญ้าแห้ง เป็นต้น ซึ่งวัสดุคลุมดินจะช่วยชะลออัตราการระเหยของน้ำจากผิวดินให้ช้าลง และวัสดุเหล่านี้จะค่อยๆ ผุผังเป็นอินทรียวัตถุ ทำให้ดินร่วนและมีการอุ้มน้ำดีขึ้น
2.2 กรณีต้นไม้เล็กควรใช้วัสดุช่วย ในการพรางแสง เพื่อลดความเข้มแสง
- การตัดแต่งกิ่ง
3.1 ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดูแล้ง หลังการเก็บผลแล้ว ควรท่าการตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อลดการระเหยน้ำทางใบ และช่วยให้การออกดอกติดผลในฤดูต่อไป เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
3.2 ไม้ผลบางชนิด เช่น ทุเรียน หากประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงการติดผล อาจทำให้ต้นโทรมและถึงตายได้ หรือมังคุดที่ติดผลแล้ว หากขาดแคลนน้ำ ผลจะมีขนาดเล็ก ก้นผลจีบ คุณภาพไม่ดี จะต้องรีบทำการตัดทิ้งให้หมด และหาน้ำจากแหล่งอื่นมารดอย่างประหยัดที่สุด
- การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดตั้งแต่ต้นฤดูแล้ง และใช้เศษวัสดุที่แห้งแล้วมาคลุมโคนต้นไม้ผล แต่ในระยะที่ขาดแคลนน้ำมากๆ ไม่ควรทำการกำจัดวัชพืชหรือไถพรวนดิน เพราะจะทำให้ผิวดินแห้งเร็วมากขึ้นอีก
- การจัดหาแหล่งน้ำ
5.1 ปรับปรุงบ่อน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ และสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาเก็บกักไว้
5.2 สวนผลไม้ที่อยู่ใกล้ทะเล จำเป็นต้องกักน้ำจืดไว้ เพื่อป้องกันน้ำเค็มที่จะเข้ามาในสวน ตรวจสอบระบบส่งน้ำ ควบคุมอย่าให้น้ำรั่วไหล หากมีผักตบชวา จอก แหน หรือสาหร่าย อยู่ในท้องร่องสวนเป็นจำนวนมาก ควรนำขึ้นมาคลุมบริเวณโคนต้นไม้ผลเพื่อรักษาความชื้นได้
- ไม่ควรใสปุ๋ยในช่วงแล้งหากน้ำไม่เพียงพอ เพราะจะเป็นการไปกระตุ้นการเจริญเติบโต ให้แตกใบอ่อนในช่วงแล้งน้ำน้อย จะทำให้พืชมีน้ำไม่พอใช้มากขึ้น ส่งผลทำให้ต้นเหี่ยวเฉาและตายได้
- การทำแนวกันไฟรอบสวน เพื่อป้องกันไฟไหม้สวน เนื่องจากฤดูแล้งอากาศร้อนจัดและมีใบไม้แห้งมากโอกาสเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี