"บุญลือ เต้าแก้ว” เกษตรกรดีเด่นผู้น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินชีวิต ใช้บัญชีสร้างสุขให้ชุมชน

บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ในบริเวณหมู่ 7 ตำบลหนองโน อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ได้ถูกเนรมิตให้กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการเกษตรอย่างครบวงจรให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ และยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่บริหารงานด้วยแนวทางของความพอเพียง และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้อยู่ดีมีสุขได้ ภายใต้การนำของ บุญลือ เต้าแก้ว เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี 2562 เจ้าของศูนย์ฯ ซึ่งเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตให้แก่คนในชุมชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางปฏิบัติตาม ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และเป็นเกษตรกรที่ยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง

"บุญลือ เต้าแก้ว” เกษตรกรดีเด่นผู้น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินชีวิต ใช้บัญชีสร้างสุขให้ชุมชน
“บุญลือ เต้าแก้ว”

ลุงบุญลือ ในวัย 70 ปี เล่าว่า เมื่อปี 2535 ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ณ วัดมงคลชัยพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี จึงได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่นาของตนเอง บนพื้นที่ 20 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วนให้เป็นที่อยู่อาศัย อาคารศูนย์เรียนรู้ และพื้นที่ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน อาทิ มีการทำนา สวนผลไม้ พืชผักสวนครัว ประมง การทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ การเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และเพาะเห็ด เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนและแบ่งปันในชุมชน ซึ่งในทุกกิจกรรมที่ทำ ลุงบุญลือได้จดบันทึกลงในสมุดบัญชีต้นทุนในการประกอบอาชีพแยกแต่ละประเภทอย่างสม่ำเสมอ ทำให้รู้ต้นทุนและกำไรจากการประกอบอาชีพตามกิจกรรมต่างๆ

จุดเริ่มต้นในการจดบันทึกบัญชีเริ่มตั้งแต่ปี 2521 แต่เป็นการจดบันทึกบัญชีแบบไม่เป็นระบบ ทำให้ไม่รู้ต้นทุนประกอบอาชีพในแต่ละกิจกรรมที่ดำเนินการ ต่อมาในปี 2539 ได้รับการอบรมจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สระบุรี เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ ทำให้รู้รายรับ รายจ่าย รู้ต้นทุนอาชีพ จากข้อมูลการบันทึกบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ และสามารถนำไปวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบว่ามีรายได้ใดที่เพิ่มขึ้นและรายจ่ายใดที่ควรลดลง หลังจากนั้นจึงพยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น คิดค้นจุลินทรีย์บำรุงดิน บำรุงพืช ทำน้ำหมักชีวภาพใช้กำจัดศัตรูพืช ทำให้ลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชลงได้ ลดต้นทุนในการประกอบอาชีพและได้ผลผลิตที่มากขึ้น ซึ่งจุลินทรีย์ที่ค้นพบนอกจากจะทำไว้ใช้เองแล้ว ยังจำหน่ายแก่เพื่อนเกษตรกรที่สนใจ ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจากไร่นาสวนผสม และยังได้เผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้สนใจทุกคนด้วยความเต็มใจ ด้วยหวังให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้โดยการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

"บุญลือ เต้าแก้ว” เกษตรกรดีเด่นผู้น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินชีวิต ใช้บัญชีสร้างสุขให้ชุมชน
การทำบัญชี

