นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีนักส่งเสริมการเกษตรครอบคลุมในทุกตำบล ทำหน้าที่ให้ความรู้ คำแนะนำ เป็นพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกร พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรในด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง ทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสามารถผลักดันเกษตรกรในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงให้เกิดความเข้มแข็งไปด้วยกัน หนึ่งในเกษตรกรรายนั้นคือ นายอาทิตย์ มติธรรม ชาวอำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกษตรกรที่ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นเกษตรกรต้นแบบการทำสวนสละครบวงจร เน้นการแปรรูปผลผลิตสร้างมูลค่าเพิ่ม ผู้ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ประจำปี 2562 ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลปราชญ์เกษตรดีเด่น ในงานพระราช พิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ.2562 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา
นายอาทิตย์ มติธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการประกอบอาชีพจนประสบความสำเร็จ จากเดิมเคยเป็นข้าราชการครู ใช้เวลาว่างหลังเลิกงานทำสวนทุเรียน เป็นระยะเวลา 25 ปี ก่อนจะลาออกมาทำอาชีพเกษตรกรอย่างเต็มตัว ในปี 2538 ช่วงนั้นเกิดวิกฤตราคาทุเรียนตกต่ำ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้นำเกษตรกรในท้องถิ่นรวมทั้งนายอาทิตย์ไปศึกษาดูงานสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี โดยนายอาทิตย์สนใจปลูกสละจึงซื้อต้นพันธุ์สละมาปลูกที่บ้านเกิด จำนวน 36 ต้น ถือเป็นรายแรกที่นำสละมาปลูกในเชิงการค้าในภาคใต้จนได้ OTOP ของตำบลคลองปราบ เป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด
ระยะแรก นายอาทิตย์ เล่าให้ฟังว่าทดลองปลูกสละแซมในสวนทุเรียนก่อน เมื่อต้นสละให้ผลผลิตที่ดี จึงค่อยๆ ขยายพื้นที่ปลูกสละเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 152 ไร่ มีสละประมาณ 8,000 กอ ให้ผลผลิตมากกว่าปีละ 300 ตัน และผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ผลสละคุณภาพดี ช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดในอนาคต เพราะทุกวันนี้ ผู้บริโภคสนใจเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหารเพิ่มมากขึ้น
นายอาทิตย์สนใจศึกษาหาความรู้ พัฒนาการปลูกสละจนเกิดความเชี่ยวชาญในการปลูกสละ กลายเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้การทำสวนสละครบวงจร ผลผลิตสละสดของสวนสละอาทิตย์ ได้รับรางวัลสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว และพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำสละ สละลอยแก้ว ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. และฮาลาล สร้างตราสินค้า (Brand) เป็นของตนเอง รวมทั้งจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปสละอาทิตย์ เปิดสวนสละอาทิตย์เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงเกษตร ในปี 2550 เส้นทางความสำเร็จของ สวนสละอาทิตย์ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในเขตภาคใต้ที่ประสบปัญหายางพาราและปาล์มน้ำมันตกต่ำ สนใจที่จะปลูกสละในพื้นที่ของตนเอง เพื่อสร้างอาชีพรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน