กรมปศุสัตว์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดลพบุรี-นครราชสีมา ดูผลการดำเนินงานขับเคลื่อนมาตรฐาน อาหารคน อาหารสัตว์ และมาตรฐานฟาร์ม ตามนโยบาย Food Feed Farm
นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในระหว่างที่นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ว่า ด้วยปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกให้ความใส่ใจในสุขภาพและความปลอดภัยด้านอาหารมากยิ่งขึ้น กรมปศุสัตว์ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายควบคุมการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปศุสัตว์ให้ผลิตออกมามีมาตรฐานถูกสุขอนามัย ปราศจากโรค สารตกค้าง และสารปนเปื้อน จำเป็นที่จะต้องกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนก็เพื่อให้กระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่ก่อนที่จะได้เป็นวัตถุดิบจนนำมาสู่การแปรรูปไปเป็นอาหารอย่างถูกสุขอนามัยปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมฯ ได้มีการดำเนินการ (Food hazard) การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร (Food safety) จะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภคภายในประเทศ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรและอาหารกับนานาประเทศ โดยมาตรฐานในการผลิตสินค้าปศุสัตว์จะต้องครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่มาตรฐานอาหารสัตว์ มาตรฐานฟาร์ม และมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์
โดยกรมปศุสัตว์มีนโยบายในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ให้สอดคล้องต่อระเบียบและข้อกำหนดของประเทศไทยและต่างประเทศ พร้อมติดตามข้อกำหนดที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เท่าทันและทัดเทียมตลาดโลก ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ไปจนถึงแหล่งผลิตสินค้า เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยในด้านมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์ กรมปศุสัตว์มีการดำเนินการจัดตั้งโครงการเนื้อสัตว์อนามัย โครงการเนื้อสัตว์ปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค (ปศุสัตว์ OK) เพื่อการพัฒนามาตรฐานสินค้าปศุสัตว์เกิดประโยชน์ต่อผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้บริโภคภายในประเทศ
สำหรับการนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานในครั้งนี้ก็เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานดังกล่าวตามนโยบายของกรมฯ โดย สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก สวนมะเดื่อ จำกัด จ.ลพบุรี นับเป็นสหกรณ์ต้นแบบในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการอาหารสัตว์ (Feed Center) เพื่อผลิตอาหารผสมครบส่วนสำหรับโคนม (TMR) เพื่อการเลี้ยงโคนมของสมาชิกสหกรณ์ฯ รวมถึงระบบการผลิตโคทดแทนซึ่งดำเนินการโดยสหกรณ์ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งจากกรมปศุสัตว์และจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนผลการดำเนินงานของสหกรณ์โคนมด่านขุนทด ซึ่งเป็นสหกรณ์โคนมขนาดเล็กแต่มีคุณภาพ มีสมาชิกเป็นผู้เลี้ยงโคนมเพียง 43 ราย แต่สมาชิกทั้งหมดได้รับการรับรองฟาร์มมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นตัวรับประกันได้ว่าน้ำนมที่ผลิตมาจากสหกรณ์แห่งนี้เป็นน้ำนมที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นกระบวนการผลิตไปจะถึงมือผู้บริโภค
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวย้ำว่า “อย่างไรก็ดีกรมฯ มุ่งหวังว่าการลงพื้นที่ดูงานในครั้งนี้ทั้งสองสหกรณ์ล้วนมีการดำเนินงานที่เกิดผลสำเร็จตามนโยบายของกรมฯ ที่สามารถเป็นโมเดลสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยงโคนมให้แก่สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมอื่นๆ ในประเทศต่อไปได้เป็นอย่างดี”