เมื่อเห็นว่าการจัดทำบัญชีมีประโยชน์ จึงอยากให้คนในชุมชนตลอดจนเยาวชนได้ทำบัญชี โดยลุงบุญลือได้นำสมุดบัญชีไปสอนให้ครัวเรือนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านจัดทำ เพื่อให้ทุกครัวเรือนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของสมาชิกในชุมชนและสร้างเครือข่ายครูบัญชี เพื่อขยายการถ่ายทอดความรู้ในการทำบัญชีให้แพร่หลายยิ่งขึ้น จากที่ได้ทดลองและเห็นผลการทำเกษตรไร่นาสวนผสม ตามแนวทฤษฎีใหม่ จนประสบความสำเร็จ จึงตั้งปณิธานไว้ว่า อยากถ่ายทอดความรู้ที่ตนมีไปยังผู้ที่สนใจจะได้หลุดพ้นจากหนี้สิน สามารถลืมตาอ้าปาก พึ่งพาตนเองได้ จากความสำเร็จดังกล่าว บ้านของนายบุญลือ เต้าแก้ว จึงได้รับการจัดตั้ง ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้กับผู้ที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาดูงานตั้งแต่การเรียนรู้การแบ่งพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ การปลูกพืช การพัฒนาปรับปรุงดิน การผลิตปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ การเลี้ยงเป็ด ไก่ การเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชน นักเรียน ข้าราชการ ประชาชนทั่วไปและผู้ที่มีความสนใจได้เข้ามาศึกษาดูงาน ซึ่งผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์ฯ จะได้รับความรู้เรื่องการจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ ผ่านการเรียนรู้ที่แบ่งออกเป็น 3 ฐาน คือ ฐานที่ 1 ลดรายจ่าย เรียนรู้การนำของใช้ในบ้านมาทำให้เกิดประโยชน์ เช่น ปุ๋ยหมักแห้ง ปุ๋ยหมักน้ำ ทำจุลินทรีย์ใช้เอง ฐานที่ 2 เพิ่มรายได้ เรียนรู้การปลูกพืชผักสวนครัวไว้ใช้บริโภคในครัวเรือน และแบ่งปันในชุมชน ฐานที่ 3 เพิ่มความรู้ เรียนรู้การเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู และการจดบันทึกบัญชี รับ-จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ

"บุญลือ เต้าแก้ว” เกษตรกรดีเด่นผู้น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินชีวิต ใช้บัญชีสร้างสุขให้ชุมชน“เมื่อก่อนไม่รู้ตัวเอง ไม่รู้ว่าจ่ายอะไรไปบ้าง เคยจดบัญชีบ้าง ไม่จดบ้าง จนกระทั่งได้ไปอบรมเรียนรู้การทำบัญชี ได้รับหลักการมาว่า ทุกคน ทุกครัวเรือนต้องทำบัญชี จึงได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการทำบัญชีมาปรับใช้ ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก เริ่มจากจดในกระดาษเหลือใช้ จนมาจดในสมุด ทำให้รู้รายได้ รู้รายจ่าย รู้ว่าอะไรที่จำเป็น ไม่จำเป็น หลังจากที่ทำกับตัวเองจนเห็นผลสำเร็จ เลยมาเป็นแบบอย่างให้คนในครอบครัวได้ ทำตาม ต่อยอดไปถึงคนในชุมชน โดยมาเป็นครูบัญชีอาสา แจกจ่ายความรู้ให้กับชุมชน บางคนที่สอนยาก เพราะไม่รู้หนังสือ หรือขี้เกียจจด เราก็ต้องเข้าหาทางลูกหลาน โดยสอนให้เด็กๆ นำเงินเก็บออมใส่กระปุกออมสินและจดบัญชี ไว้ สอนให้เขารู้ แล้วเขาก็จะนำไปสอนให้พ่อแม่รู้ สอนว่าทำอย่างไรให้พ่อแม่มีเงินเหลือเก็บออม ซึ่งก็นับเป็นความภาคภูมิใจที่ครอบครัว ชุมชน สนใจมาลงมือทำกับเรา การทำบัญชีและการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิต จึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคนไหนได้ทำแล้วจะรู้เลยว่าพึ่งตนเองได้ และชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องพึ่งใครเลย ทำพืชผักมีกินในครัวเรือนหมด ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องพึ่งสารเคมี ลดต้นทุนได้ทั้งหมด” ลุงบุญลือ กล่าว

ปัจจุบันบุญลือ เต้าแก้ว ยังทำหน้าที่ครูบัญชีอาสา สอนแนะการจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพให้แก่เกษตรกรและนักเรียนในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ประจำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงประจำตำบลหนองโน จังหวัดสระบุรี เพื่อหวังเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตามแนวทางของความพอเพียง

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated